วันนี้ (26 ก.ย. 57) เวลา 09.25 น. ณ ห้องแกรนด์ไดมอนด์บอลรูม ชั้น 2 อาคารอิมแพ็คฟอรั่ม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดการประชุมประจำปี 2557 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เรื่อง “การพัฒนาคนเพื่ออนาคตประเทศไทย” พร้อมทั้งแสดงปาฐกถาพิเศษ โดยมีคณะรัฐมนตรี สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน นักวิชาการ ผู้นำชุมชน ผู้แทนภาครัฐ ภาคสื่อมวลชน ภาคประชาสังคม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกว่า 2,500 คน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวรายงานว่า การประชุมประจำปี 2557 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นการร่วมกันระดมความคิดเห็นในเรื่องการพัฒนาคนเพื่ออนาคตของประเทศที่พึงปรารถนาของคนไทยทุกคน สำหรับผลการประชุมในวันนี้จะนำไปใช้ขับเคลื่อนแผนพัฒนา ฯ ฉบับที่ 11 ให้บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ และนำไปใช้ในการกำหนดกรอบทิศทางและยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนา ฯ ฉบับที่ 12 ซึ่งกำหนดประกาศใช้ในปี 2560 เพื่อให้แผนพัฒนาประเทศเป็นแผนที่มาจากความเห็นชอบร่วมกันของประชาชน สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง โดย สศช.ได้เรียนเชิญคณะรัฐมนตรี นักการเมือง องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคเอกชน นักวิชาการ ผู้นำชุมชน ผู้แทนภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สื่อมวลชน และประชาชนจำนวน 2,500 คนเข้าร่วมประชุมในภาคเช้า ส่วนในช่วงบ่ายจะเป็นการประชุมกลุ่มย่อย โดยแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ 1.การพัฒนาคนทุกช่วงวัยสู่สังคมไทยที่มีคุณภาพ 2.กำลังคน...หัวใจของความสามารถในการแข่งขันของไทย 3.การพัฒนาคนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 4.การพัฒนาสภาพแวดล้อมเมืองเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต 5.ความเหลื่อมล้ำของประเทศ : การศึกษาและตลาดแรงงานตอบโจทย์อย่างไร และ 6.การวัดความสุขของคนไทย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดการประชุมประจำปี 2557 เรื่อง “การพัฒนาคน เพื่ออนาคตประเทศไทย” พร้อมกล่าวแสดงปาฐกถาพิเศษโดยสรุปว่า การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนของคนต้องมองคนระดับล่างเป็นอันดับแรก แล้วค่อยมองขึ้นไปข้างบน เช่นเดียวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งแต่ฉบับที่ 8 มาถึงฉบับที่ 11 ในปัจจุบัน ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศโดยเน้นคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา โดยหวังให้ทุกคนช่วยกันผลักดันแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 ออกมาเป็นรูปธรรม นำมาดำเนินการได้จริง ทั้งนี้ การจัดทำแผน ฯ ขอกำหนดแผนการใช้ให้ชัดเจน กำหนดระยะเวลาการใช้ และงบประมาณให้ชัดเจนสอดคล้องกับเศรษฐกิจ และการคลังของประเทศ อย่าไปยึดติดกับการพัฒนาแบบไร้ขอบเขต แบบไม่มีที่สิ้นสุด และขอให้น้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเรื่องของการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” อย่างพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันที่ดี ภายใต้เงื่อนไขความรู้คู่คุณธรรม มีการพัฒนาแบบองค์รวม โดยให้ยึดความต้องการของประชาชนเป็นหลัก เป็นแนวทางการทำงาน พร้อมกับให้ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักในการปฏิบัติ ในระดับภาพรวมของประเทศจะต้องรักษาระดับหนี้สาธารณะของประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่ก่อหนี้เกินความจำเป็น ไม่ให้เกินร้อยละ 60 ของจีดีพี
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า แนวทางขับเคลื่อนประเทศไทยของรัฐบาลแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ 1.สร้างความปรองดองและเร่งคืนความสุขให้ประชาชน 2.จัดตั้งรัฐบาลและสภาปฏิรูปแห่งชาติ และ 3.จัดการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย สำหรับนโยบายและเจตนารมณ์ของรัฐบาลต่อแผนพัฒนา ฯ ฉบับที่ 11 รัฐบาลได้ให้ความสำคัญ 9 เรื่อง ดังนี้ 1.การสร้างความเป็นธรรมในสังคม 2.การพัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน 3.การสร้างความเข้มแข็งภาคการเกษตร ความมั่นคงของอาหารและพลังงาน 4.การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน 5.การสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ 6.การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 7.การปรับปรุง เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง 8.การปรับปรุงระบบโทรคมนาคม เทคโนโลยีของชาติให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนในอนาคต และ 9.การป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างยั่งยืน
ในส่วนของนโยบายรัฐบาลด้านการพัฒนาสอดคล้องกับแผนพัฒนา ฯ ฉบับที่ 11 รัฐบาลต้องการพัฒนาคนโดยกำหนดให้มีการพัฒนาในทุกช่วงวัยตั้งแต่แรกเกิดจนถึงช่วงบั้นปลายของชีวิต ให้เด็กทุกคนเติบโตอย่างมีคุณภาพ มีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย และได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง ให้คนเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต มีการบูรณาการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ปรับปรุงหลักสูตร ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายแต่ต้องช่วยกันแก้ไขปัญหา ทำให้คนพัฒนาตนเอง ช่วยเหลือตนเองได้ เมื่อเรียนจบแล้วมีงานทำ สร้างรายได้ที่มั่นคง ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ทั้งนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดสำหรับเด็กนักเรียนในปัจจุบันคือปัญหาเด็กไม่รู้จักเขียนหนังสือ ถนัดการใช้เทคโนโลยีในพิมพ์หนังสือมากกว่า เพราะฉะนั้น ต้องส่งเสริมให้เด็กคัดลายมือ เพื่อจะได้มีพื้นฐานการเขียนหนังสือ
สำหรับด้านแรงงานต้องมีการบริหารจัดการแรงงานเพื่อรองรับประชาคมอาเซียนอย่างเป็นระบบ ส่งเสริมและหามาตรการดึงดูดแรงงานฝีมือ และรักษาแรงงานเหล่านี้ไม่ให้เคลื่อนย้ายสู่ประเทศและภูมิภาคอื่น รวมทั้งเร่งผลิตแรงงานไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดแรงงานได้อย่างน้อยร้อยละ 15 ภายในปี 2565 ในด้านนโยบายผู้สูงอายุ ปัจจุบันประเทศไทยมีสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น จึงประสบปัญหา “จน แก่ โดดเดี่ยว” หรือ “แก่ก่อนรวย” ดังนั้น จึงต้องมาช่วยกันสร้างสภาพแวดล้อมให้สังคมไทยเป็นสังคมที่เอื้ออาทรต่อกันและกัน ไม่ทอดทิ้งคนสูงอายุให้อยู่โดดเดี่ยว
โดยในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้กล่าวสนับสนุนการบริหารจัดการแบบเน้นคนเป็นศูนย์กลาง ให้คนมีส่วนร่วม อยู่ด้วยกันในสังคมอย่างมีความสุข อะไรที่เป็นความดี อะไรที่เป็นคุณธรรม จริยธรรม ขอให้ช่วยกันทำเผื่อแผ่แบ่งปัน มีความปรารถนาดีให้ผู้อื่น พร้อมกล่าวย้ำว่า การให้อภัยคนมีความสำคัญ รัฐบาลให้ความสำคัญ ถ้าเราให้เกียรติซึ่งกันและกัน หาช่องทางที่ถูกต้องเข้าหากัน ประเทศจะเดินหน้าต่อไปได้ และขอให้เริ่มดำเนินการขับเคลื่อนแผนพัฒนา ฯ ฉบับที่ 11 ให้ลุล่วง ทำประเทศชาติไทยให้มีอนาคตต่อไป
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
นราวุธ รายงาน
ที่มา: http://www.thaigov.go.th