เห็นชอบ (ร่าง) กรอบแผนการศึกษาแห่งชาติเพื่อพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต (พ.ศ.2557-2561)
รมว.ศธ.กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบ (ร่าง) กรอบแผนการศึกษาแห่งชาติเพื่อพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต (พ.ศ.2557-2561) เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาการศึกษาของคนในทุกช่วงอายุ และมีเป้าหมายเพื่อให้คนไทยทุกคน ทุกช่วงอายุ ได้รับการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ คุณลักษณะ และทักษะที่จำเป็นอย่างรอบด้าน ให้ทันกับโลกศตวรรษที่ 21 ซึ่งครอบคลุม 5 ช่วงอายุ ได้แก่
1. ช่วงแรกเกิด - ปฐมวัย (0-5 ปี) มีประเด็นปัญหาหลัก คือ เด็กแรกเกิด-ปฐมวัย มีภาวะทุพโภชนาการ ส่งผลให้มีพัฒนาการไม่สมวัย การเรียนรู้ช้า ไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสมตามวัย อีกทั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กไม่ได้มาตรฐานและทั่วถึง ครู/ผู้ดูแลเด็กขาดความรู้และทักษะ โดยเป้าประสงค์สำหรับการพัฒนาเด็กในวัยนี้ คือ เพื่อให้เด็กทุกคนมีพัฒนาการรอบด้านตามวัยอย่างมีคุณภาพและต่อเนื่อง พร้อมที่จะพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ
2. ช่วงวัยนักเรียน (5-14 ปี) มีประเด็นปัญหาหลัก คือ เด็กนักเรียนมีการเรียนรู้และพัฒนาการค่อนข้างช้า มีผลสัมฤทธิ์ต่ำ ขาดคุณภาพ ขาดทักษะการดำรงชีวิต คุณภาพการศึกษาโดยรวมอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ มีพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสม ขาดการแนะแนวการศึกษาต่อในสายสามัญและสายอาชีพที่เหมาะสม เป้าประสงค์สำหรับการพัฒนาผู้เรียนในวัยนี้ คือ เด็กทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ สอดรับกับทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 มีทักษะชีวิต มีพฤติกรรมการบริโภคที่ถูกต้องเหมาะสม มีภูมิคุ้มกัน และมีคุณธรรมจริยธรรม
3. ช่วงวัยรุ่น/นักศึกษา (15-21 ปี) มีประเด็นปัญหาหลัก คือ ผู้เรียนขาดทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต ทักษะการทำงาน รวมถึงทักษะในการคัดกรองและการเลือกใช้สื่ออย่างเหมาะสม การเลือกเรียนในสาขาที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และผู้สำเร็จการศึกษามีสมรรถนะไม่ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ เป้าประสงค์สำหรับการพัฒนาผู้เรียนในวัยนี้ คือ ผู้เรียนได้รับการพัฒนาอย่างมีคุณภาพทั้งความรู้ ทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต ทักษะการทำงาน ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน รวมทั้งมีคุณธรรม จริยธรรม มีจิตสาธารณะ และสามารถปรับตัวอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้
4. ช่วงวัยแรงงาน (15-59 ปี) มีประเด็นปัญหาหลัก คือ แรงงานเกือบร้อยละ 60 มีการศึกษาต่ำ และมีแนวโน้มสูงขึ้นที่จะเป็นสังคมผู้สูงอายุในอนาคต แรงงานส่วนใหญ่ขาดทักษะที่จำเป็นในการปฏิบัติงาน ขาดโอกาสในการพัฒนาทักษะและความรู้ใหม่อย่างต่อเนื่อง การขาดแคลนแรงงานที่มีศักยภาพในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ เป้าประสงค์สำหรับการพัฒนาผู้เรียนในวัยนี้ คือ เพื่อให้แรงงานมีความรู้ ความสามารถ และสมรรถนะตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต
5. ช่วงผู้สูงวัย (60 ปีขึ้นไป) มีประเด็นปัญหาหลัก คือ ผู้สูงวัยขาดการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ในการพัฒนาทักษะความรู้เพื่อการทำงานหลังเกษียณ และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาตนเอง เป้าประสงค์สำหรับการพัฒนาผู้เรียนในวัยนี้ คือ ผู้สูงวัยได้รับการพัฒนาทักษะความรู้ ความสามารถ เพื่อการทำงานอย่างต่อเนื่อง อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี สามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมทั้งมีบทบาทในการถ่ายทอดองค์ความรู้ และสืบสานภูมิปัญญาเพื่อการพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศ
นอกจากนี้ ที่ประชุมให้ความสนใจและได้ให้ข้อเสนอแนะ/ข้อคิดเห็นไว้หลายประการ เช่น การพัฒนาเด็กควรจะเริ่มตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ฯลฯ ซึ่งฝ่ายเลขานุการจะได้นำไปปรับแก้ไขต่อไป และเมื่อแผนได้รับการปรับปรุงแก้ไขจนเสร็จสมบูรณ์ มีเป้าประสงค์ และตัวชี้วัดที่ชัดเจน ตลอดจนตอบสนองต่อแนวทางการศึกษาชาติแล้ว จะเสนอเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี รวมทั้งเสนอต่อสภาการปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านการศึกษา เพื่อนำไปศึกษาต่อยอด หรือเสนอข้อคิดเห็นเพิ่มเติมที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาของคนไทยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันต่อไป
เห็นชอบ (ร่าง) แผนการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ สู่การปฏิบัติ
รมว.ศธ.กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบ (ร่าง) แผนการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติ ซึ่งกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (National Qualifications Framework) เป็นกรอบแนวทางการเชื่อมโยงผลการเรียนรู้ของระดับคุณวุฒิการศึกษาตามเกณฑ์มาตรฐานการเรียนรู้ในแต่ละระดับ/ประเภทการศึกษาของผู้สำเร็จการศึกษา โดยจำแนกตามสาขาวิชา วิชาชีพ ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย และการศึกษาระบบทวิภาคี กับระดับสมรรถนะในการปฏิบัติงานที่ผ่านการทดสอบ วัดและประเมินผล และการเทียบโอนตามระดับคุณวุฒิแห่งชาติ
โดยได้กำหนด ยุทธศาสตร์ของแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงาน 4 ด้าน คือ
1) การพัฒนาความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการ สมาคม/องค์กรวิชาชีพ กลุ่มวิชาชีพและ/หรือกลุ่มอาชีพ กับสถาบันการศึกษาอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เป็นกรอบแนวทางในการผลิตและพัฒนากำลังคน ให้มีทักษะ ความรู้ความสามารถ คุณลักษณะที่พึงประสงค์ และสมรรถนะในการปฏิบัติงานตามระดับคุณวุฒิ
2) การพัฒนาหลักสูตร รูปแบบและวิธีการจัดการเรียนการสอนทั้งในสถาบันการศึกษาและสถานประกอบการ ให้สอดคล้องกับขอบเขตความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ
3) การพัฒนาระบบการทดสอบ วัดและประเมินผล การเทียบโอนผลการเรียน เทียบโอนประสบการณ์จากการทำงาน การสะสมหน่วยการเรียนและให้การรับรองผลการเรียนรู้ จำแนกตามระดับคุณวุฒิ
4) การเสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถให้แก่สถาบันการศึกษา เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนให้สนองตอบความต้องการของตลาดแรงงานตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ
เห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนกรอบและทิศทางการวิจัยทางการศึกษาเพื่อรองรับนโยบายการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ
ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนกรอบและทิศทางการวิจัยทางการศึกษาของประเทศ ปี 2555-2558 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือและแนวปฏิบัติสำหรับบุคคลและหน่วยงานทางการศึกษาได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาการศึกษาในทุกระดับและประเภทการศึกษา ซึ่งในปี 2557 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้มีแนวทางและกระบวนการขับเคลื่อน ดังนี้
- จัดลำดับความสำคัญของกรอบทิศทาง ประเด็น และหัวข้อวิจัยตามกรอบและทิศทางการวิจัยทางการศึกษาของประเทศ โดยวิเคราะห์ความสอดคล้องกับกรอบวิจัยทางการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
- ระบุกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นบุคคลและหน่วยงานที่มีบทบาท ภารกิจ และความรับผิดชอบด้านการวิจัยทางการศึกษา ตลอดจนผู้ผลิตและผู้ใช้ผลงานวิจัยในทุกระดับและประเภทการศึกษา รวมถึงเครือข่ายวิจัยทางการศึกษาและที่เกี่ยวข้อง
- สำรวจหัวข้อวิจัยทางการศึกษาที่ดำเนินการระหว่างปี 2555-2558 ของหน่วยงานกลุ่มเป้าหมาย ทั้งภาครัฐและเอกชนใน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ และสรุปผลนำเสนอเป็นภาพรวมงานวิจัยทางการศึกษาของหน่วยงานที่สอดคล้องกับกรอบและทิศทางการวิจัยทางการศึกษาของประเทศ (พ.ศ. 2555-2558)
- จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ 4 ภูมิภาค และเชิญกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นบุคคลและหน่วยงานที่มีบทบาท ภารกิจ และความรับผิดชอบด้านการวิจัยทางการศึกษา เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจให้ตรงกัน และสร้างความร่วมมือในการใช้กรอบและทิศทางการวิจัย ประเด็นวิจัย ตลอดจนหัวข้อวิจัยทางการศึกษา พร้อมทั้งมีการนำเสนอและให้ความคิดเห็นหัวข้อวิจัย
- สรุปผลและจัดทำรายงานแนวทางการขับเคลื่อนกรอบและทิศทางการวิจัยฯ และนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านนโยบายและแผนการศึกษา เพื่อให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ พร้อมปรับแก้ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการสภาการศึกษา
ส่วนแนวทางการดำเนินงานในปี 2558 สกศ.จะได้ดำเนินการเสริมสร้างเครือข่ายการวิจัยทางการศึกษา (Node) จำนวน 12 กลุ่ม ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยใช้แนวทางการขับเคลื่อนกรอบและทิศทางการวิจัยทางการศึกษาของประเทศ สู่หน่วยงานทางการศึกษาในระดับพื้นที่ ใช้เป็นแนวคิดและแนวปฏิบัติในการดำเนินการวิจัยและพัฒนาการศึกษาในทุกระดับและประเภทการศึกษา โดยการจัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ การประชุมระดมความคิด การยกย่องแบบปฏิบัติที่ดี และกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้อื่นๆ ในระดับพื้นที่ต่อไป
กุณฑิกา พัชรชานนท์
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
Published 25/9/2557
ที่มา: http://www.thaigov.go.th