นพ.รัชตะ เตรียมเสนอแผน ร่วมพลังนานาชาติควบคุม “โรคอีโบลา 4 ประเทศ” เข้าครม.

ข่าวทั่วไป Monday September 29, 2014 16:15 —สำนักโฆษก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมและรับฟังผลการดำเนินงานของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมควบคุมโรค และกรมอนามัย เน้นให้กรมบูรณาการทำงานแก้ไขปัญหาสุขภาพประชาชนร่วมกับหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้องและในกระทรวงฯ เพื่อบรรลุกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน ลดความซ้ำซ้อนการใช้งบประมาณ เพิ่มความเข้มแข็งอสม.ทำงานในชุมชน โดยไทยเตรียมแผนร่วมพลังนานาชาติ ควบคุมการแพร่ระบาดโรคอีโบล่าใน 4 ประเทศแอฟริกาตะวันตก ทั้งเรื่องการระดมเงินบริจาค การส่งหน่วยแพทย์อาสา ไปดูแลในโรงพยาบาลสนาม โดยจะเสนอที่ประชุมครม.เพื่อพิจารณาในวันพรุ่งนี้

วันนี้ (29 กันยายน 2557) ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุพร้อมด้วยนายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมและรับฟังผลการดำเนินงานของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมควบคุมโรค และกรมอนามัย ว่า ในส่วนของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ มีนโยบายมุ่งเน้นให้ดูแลมาตรฐานบริการของโรงพยาบาลเอกชน คลินิกต่างๆ ที่มีรวมกัน 21,865 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งให้เพิ่มการกำกับควบคุม ดูแลมาตรฐานของระบบวิศวกรรมการแพทย์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบบริการสุขภาพ โดยเฉพาะเครื่องมือแพทย์ต่างๆ รวมทั้งระบบน้ำในโรงพยาบาล การอบฆ่าเชื้อ และสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาระบบบริการให้มีมาตรฐาน เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีที่สุด เชื่อมั่นในความปลอดภัย ขณะเดียวกันพัฒนาคุณภาพ และศักยภาพของอาสาสามสมัครสาธารณสุขที่มี 1 ล้าน 4 หมื่นกว่าคนทั่วประเทศ เพื่อร่วมทำงานแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชนในหมู่บ้าน ชุมชน ตำบล เป็นการเสริมความเข้มแข็งกลไกของรัฐศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ กล่าวต่อว่า สำหรับกรมควบคุมโรค บทบาทที่เน้นหนัก 3 ด้านคือ1.การควบคุมป้องกันโรคไมติดต่อ เช่นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด 2.การควบคุมป้องกันโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม เช่นสารเคมีตกค้างในเกษตรกร พิษสารตะกั่ว เป็นต้น และ 3.การควบคุมโรคติดต่อที่มีอยู่เดิม เช่น วัณโรค โรคมาลาเรีย เอดส์ ไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น ซึ่งต้องเสริมความเข้มแข็งระบบการป้องกันโรคด้วยวัคซีนต่างๆ ในกลุ่มเด็ก และการเฝ้าระวังโรค โดยเฉพาะโรคติดต่อที่อุบัติใหม่ ที่กำลังเป็นปัญหาขณะนี้ โรคติดเชื้ออีโบล่า ในประเทศแอฟริกาตะวันตก 4 ประเทศ ได้แก่ กินี ไนจีเรีย ไลบีเรีย และเซียร์ร่าลีโอน ซึ่งการระบาดมีผลทั้งต่อสุขภาพ สังคม การขาดแคลนอาหาร เศรษฐกิจและความมั่นคง โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 26 กันยายน 2557 ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสไปประชุมกับรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ 30 กว่าประเทศ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ผู้อำนวยการ ศูนย์ควบคุมโรคแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ทำเนียบขาว ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อร่วมปรึกษาหารือการควบคุมโรคอีโบล่า ซึ่งประธานาธิบดีประเทศสหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญมาก และต้องการพลังนานาชาติไปช่วยกันป้องกันการแพร่ระบาดของโรคให้ได้ เนื่องจากระบบการสาธารณสุขของ 4 ประเทศที่มีการระบาดของโรคขณะนี้เกิดปัญหา โรงพยาบาลมีไม่เพียงพอ ไม่สามารถดูแลผู้ป่วยอีโบลาได้เต็มที่ ทั้งนี้ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีแผนที่จะสร้างโรงพยาบาลภาคสนาม ประมาณ 700 เตียง ประเทศอังกฤษก็จะไปสร้างโรงพยาบาลเช่นกัน โดยมีหลายประเทศได้ส่งเวชภัณฑ์ เงินบริจาคเข้าไปช่วยเหลือสิ่งที่ต้องการมากขณะนี้คือ ต้องการกำลังคน ด้านแพทย์ พยาบาล นักระบาดวิทยา เข้าไปช่วยประจำในโรงพยาบาลสนามต่าง ๆ ซึ่งมีหลายประเทศได้ส่งเข้าไปช่วยแล้ว คือคิวบา จีน เยอรมนี และกำลังรวบรวมอีก เพื่อเข้าไปช่วยป้องกันโรคอีโบลาที่ประเทศต้นตอการระบาดของโรค ไม่ให้แพร่กระจายไปประเทศอื่น ในส่วนของประเทศไทย ได้เตรียมแผนความร่วมมือกับนานาชาติในการควบคุมโรคอีโบลาที่ประเทศต้นตอถือเป็นกลยุทธ์สำคัญและให้ผลดีกว่าการตั้งรับในประเทศไทย แผนหลักคือการระดมเงินบริจาคร่วมกับหน่วยงานอื่นเช่น สภากาชาดไทย การจัดส่งเวชภัณฑ์ การเตรียมแผนการจัดส่งบุคลากรการแพทย์อาสา ซึ่งจะต้องมีการกำหนดบทบาทหน้าที่ชัดเจนและมีระบบดูแลสุขภาพของอาสาสมัครด้วย รวมทั้งการพิจารณาส่งความช่วยเหลือไปทางเครื่องบินของกองทัพอากาศ โดยจะนำเสนอเข้าสู่การประชุม ครม. เพื่อพิจารณาในครั้งต่อไป สำหรับภารกิจของกรมอนามัย ซึ่งมีบทบาทในการส่งเสริมสุขภาพป้องกันการป่วยเป็นหลัก ดูแลประชากรทุกกลุ่มวัยตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ รวมถึงการดูแลสิ่งแวดล้อมด้วย ได้มอบนโยบายให้บูรณาการการทำงานระหว่างกรมและกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่นกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพาณิชย์ โดยให้กรมอนามัยเสริมมาตรฐานด้านวิชาการ สอดคล้องกับทิศทางนโยบายรัฐบาลและรองนายกฝ่ายสังคมจิตวิทยา เพื่อให้เป็นงานภาพใหญ่ของประเทศ เช่นโครงการดูแลสุขภาพของเด็กปฐมวัยและวัยรุ่น โครงการป้องกันการขาดสารไอโอดีน เป็นต้น ทั้งนี้ แผนการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2558 ของกรมอนามัย ประกอบด้วย โครงการพระราชดำริและโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ เช่นโครงการฟันเทียมพระราชทานและการส่งเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ โครงการสายใยรักแห่งครอบครัว โครงการควบคุมป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน โครงการสุขอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี รวมทั้งโครงการส่งเสริมสุขภาพประชาชนใน 5 กลุ่มวัยตามยุทธศาสตร์กระทรวงสาธารณสุข การจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยได้เตรียมร่างกฎหมายและร่างกฎกระทรวง เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองการให้นมแม่ พระราชบัญญัติอนามัยการเจริญพันธุ์ การแก้ไขพระราชบัญญัติการสาธารณสุข การออกกฎกระทรวงเรื่องการเก็บค่าบำบัดขยะและการแยกขยะ เพื่อเป็นแนวทางให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำไปใช้ในการกำจัดขยะที่ถูกต้องต่อไป และแผนงานทันตสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุประเทศไทย พ.ศ. 2558-2564 เพื่อเสนอที่ประชุม ครม. ผลักดันเป็นกฎหมายต่อไป

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ