นรม.เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งที่ 1/2558

ข่าวทั่วไป Wednesday October 1, 2014 15:26 —สำนักโฆษก

คนร.มีมติเห็นชอบให้มีการสร้างความโปร่งใสในการลงทุนโครงการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) การจัดซื้อจัดจ้างและการร่วมลงทุนของภาคเอกชนกับรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่

วันนี้ ( 1 ต.ค.57) เวลา 14.20 น. ณ ห้องประชุมสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งที่ 1/2558

หลังเสร็จสิ้นการประชุม เวลาประมาณ 17.00 น. นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายกำกับและดูแลรัฐวิสาหกิจ ได้แถลงผลการประชุมดังกล่าว ณ ห้องแถลงข่าว ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล สรุปสาระสำคัญดังนี้

ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องการกำกับดูแลสถานบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ โดยมีมติเห็นชอบให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นหน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ โดยให้ครอบคลุมถึงการออกหลักเกณฑ์กำกับดูแลการตรวจสอบตามความเหมาะสมของผู้บริหาร ในการติดตามและตรวจสอบ รวมถึงสั่งการให้มีการแก้ไขปัญหาเพื่อให้การกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการใช้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐไปดำเนินการโดยไม่เหมาะสม ส่วนการกำกับด้านนโยบาย และผู้ถือหุ้นยังคงเป็นของกระทรวงการคลังต่อไป พร้อมมอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังร่วมกำหนดกรอบในการกำกับดูแลเรื่องดังกล่าวในรายละเอียดต่อไป

ต่อจากนั้น ที่ประชุมได้พิจารณาการสร้างความโปร่งใสในการลงทุนโครงการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) การจัดซื้อจัดจ้าง และการร่วมลงทุนของภาคเอกชนกับรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่

สืบเนื่องในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ( คนร.) 2 ครั้งที่ผ่านมา ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) สมัครเป็นภาคีสมาชิกการลงทุนโครงการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) และเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2557 คณะกรรมการบริหารการลงทุนโครงการก่อสร้างภาครัฐ ได้รับประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก และได้มีมติให้รัฐวิสาหกิจที่มีโครงการขนาดใหญ่มาเป็นโครงการนำร่องที่จะใช้ระบบของการลงทุนโครงการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) โดยในเบื้องต้น กำหนดให้โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นโครงการนำร่องโครงการแรก

ดังนั้น ที่ประชุมในวันนี้จึงมีมติเห็นชอบ ในการทำสัญญาคุณธรรม (Integrity Pact) มาใช้ในโครงการก่อสร้างของภาครัฐ การจัดซื้อจัดจ้าง และการร่วมลงทุนของภาคเอกชนกับรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ ซึ่งได้กำหนดให้โครงการจัดซื้อรถประจำทางใช้ก๊าซธรรมชาติขององค์การขนส่งมวลขนกรุงเทพ (ขสมก.) และโครงการจัดหาผู้เดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นโครงการนำร่องในลำดับต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาเรื่องการแก้ไขปัญหาองค์กรของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 5 แห่ง ดังนี้

  • บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ

1) มอบหมายให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ( ICT) ในฐานะกระทรวงเจ้าสังกัด ดำเนินการจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงานของ บริษัททั้ง 2 ดังกล่าว ร่วมกัน

2) เห็นชอบให้มีการตั้งคณะทำงาน (Steering Committee) ในการกำกับดูแลการทำงานของบริษัทที่ปรึกษาดังกล่าว โดยมีนายทวีศักดิ์ กออนันตกูล เป็นประธานโดยมีกระทรวง ICT และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เป็นเลขานุการร่วม

  • ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (Ibank) ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้เร่งดำเนินการจัดทำการตรวจสอบเพื่อวิเคราะห์สถานะ (Due Diligence) โดยให้มีแผนปฏิบัติการ (Action Plan ) แก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม รวมถึงกำหนดแนวทางป้องกันการแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดในอนาคตต่อไป
  • บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในการเร่งรัดให้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน ) ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปโครงสร้างบริษัทฯ อย่างจริงจัง เพื่อให้สามารถแข่งขันในการดำเนินธุรกิจการบินในสภาวการณ์ปัจจุบัน โดยให้นำเสนอคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ภายในเดือนธันวาคม ศกนี้ (ไตรมาสที่ 4 ของปี 2557)

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประสัมพันธ์ สำนักโฆษก

พัณณ์วรินทร์ อินโท่โล่ รายงาน

ดวงใจ กล่อมจิตต์ ตรวจ

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ