นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า ตามคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๕๗ ได้กำหนดนโยบายสำคัญ ๑๑ ด้าน ซึ่งด้านที่ ๒ เป็นเรื่องการรักษาความมั่นคงของรัฐและการต่างประเทศ โดยกำหนดให้การค้ามนุษย์เป็นปัญหาเฉพาะหน้า ที่ต้องได้รับการป้องกันและแก้ไขโดยการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด และจัดการปัญหาอื่นๆ ที่เชื่อมโยงต่อเนื่องให้เบ็ดเสร็จ เช่น การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว เป็นต้น นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว) ได้แถลงนโยบายเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๗ กำหนดให้การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เป็นเรื่องเร่งด่วนของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ที่จะต้องขับเคลื่อนและบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรณีการช่วยเหลือแรงงานประมงของไทยที่เกาะอัมบน ประเทศอินโดนีเซีย ที่ปรากฏตามสื่อมวลชนนั้น รัฐมนตรีฯ ได้ให้ความสำคัญและลงมากำกับดูแลสั่งการด้วยตนเอง และได้มอบให้ตนช่วยจัดการประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพเรือ กระทรวงแรงงาน สำนักงานอัยการสูงสุด กรมประมง และกรมเจ้าท่า เพื่อจัดระเบียบเรือประมงและแรงงานประมง ซึ่งได้มีการประชุมร่วมกันเมี่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา และมีมติเห็นชอบให้จัดประชุมในวันนี้ขึ้น เพื่อทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการประมงเกี่ยวกับการจัดระเบียบเรือประมงและแรงงานประมง เพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ก่อนรัฐมนตรีฯจะนำชุดปฏิบัติการลงพื้นที่ตรวจตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๗ เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ จังหวัดสมุทรสาคร เป็นจังหวัดแรก ก่อนลงพื้นที่ในจังหวัดอื่นต่อไป
ทั้งนี้ “ปัจจุบันปัญหาการค้ามนุษย์ถูกนำไปโยงกับปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมหาศาล เราต้องแยกผู้ประกอบการที่ดีออกมา อย่าเหมารวม เพื่อจะได้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายได้ถูกทาง ถูกคน และร่วมมือกันดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในรูปแบบแรงงานอย่างจริงจัง มีประสิทธิภาพ และที่สำคัญจะได้นำเสนอข้อเท็จจริงให้ทุกภาคส่วนในสังคมไทย องค์การระหว่างประเทศ และประเทศ ต่างๆ ได้รับทราบถึงเจตนารมณ์และผลสัมฤทธิ์จากการตรวจปฏิบัติการนี้ต่อไป” นายวิเชียร กล่าวตอนท้าย.
ที่มา: http://www.thaigov.go.th