ระยะที่ 1 การดำเนินงานก่อนการติดตามผู้ผ่านการบำบัดฯ โดยให้จังหวัดและอำเภอ ติดตามรายชื่อผู้ผ่านการบำบัด ตามที่สำนักงาน ป.ป.ส. จัดส่งให้เพิ่มเติมในปี 2558 จำนวนประมาณ 350,000 ราย โดยให้ศูนย์ข้อมูลติดตามจังหวัด/อำเภอ (ศูนย์ demand จังหวัด/อำเภอ) นำรายชื่อมาวิเคราะห์ข้อมูลและตรวจสอบรายชื่อผู้ผ่านการบำบัดในทางลับให้ถูกต้อง หากปรากฎว่ารายชื่อใดไม่เคยผ่านการบำบัดหรือไม่เคยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้จำหน่ายออกจากระบบการติดตาม จากนั้น ให้อำเภอมอบหมายภารกิจให้แก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน อสม. ทำหน้าที่ติดตามผู้ผ่านการบำบัดตามเป้าหมายทุกราย โดยให้ทำความเข้าใจกับผู้ที่จะไปติดตาม ในเรื่องสิทธิของผู้ป่วย ทัศนคติในการติดตามอย่างมีเมตตาธรรม และการดูแลอย่าง "พ่อแม่ดูแล" การให้โอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข การให้โอกาสเรื่องการศึกษาหรือการหางานให้ทำ
ระยะที่ 2 ระยะการติดตามผู้ผ่านการบำบัดฯ ให้ยึดถือปฏิบัติตามแนวทางการติดตามช่วยเหลือซึ่งได้มีการกำหนดแนวทางไว้อย่างชัดเจนตามที่ได้ดำเนินการไปแล้วในห้วง 3 เดือนที่ผ่าน (ก.ค.- ก.ย. 57) โดยมีชุดปฏิบัติการประจำตำบล (ทีมสหวิชาชีพ) รับผิดชอบผู้ผ่านการบำบัดในภาพรวมของตำบล ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน อสม. ซึ่งเป็นชุดติดตามดูแลช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดในระดับหมู่บ้าน/ชุมชน ในการทำความเข้าใจถึงนโยบายของรัฐในการติดตามช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดไม่ใช่การจับผิด ซึ่งชุดติดตามดูแลช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัด จะลงพื้นที่ติดตามแบบรายบุคคล การเยี่ยมบ้าน ครอบครัว สอบถามเจ้าตัวถึงชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงความเป็นอยู่ของครอบครัว สังเกตและดูพฤติกรรมด้วยความจริงใจและเมตตา เพื่อเป็นข้อมูลประกอบในการหาแนวทางการช่วยเหลือ ให้เหมาะสมต่อไป โดยให้เริ่มกระบวนการติดตามตามขั้นตอน ครั้งที่ 1 ภายในเดือนพฤศจิกายน 2557 ให้มีการบันทึกการติดตามทุกครั้ง และติดตามอย่างต่อเนื่องทุกเดือน นอกจากนี้ สำหรับการติดตามดูแลช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดฯ ตามที่ได้มีการดำเนินการไปแล้วในห้วง 3 เดือนที่ผ่านมา (ก.ค. - ก.ย.2557) ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายจำนวน 151,713 ราย จะยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยจะติดตามให้ครบถ้วน และให้ความช่วยเหลือตามคำร้อง ซึ่งในรายที่มีความจำเป็นต้องดูแลใกล้ชิด ก็จะเพิ่มความถี่ในการติดตามดูแลตามความเหมาะสม
และระยะที่ 3 การยุติการติดตามผู้ผ่านการบำบัด กรณีการยุติการติดตามนั้นจะต้องเป็นไปตามเกณฑ์การประเมินเชิงคุณภาพ ซึ่งต้องผ่านคณะกรรมการอำนวยการระดับอำเภอและรายงานศูนย์ demand จังหวัด ส่งให้กระทรวงมหาดไทยทราบ โดยยึดเกณฑ์คุณภาพชีวิต และระยะเวลาการหยุดใช้สารเสพติด การมีงานทำ และการรับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคม ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยจะได้กำหนดหลักเกณฑ์การยุติการติดตามช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดในขั้นตอนต่อไป
ที่มา: http://www.thaigov.go.th