วันนี้ (7ต.ค.57) เวลา 15.30 น. ณ สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรี (ครม.)และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เป็นประธาน ร้อยเอก ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และพันเอกพิเศษ วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก และในฐานะคณะโฆษก คสช. ได้แถลงผลการประชุมฯ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมร่วมกันระหว่าง ครม.กับ คสช. เป็นครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 42 และจะมีการประชุมร่วมกันในลักษณะเช่นนี้ทุกเดือน โดยนายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายและให้แนวทางต่อที่ประชุมฯ เชิญชวนให้ข้าราชการทุกระทรวง ทบวง กรม ร่วมกันไปลงนามถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญและนโยบายหลักในการเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่รักของคนไทยทุกคน
พร้อมกันนี้ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการประชุมร่วมกันระหว่าง ครม.กับ คสช. โดยพยายามที่จะให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันทั้งในเรื่องที่ได้ปฏิบัติเป็นผลสัมฤทธิ์ เรื่องที่กำลังอยู่ในแผนงานการปฏิบัติ และเรื่องที่กำลังจะทำต่อไปในอนาคต อีกทั้ง ได้ปรารภ ขอให้ คสช.และรัฐบาล พยายามใช้อำนาจที่มีอยู่อย่าสร้างสรรค์ รวมถึงการใช้กฎหมายพิเศษที่จำเป็นบางประการโดยให้มีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันจะต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่วนการขออนุญาตจัดงานในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเวทีเสวนาทางวิชาการ หรือการจัดกิจกรรมในลักษณะที่มีการรวมกลุ่มของประชาชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเสนอมา 2 ทาง คือ เสนอมาที่ คสช. และเสนอมาที่นายกรัฐมนตรี นั้น นายกรัฐมนตรี ได้ให้แนวทางว่าต่อไปนี้ถ้าบุคคลใดเสนอมาที่นายกรัฐมนตรีก็จะส่งกลับไปให้ คสช. เป็นผู้พิจารณาในรายละเอียดว่าสามารถที่จะจัดกิจกรรมเช่นนั้นได้หรือไม่ ทั้งนี้หลักการสำคัญคือการสร้างบรรยากาศแห่งความปรองดองที่จะปฏิรูปประเทศชาติ อะไรที่สุ่มเสี่ยงต่อการทำให้สถานการณ์ดูไม่ดีในสายตาของประชาชนทั่วไปก็ขอทุกฝ่ายได้ระงับยับยั้งไว้ก่อน
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงาน กระทรวง ทบวง กรม จัดทำผลงานการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมและจับต้องได้ ตั้งแต่เดือนตุลาคม - เดือนธันวาคม 2557 และชี้แจงทำความเข้าใจให้ประชาชนได้รับทราบเกี่ยวกับสิ่งที่ทุกหน่วยงานได้ดำเนินงานไปแล้วมีอะไรบ้าง ตลอดจนส่งผลกระทบและทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นในเรื่องใด อย่างไร เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน
อีกทั้ง นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำจะต้องไม่ให้เกิดเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นขึ้น โดยต้องมีการดูแลเป็นพิเศษและกำหนดมาตรการต่าง ๆ ให้ชัดเจนทุกระดับ ทั้งระดับส่วนกลาง และระดับการปกครองส่วนท้องถิ่น หากพบการทุจริตจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนปรับย้ายให้ไปอยู่ในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานโดยทันที และมีการลงโทษตามบทบัญญัติทางวินัยต่อไป รวมทั้งนายกรัฐมนตรี ยังได้เร่งรัดการสอบสวนกรณีเรื่องไมโครโฟนห้องประชุม ครม. ตึกบัญชาการ 1 ห้อง 501 ผ่านคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ซึ่งขณะนี้ทราบเบื้องต้นใกล้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว
พร้อมทั้ง นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำว่า สิ่งต่าง ๆ ที่รัฐบาลได้ดำเนินการโดยกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ จะต้องเป็นการแก้ปัญหาเก่าโดยไม่สร้างปัญหาใหม่ และต้องไม่ให้เกิดเหตุที่จะลุกลามบานปลายกลายเป็นชนวนขัดแย้งขึ้นมาอีก ทั้งนี้อะไรที่เป็นเหตุของความขัดแย้งในอดีตที่ผ่านมาให้ใช้มาตรการทางกระบวนการยุติธรรมพร้อมกันทุกฝ่ายเพื่อให้เกิดความสบายใจว่าจะได้รับความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกันทุกฝ่าย
สำหรับการจัดระเบียบสังคมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาครัฐที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบอาชีพหรือผู้ที่มีรายได้น้อยบางส่วนได้รับผลกระทบ นั้น นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องดังกล่าว โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดูแลความเดือดอันเกิดกับผู้ที่ประกอบอาชีพเหล่านี้ด้วย ไม่ใช่มุ่งแต่จะจัดระเบียบสังคมอย่างเดียวโดยละเลยถึงความเดือดร้อนของประชาชนผู้ประกอบอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบดังกล่าว และต้องเป็นมาตรการดูแลความเดือดร้อนที่เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง
ส่วนเรื่องการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมต่าง ๆ หรือโซนนิ่ง นั้น นายกรัฐมนตรี ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินขึ้นมาอีก 1 คณะ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน และให้เร่งรัดดำเนินการเรื่องนี้โดยเร็วเพื่อจะได้แก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินไปพร้อม ๆ กัน
รวมทั้ง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองจากเดิมซึ่งระบุมี 4 ส่วน ทั้งเรื่องของ อบจ. เทศบาล การปกครองพิเศษ และ อบต.ว่า นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมฯ ว่า ไม่มีใครเคยพูดเรื่องนี้มาก่อน และไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ชี้แจง เพราะฉะนั้นเรียนยืนยันให้เกิดความสบายใจว่า เรื่องนี้ยังไม่มีการพูดกันคงปล่อยให้เป็นหน้าที่ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่จะคิดหาแนวทางและวิธีการในการที่จะปฏิรูปในทุกเรื่อง
ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) พิจารณาทบทวนเรื่องของคณะกรรมการต่าง ๆ ที่ได้มีการจัดตั้งขึ้นมาหลายคณะ ว่าแต่ละคณะที่ได้จัดตั้งขึ้นมีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด และการทำงานเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างไร เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่าและประหยัดงบประมาณในส่วนนี้ได้ด้วย
รวมถึง นายกรัฐมนตรี ได้ให้นโยบายในเรื่องของเส้นทางจักรยานทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และภูมิภาคว่า อะไรที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนให้เกิดความปลอดภัย ผ่อนคลาย และลดการใช้เชื้อเพลิงก็ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างเต็มที่
ขณะที่เรื่องการจ่ายเงินให้เกษตรกรชาวนา จำนวน 1,000 บาท/ไร่ ที่มีบุคคลเป็นห่วงและยังไม่เกิดความมั่นใจว่าเงินที่จ่ายจะถึงมือเกษตรกรชาวนาผู้ปลูกข้าวอย่างแท้จริงหรือผู้เป็นเจ้าของที่นาจะเป็นผู้สวมสิทธิ์รับผลประโยชน์ดังกล่าวแทนนั้น นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการวางแผนให้ชัดเจน ก่อนมอบหมายให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นผู้ชี้แจงทำความเข้าใจถึงมาตรการที่ชัดเจนให้สังคมเกิดความสบายใจว่าเงินที่รัฐบาลจ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาผู้มีรายได้น้อยตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวกำหนดถึงมือเกษตรกรชาวนาผู้ปลูกข้าวจริง
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th