รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปาฐกถาพิเศษ ธรรมาภิบาลกับวงการแพทย์ไทย ขอให้องค์กรด้านสุขภาพทั้งรัฐเอกชน ยึดหลักธรรมาภิบาล สร้างสุขภาพ ดูแลรักษาผู้เจ็บป่วยให้หายป่วย ปลอดภัย คุ้มค่า เน้นการป้องกันปัญหาคอร์รัปชัน โดยกระทรวงสาธารณสุข จะร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เป็นต้นแบบองค์กรต่อต้านการทุจริต เชื่อมั่นแก้ไขได้ด้วยการสร้างจิตสำนึกคนรุ่นใหม่
วันนี้ (9 ตุลาคม 2557) ที่สถาบันพระปกเกล้า ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กทม. ศาสตราจารย์ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปาฐกถาพิเศษเรื่อง ธรรมาภิบาลกับวงการแพทย์ไทย แก่ผู้บริหารระดับสูงด้านการแพทย์และสายงานที่เกี่ยวข้อง ที่เข้ารับการอบรมในหลักสูตร ธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 3 จำนวน 130 คน จัดโดยสถาบันพระปกเกล้า และแพทยสภา ว่า ระบบธรรมภิบาลประกอบด้วย 6 องค์ประกอบ คือคุณธรรม นิติธรรม ความรับผิดชอบ ความมีส่วนร่วม ความโปร่งใส และความคุ้มค่า ซึ่งจะขาดองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งไม่ได้
สำหรับธรรมาภิบาลกับวงการแพทย์นั้นมีความเกี่ยวข้องกัน เนื่องจากมีองค์กรด้านการดูแลสุขภาพประชาชนหลายส่วน ทั้งรัฐ เอกชน เครือข่ายสุขภาพต่างๆ และองค์กรในกำกับของกระทรวงสาธารณสุข เช่น สปสช. สช. สสส. เป็นต้น เช่นกลุ่มแพทย์ปัจจุบันไทยมี 49,000 คน อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 1 ใน 3 โรงพยาบาลที่เหลืออยู่ในสังกัดมหาวิทยาลัยโรงพยาบาลรัฐสังกัดอื่น เช่น ทหาร ตำรวจ กทม. และโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งมี 1,400 แห่ง ในแต่ละปีมีผู้ป่วยรับบริการประมาณ 250 ล้านครั้ง ในการดูแลสุขภาพจะต้องใช้หลักธรรมาภิบาล ตั้งแต่การสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และการรักษาพยาบาลผู้ป่วย ขอให้ผู้ปฏิบัติงานยึด 3 หลักการ เป็นหัวใจในการทำงาน คือรักษาให้หายผู้ป่วยปลอดภัย รวมทั้งให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้ทรัพยากร และมีแพทยสภาและราชวิทยาลัยต่างๆอีก 14-15 ราชวิทยาลัย ทำหน้าที่ควบคุมดูแลกำกับ ทั้งการรักษาพยาบาล รวมทั้งการศึกษาอบรมแพทย์รุ่นใหม่ด้วย
ศ.นพ.รัชตะกล่าวต่อว่า ขณะนี้รายจ่ายด้านสุขภาพของไทยในภาพรวมสูงถึงปีละ 5.8 แสนล้านบาท และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในจำนวนนี้เป็นรายจ่ายที่เกิดจากประชาชนไปใช้บริการที่รพ.เอกชนและร้านขายยา ประมาณ 3 แสนกว่าล้านบาท ส่วนรายจ่ายในภาครัฐก็สูงขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะปัญหาเรื่องค่ายา ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 48.8 ของรายจ่ายด้านสุขภาพทั้งหมด และร้อยละ 6 ของจีดีพีประเทศ จึงจำเป็นที่จะต้องใช้ยาและเทคโนโลยีให้ถูกต้องเหมาะสม และเกิดความคุ้มค่า โดยเฉพาะเรื่องการจัดซื้อยา ซึ่งมีโอกาสเกิดคอร์รัปชันได้ในทุกขั้นตอนตั้งแต่การศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนา มาจนถึงการตรวจสอบในท้องตลาด
ศ.นพ.รัชตะกล่าวต่อว่า ปัญหาที่เกี่ยวกับธรรมาภิบาลในวงการแพทย์ พบทั้งการจัดซื้อจัดจ้าง การบริหารงานบุคคล งานบริหารวิชาการ โดยสถิติร้องเรียนของกระทรวงสาธารณสุขในปี 2557 พบว่ามากที่สุด เป็นเรื่องคุณภาพการรักษาร้อยละ 72 รองลงมาคือด้านทรัพยากรบุคคลร้อยละ 10 ที่เหลือเป็นค่าตอบแทน การทุจริตของเจ้าหน้าที่และวินัยข้าราชการ การจัดซื้อจัดจ้าง/บริหารทั่วไป ดังนั้นสิ่งที่กำลังเผชิญขณะนี้คือเรื่องคุณภาพของการบริการ มีความเชื่อมโยงกับธรรมาภิบาลในการดูแลรักษาผู้ป่วยให้หายจากโรค ซึ่งมีหลายองค์ประกอบ ไม่เฉพาะความสามารถของแพทย์ แต่รวมถึงการบริหารจัดการแพทย์ให้มีโอกาสแสดงความสามารถ ทำงานอย่างมีความสุข ไม่ตรากตรำทำงานมากเกินไป รวมทั้งการแต่งตั้งโยกย้าย การพิจารณาความดีความชอบประจำปี โดยข้อมูลแพทยสภา พบว่าการร้องเรียนแพทย์แนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ สูงสุดในปี 2548 จำนวน 294 ครั้ง และเริ่มลดลงในปี 2549 ล่าสุดในปี 2556 มีจำนวน 135 ครั้ง ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งอาจมาจากแพทย์มีเวลาตรวจผู้ป่วยน้อย เฉลี่ยรายละ 3 นาที ทำให้ไม่สามารถให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยและญาติเพียงพอ ไม่แสดงความเอื้ออาทรต่อผู้ป่วย เมื่อเกิดปัญหาขึ้นจึงไม่เข้าใจกันและเกิดการร้องเรียนตามมา
ศ.นพ.รัชตะกล่าวต่อว่า ปัญหาคอร์รัปชันเป็นเหมือนมะเร็งร้ายที่ไทยเผชิญอยู่ มีรูปแบบซับซ้อนขึ้น ตั้งแต่การคอร์รัปชันทางนโยบาย ไปจนถึงการรับเงินบนโต๊ะ ใต้โต๊ะ ผลประโยชน์ทับซ้อน และขณะนี้ยังไม่ได้รับการดูแลมากนัก โดยพบว่าปัญหาคอร์รัปชันของไทยแย่ลงเรื่อยๆ จำเป็นต้องกำจัดให้หมดไป ทั้งวงการแพทย์สาธารณสุขและทุกวงการ สิ่งที่มหาวิทยาลัยพยายามทำคือปลูกฝังนักศึกษารุ่นใหม่ให้รังเกียจการคอร์รัปชัน เพราะคิดว่าการแก้ปัญหาต้องเกิดจากจิตสำนึก ไม่ใช่การใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียว
ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมมือกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันประเทศไทย เพื่อทำให้เป็นกระทรวงต้นแบบการต่อต้านคอร์รัปชัน โดยได้ประกาศนโยบายธรรมาภิบาลในทุกขั้นตอน ทั้งเรื่องการบริหารบุคคลในการแต่งตั้งโยกย้าย การจัดซื้อจัดจ้าง และมีแนวทางปฏิบัติชัดเจนและต่อต้านการทุจริต รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการแจ้งเบาะแสกรณีสงสัยว่าจะมีการทุจริต ซึ่งจะมีการฝึกอบรมและการปกป้องบุคคลที่ให้ข้อมูล โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งศูนย์ข้อมูลด้านยา มีข้อมูลราคายาของแต่ละบริษัทที่เสนอขายโรงพยาบาลต่างๆ สามารถตรวจสอบราคา และเป็นระบบในการควบคุมกำกับการจัดซื้อจัดจ้าง เป็นไปในทิศทางเดียวกับองค์การอนามัยโลกที่มีนโยบายความโปร่งใส โดยตั้งเป้าหมายลดคอร์รัปชันในระบบยาลงให้ได้ และสร้างระบบระดับชาติในการควบคุมกำกับ