มอบนโยบายต่อคณะกรรมการฯ ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
รมว.ศธ. กล่าวว่า ศธ.ได้ดำเนินการพัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาอย่างต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์พัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2559 โดยมีคณะกรรมการบริหารการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนหลักเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เมื่อพิจารณาจากภารกิจหน้าที่ของคณะกรรมการแล้ว จะเห็นได้ว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งในเรื่องของการบริหารงานบุคคล การบริหารงบประมาณ การบริหารงานวิชาการ และการบริหารงานทั่วไป เพื่อให้สามารถประสานการดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาล และของ ศธ.ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองต่อเป้าหมาย และการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศในภาพรวม
สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง และส่งผลกระทบต่อระบบการศึกษาในพื้นที่ดังกล่าวเป็นอย่างมาก จึงได้กำหนดเป็นนโยบายเฉพาะประจำปีงบประมาณ 2558 ในด้านการพัฒนาการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสนับสนุนการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ไว้เพื่อเป็นทิศทางและเป้าหมาย
โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนารูปแบบและจัดการศึกษาให้เหมาะสมกับพื้นที่ ยกระดับคุณภาพการศึกษาโดยอาศัยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย แก้ไขปัญหาการอ่านภาษาไทยไม่ออกและเขียนไม่ได้ของนักเรียน พัฒนาระบบค่าตอบแทน สิ่งจูงใจ และสวัสดิการของครูและบุคลากรทางการศึกษาให้เหมาะสม มีมาตรการด้านความปลอดภัยที่ชัดเจน บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมการเรียนรู้และเปิดโลกทัศน์ สร้างความหวัง ปลูกฝังและยึดมั่นในหลักคุณธรรมและสถาบันหลักของชาติให้กับนักเรียน รวมทั้งเสริมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับองค์การระหว่างประเทศ กลุ่มประชาชาติมุสลิมประเทศเพื่อนบ้าน และสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่อง ในฐานะคณะกรรมการบริหารการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะต้องช่วยกันถ่ายทอดแนวนโยบายสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม และร่วมมือกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วย
เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการการพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ 2558 ของกระทรวงศึกษาธิการ
ที่ประชุมเห็นชอบ ร่างแผนปฏิบัติการการพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ 2558 ซึ่ง ศธ.ได้รับงบประมาณทั้งสิ้นจำนวน 3,460ล้านบาท และได้จัดสรรให้กับหน่วยงาน/องค์กรหลักในสังกัด ศธ. ในร่างแผนปฏิบัติการดังกล่าวได้ระบุถึงกิจกรรมที่จะมีการดำเนินการในปี 2558 รวมถึงการใช้งบประมาณดำเนินการแต่ละกิจกรรม
ทั้งนี้ ที่ประชุมให้ข้อสังเกตว่า ในการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่มีการบูรณาการร่วมกัน ทำให้บางกิจกรรมจัดขึ้นซ้ำซ้อนกัน จึงเสนอว่า ในการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ ปี 2559 ให้ทุกองค์กรหลักหารือร่วมกัน แลกเปลี่ยนปัญหาและประสบการณ์ในการจัดการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหา และแนวทางการดำเนินงานในปีต่อไป ก่อนจะกำหนดกิจกรรม หากมีกิจกรรมใดที่สามารถบูรณาการร่วมกันได้ก็ให้ดำเนินการร่วมกัน เพื่อให้กิจกรรมต่างๆ สอดคล้องกัน มีวัตถุประสงค์ที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และประหยัดงบประมาณ
เห็นชอบการปรับปรุงโครงสร้างหน่วยงานการบริหารจัดการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของ ศธ.
ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการ การปรับปรุงโครงสร้างหน่วยงานการบริหารจัดการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้กำหนดให้มีหน่วยงานทั้งในส่วนกลางและระดับพื้นที่
- โครงสร้างหน่วยงานในส่วนกลาง ให้มีการปรับปรุงโครงสร้างของสำนักประสานงานและบูรณาการการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้(สปศ.จชต.) แบ่งงานเป็น 4 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มอำนวยการและประสานราชการ 2) กลุ่มนโยบายและแผน 3) กลุ่มวิเทศสัมพันธ์ และ 4) กลุ่มการศึกษาเพื่อความมั่นคง พร้อมทั้งเห็นชอบจัดสรรอัตราข้าราชการ 8 อัตรา และลูกจ้าง 6 อัตรา รวมทั้งสิ้น 14 อัตรา กำหนดเป็นอัตราเฉพาะกิจ ข้าราชการและลูกจ้างดังกล่าวจะปฏิบัติงานที่หน่วยงานต้นสังกัดเดิม หากมีภารกิจของหน่วยงานส่วนกลางก็ต้องรับผิดชอบ ถือเป็นอีกหน้าที่หนึ่งด้วย
- โครงสร้างหน่วยงานในระดับพื้นที่ (ศธ.ส่วนหน้า) ให้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปบ.จชต.)ขึ้นที่สำนักงานศึกษาธิการภาค 12 ยะลา โดยมีผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์ และผู้อำนวยการสำนักงานศึกษาธิการภาค 12 ทำหน้าที่รองผู้อำนวยการศูนย์ มีการแบ่งงานเป็น 4 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มอำนวยการและประสานราชการ 2) กลุ่มนโยบายและแผน 3) กลุ่มวิเทศสัมพันธ์ และ 4) กลุ่มการศึกษาเพื่อความมั่นคง มีการจัดสรรอัตราจากหน่วยงานต่างๆ ทั้ง 5 องค์กรหลัก จำนวนทั้งสิ้น 14 อัตรา เพื่อประจำการในการปฏิบัติภารกิจที่จังหวัดยะลาเต็มเวลา และจะส่งบุคลากรลงพื้นที่ภายในเดือนตุลาคมนี้
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เสนอให้มี การปรับโครงสร้างหน่วยงานส่วนกลางในตำแหน่งผู้บังคับบัญชา โดยให้รองปลัด ศธ. ทำหน้าที่ผู้อำนวยการ สปศ. จชต. ส่วนผู้อำนวยการ สปศ.จชต. (ปัจจุบัน) ทำหน้าที่รองผู้อำนวยการ สปศ.จชต. รวมทั้งเขียนโครงสร้างหน่วยงานทั้งส่วนกลางและส่วนหน้าให้อยู่ในผังเดียวกัน ให้แสดงความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างกันอย่างชัดเจน เช่น หน่วยงานหนึ่งสามารถสั่งการ/ควบคุมการปฏิบัติงานอีกหน่วยงานหนึ่งได้ หรือหน่วยงานทั้งสองต้องมีการประสานงานร่วมกัน
ในการนี้ รมว.ศธ.มอบหมายให้ปรับแก้โครงสร้างหน่วยงานดังกล่าวและจัดทำเอกสารให้เสร็จสิ้นภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อเสนอคณะกรรมการพิจารณาและตอบกลับความเห็นภายใน 1 สัปดาห์นับจากวันที่เสนอเอกสาร จากนั้นให้สรุปผล พร้อมทั้งเสนอให้ รมว.ศธ.ในฐานะประธานทราบ หากทุกฝ่ายเห็นชอบจะถือว่าที่ประชุมให้ความเห็นชอบโครงสร้างหน่วยงานดังกล่าวได้โดยไม่ต้องเสนอในที่ประชุมครั้งต่อไป พร้อมทั้งให้แต่ละองค์กรหลักส่งรายชื่อ/ประวัติของข้าราชการและลูกจ้างชั่วคราวที่จะปฏิบัติหน้าที่ในส่วนกลางและส่วนหน้า ไปที่ รมช.ศธ. (พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์) ภายในวันที่16 ตุลาคม 2557 หรืออาจให้บุคลากรในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมและคุณสมบัติครบถ้วน ปฏิบัติงานในส่วนหน้า
เห็นชอบการปรับปรุงคณะกรรมการบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้
ที่ประชุมเห็นชอบ การปรับองค์ประกอบของคณะกรรมการอำนวยการการบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และคณะกรรมการดำเนินงานการบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงบุคคล
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เสนอให้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการฯ ทั้ง 2 ชุด ชุดละไม่เกิน 3 คน เพื่อนำความรู้ ประสบการณ์ และข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้จากผู้ทรงคุณวุฒิมาใช้ในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง ต้องมีการประชุมเพื่อพิจารณาเลือกผู้ทรงคุณวุฒิในโอกาสต่อไป
รับทราบผลการดำเนินงานการพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปีงบประมาณ 2557 ของกระทรวงศึกษาธิการ
ที่ประชุมรับทราบ ผลการดำเนินงานการพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปีงบประมาณ 2557 ของ ศธ.ในด้านทุนการศึกษาและการเยียวยา ด้านการพัฒนาบุคลากร ด้านการพัฒนาหลักสูตร ด้านกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน และด้านการประสานงานกับองค์กรที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ รมว.ศธ.ให้ความสนใจเรื่องทุนการศึกษาที่มอบให้แก่นักเรียน นักศึกษาไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปศึกษาต่อต่างประเทศ จำนวน 815 ทุนต่อปี โดยนักเรียนนักศึกษาส่วนใหญ่เลือกศึกษาต่อด้านศาสนา จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือกับประเทศที่เป็นเจ้าของทุน ในการเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษาไทยสามารถศึกษาต่อสายอาชีพ อาจกำหนดสัดส่วนเพื่อเพิ่มผู้เรียนสายอาชีพมากขึ้น เนื่องจากเห็นว่าผู้ที่ศึกษาทางด้านศาสนาเพียงด้านเดียว จะมีโอกาสหางานทำได้น้อย
นอกจากจะเป็นครูสอนศาสนาที่มีจำนวนมากอยู่แล้ว หากจบการศึกษาสายอาชีพ จะสามารถเข้าทำงานในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ภาคอุตสาหกรรม หรือภาคเกษตรกรรมได้ ซึ่งจะถือเป็นการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกทางหนึ่งด้วย
นวรัตน์ รามสูต – กุณฑิกา พัชรชานนท์
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
Published 10/10/2557
ที่มา: http://www.thaigov.go.th