ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ได้กล่าวถึงดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในช่วง 8 เดือนแรกว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม หรือ NPI มีอัตราการขยายตัวเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้านั้น จะอยู่ที่ประมาณ -5.48 เปอร์เซ็นต์ แต่หากมองเป็นเดือนต่อเดือน คือเดือนนี้เปรียบเทียบกับเดือนที่แล้วนั้น มีอัตราขยายตัวเป็นบวก ประมาณ 2.56 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งดัชนีส่วนใหญ่ที่มองว่าตัวที่ถ่วงน้ำหนักของดัชนีมากที่สุดก็คือผลิตของยานยนต์ที่มีแนวโน้มลดลงค่อนข้างมาก เนื่องจากแรงกดดันเรื่องการบริโภคภายในประเทศ หรือยอดจำหน่ายภายในประเทศที่ลดลงมากกว่าประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ แต่ในขณะเดียวกันสิ่งที่มองเห็นในส่วนยานยนต์และชิ้นส่วนนั้น อัตราการขยายตัวการส่งออกในปีนี้เริ่มขยับตัวสูงขึ้น อยู่ที่ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาจเป็นผลจากการขยายตัวของชิ้นส่วนประกอบเป็นสำคัญ ส่วนยานยนต์นั้นอัตราการขยายตัวของจำนวนรถยนต์ก็ขยับตัวขึ้นบ้างเล็กน้อย แต่ตัวที่ทำให้มูลค่าการส่งออกของยานยนต์ยังไม่สูงมากนักเป็นเพราะดัชนีราคาของยานยนต์ค่อนข้างต่ำลง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าประเทศไทยกำลังเปลี่ยนในเรื่องของกระบวนการผลิตจากรถยนต์ขนาดใหญ่เป็นรถยนต์ขนาดเล็กมากขึ้น และประเทศไทยกลายเป็นฐานการผลิตของรถยนต์ขนาดเล็ก โดยเฉพาะอีโคคาร์ของหลายบริษัทที่เริ่มส่งออกเป็นสำคัญ
สำหรับดัชนีอัตราการใช้กำลังการผลิตของเดือนสิงหาคม 2557 อยู่ที่ 60.29 เปอร์เซ็นต์ สูงขึ้นกว่าเดือนที่แล้วจาก 60.00 ก็ขยับขึ้นมาเล็กน้อย ส่วนอีกตัวแปรหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการผลิตของภาคอุตสาหกรรมก็คือเรื่องของการส่งออก ทั้งนี้ในภาคอุตสาหกรรมสินค้าอุตสาหกรรมประมาณ 65 เปอร์เซ็นต์ผลิตเพื่อการส่งออกเป็นสำคัญ ซึ่งตัวการส่งออกของภาคอุตสาหกรรมในช่วง 8 เดือน ยังอยู่ในแดนลบ โดยติดลบอยู่ประมาณ 0.17 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะในเดือนสิงหาคมสินค้าอุตสาหกรรมติดลบอยู่ประมาณ 8.31 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ถ้าหักทองแล้วก็จะติดลบอยู่ประมาณ 2.37 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในส่วนนี้ก็ได้มีการติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด แต่อย่างไรก็ตามถ้ามองในเรื่องของโครงสร้างของการส่งออกของประเทศไทยลำดับ 1-3 ก็จะเป็นสินค้าอุตสาหกรรมทั้งหมด และสัดส่วนของทั้ง 3 สินค้าดังกล่าวก็จะตกประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าการส่งออกของทั้งประเทศ
นอกจากนั้น ยังมีการเฝ้าระวังในเรื่องของฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ซึ่งขณะนี้ก็เริ่มมีอัตราการปรับตัวขึ้นค่อนข้างมาก โดยในช่วงเดือนกันยายนแนวโน้มการผลิตของเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นประมาณ 7.61 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะอิเล็กทรอนิกส์สูงถึง 13.3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของการส่งออกและคำสั่งซื้อเริ่มกลับเข้ามาสู่ประเทศไทยอีกครั้ง โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีน
ส่วนอุตสาหกรรมที่แนวโน้มอัตราการขยายตัวการผลิตดีขึ้นคือเรื่องของเครื่องนุ่งห่ม โดยอัตราการผลิตเริ่มขยับตัวสูงขึ้นประมาณ 2-3 เปอร์เซ็นต์ ในช่วง 2-3 เดือนหลัง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากเรื่องของคำสั่งซื้อจากประเทศที่เคยคิดว่าไม่น่าจะฟื้นตัวได้เร็วโดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น โดยวันนี้การส่งออกของอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มอยู่ในระดับค่อนข้างดี ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถ้าพิจารณาเป็นรายเดือนแล้วในช่วง 2-3 เดือนหลังอัตรามีแนวโน้มเริ่มเป็นบวก ยกเว้นเดือนสิงหาคมที่อาจจะลดลงมาเล็กน้อย อย่างไรก็ตามคิดว่าอัตราการขยายตัวทั้งปีของเครื่องนุ่งห่มน่าจะขยายตัวมากกว่า 4 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากในช่วงท้ายของปีจะมีเทศกาลตลอดจนมีการเปลี่ยนแปลงแฟชั่นและรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งคิดว่าในช่วงปลายปีดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในช่วง 2 – 3 เดือนหลังน่าจะอยู่ในแดนบวกเมื่อเปรียบเทียบในช่วงของเดือนที่ผ่านมา
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th