แนวทางการให้ความช่วยเหลือ รร.ในปัตตานี ที่ถูกลอบวางเพลิง

ข่าวทั่วไป Tuesday October 14, 2014 10:28 —สำนักโฆษก

พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงแนวทางการให้ความช่วยเหลือโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี จำนวน 6 แห่ง ที่ถูกลอบวางเพลิงจนได้รับความเสียหาย

รมว.ศธ. กล่าวถึงกรณีการลอบวางเพลิงโรงเรียน 6 แห่งในพื้นที่ อ.ทุ่งยางแดง และ อ.มายอ จ.ปัตตานี เมื่อช่วงกลางคืนวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า ภายหลังเกิดเหตุ ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายโรงเรียนทั้ง 6 แห่ง พร้อมทั้งได้รายงานให้รับทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงได้สั่งการในเบื้องต้น ขอให้ทุกเขตพื้นที่การศึกษาเฝ้าระวังโดยเฉพาะโรงเรียนพื้นที่เสี่ยง ประสานกับหน่วยงานความมั่นคง และให้เขตพื้นที่การศึกษาที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือโดยด่วน

สำหรับสภาพความเสียหายของโรงเรียนต่างๆ สพฐ.ได้รายงานว่า

  • โรงเรียนบ้านกระเสาะ อ.มายอ อาคารเรียนสองชั้นเสียหายทั้งหลัง และอาคารร้านค้าเสียหายเล็กน้อย
  • โรงเรียนบ้านน้ำดำ อ.ทุ่งยางแดง อาคารเรียนได้รับความเสียหาย 2 หลัง
  • โรงเรียนบ้านเขาดิน อ.ทุ่งยางแดง อาคารเรียนได้รับความเสียหาย 1 หลัง
  • โรงเรียนบ้านมะนันยง อ.ทุ่งยางแดง อาคารเรียนได้รับความเสียหาย 2 หลัง
  • โรงเรียนบ้านปากู อ.ทุ่งยางแดง อาคารเรียนได้รับความเสียหาย 1 หลัง
  • โรงเรียนตือเบาะ อ.ทุ่งยางแดง อาคารโรงครัวได้รับความเสียหาย 1 หลัง

จึงได้สั่งการให้ สพฐ. เร่งจัดสรรงบประมาณเบื้องต้นให้โรงเรียนดังกล่าวโรงละ 4 แสนบาท เพื่อจัดหาวัสดุ อุปกรณ์ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ สื่อการเรียนการสอน ให้ทันก่อนเปิดเทอม รวมทั้งดำเนินการซ่อมแซมอาคารเรียนที่เสียหาย จัดอาคารชั่วคราว/น็อคดาวน์ หรือเต็นท์ตามความเหมาะสม เพื่อให้นักเรียนได้มีที่เรียนก่อน พร้อมทั้งให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดเจ้าหน้าที่ส่วนกลางลงไปช่วยเหลือ เร่งดำเนินการจัดสร้างอาคารเรียนใหม่ทดแทน เช่น ประสานกับหน่วยทหารช่าง เพื่อให้การก่อสร้างดำเนินการได้โดยเร็ว นอกจากนี้ สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เช่น สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน พร้อมให้การสนับสนุนในการเข้าไปช่วยเหลือซ่อมแซมก่อสร้างอาคารเรียนที่ได้รับความเสียหายในครั้งนี้ด้วย

ย้ำว่าแนวทางปฏิบัติในการระวังป้องกัน ถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างฝ่ายความมั่นคงและโรงเรียน ซึ่งได้ประสานกับหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ให้ดูแลมากขึ้น สำหรับโรงเรียนอื่นๆ จะให้หน่วยงานความมั่นคง โดยเฉพาะทหาร ตำรวจ และชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ช่วยเฝ้าระวัง ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ต้องขอความร่วมมือจากชุมชนในพื้นที่ให้ช่วยกันเป็นหูเป็นตา หากได้รับข่าวหรือพบสิ่งบอกเหตุก็ขอให้แจ้งหน่วยงานความมั่นคงหรือผู้ที่เกี่ยวข้องให้รับทราบล่วงหน้า

นอกจากนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องนอกเหนือการควบคุม หากมีการเฝ้าระวังที่ดี เหตุการณ์ก็จะเกิดขึ้นได้ยาก ต้องช่วยกัน เพราะไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นนานแล้ว จึงอาจมีการปล่อยปละละเลย ดังนั้นทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบก็ต้องช่วยกันดูแลด้วย

นวรัตน์ รามสูต

บัลลังก์ โรหิตเสถียร

สรุป/รายงาน

Published 13/10/2557

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ