ดร.สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า การจัดทำโครงการศึกษาเตรียมความพร้อมของภาคอุตสาหกรรมไทยสำหรับการจัดทำหุ้นส่วนเศรษฐกิจในภูมิภาค หรือ Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP จัดทำขึ้นโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งในขณะนี้กำลังอยู่ระหว่าง การเจรจา โดย RCEP เป็นกรอบความร่วมมือที่ครอบคลุมประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และประเทศ ในภูมิภาคอีก 6 ประเทศ ประกอบด้วย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย ซึ่ง RCEP เป็นกรอบ ที่มีนัยต่อภาคอุตสาหกรรมไทยเป็นอย่างมาก ทั้งการเป็นตลาดส่งออกที่มีศักยภาพ มีส่วนช่วยทำให้ผู้ประกอบการภายในประเทศสามารถนำเข้าวัตถุดิบต่างๆ ได้ในราคาที่ถูกลง และห่วงโซ่การผลิตมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเอื้อให้การเปิดตลาดสินค้าเป็นไปได้อย่างดียิ่งขึ้น และ RCEP ยังเป็นอภิมหาเอฟทีเอ (Mega FTA) เดียวที่รวมตลาดใหญ่อย่างจีนและอินเดีย
อย่างไรก็ตาม RCEP เป็นความตกลงเขตการค้าเสรีซ้อนความตกลงการค้าเสรีเดิมที่มีอยู่แล้ว ดังนั้น ผลประโยชน์สุทธิจึงขึ้นอยู่กับเงื่อนไขว่าสินค้าที่ยังไม่มีการเปิดเสรีในความตกลงเดิมมีมากน้อยเพียงใด และประเทศสมาชิกใน RCEP พร้อมจะเปิดมากน้อยแค่ไหน เงื่อนไขว่าการเปิดเสรีที่ผ่านมามีปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ในทางปฏิบัติมากน้อยเพียงใด และกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดใหม่ใน RCEP ช่วยอำนวยความสะดวกในการเปิดตลาดเพิ่มและสุดท้าย คงต้องพิจารณาการเปิดเสรีด้านอื่นๆ ที่คาดว่าจะเป็นประโยชน์แก่ไทย อาทิ การเปิดเสรีทางการลงทุน เป็นต้น
เพื่อให้เข้าใจถึงแนวโน้มการเจรจาในกรอบ RCEP ที่จะเกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องพิจารณาประสบการณ์ที่ผ่านมาทั้งในแง่ยุทธศาสตร์การใช้มาตรการภาษีของประเทศต่างๆ และกลยุทธ์การเปิดเสรีใน FTA ซึ่งประเทศสมาชิกต่างๆ มีกลยุทธ์การเปิดเสรีที่หลากหลายขึ้นอยู่กับมาตรการภาษีในประเทศต่างๆ
นอกจากนี้ นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า โครงการศึกษาในครั้งนี้ ครอบคลุมทั้งมุมมองมหภาคและการวิเคราะห์รายสาขาจำนวน 10 อุตสาหกรรมประกอบด้วย ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูป สิ่งทอและเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ อัญมณี ปิโตรเคมี และเหล็ก โดยผลการศึกษาพบว่า ผลกระทบของ RCEP มีความแตกต่างจากกรอบเอฟทีเออื่นๆ คือ RCEP เป็นกรอบเอฟทีเอซ้อนกรอบเอฟทีเอเดิม ดังนั้น ผลกระทบจาก RCEP จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสาขานั้นๆ เรายังไม่มีการเปิดเสรีในกรอบเอฟทีเอก่อนหน้า และกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดใหม่ ใน RCEP ช่วยอำนวยความสะดวกในการเปิดตลาดเพิ่ม
ในบรรดา 10 สาขาการผลิต พบว่ามี 7 สาขาที่น่าจะได้รับผลกระทบทางบวกจากการเปิดตลาดตามกรอบ RCEP ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูป สิ่งทอและเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ อัญมณี และ ปิโตรเคมี อย่างไรก็ตาม ผลกระทบทางบวกที่อาจมีไม่มากนัก ส่วนหนึ่งเพราะกรอบเอฟทีเอก่อนหน้าได้เปิดเสรีและ มีผลบังคับไปแล้ว ในขณะที่อีก 3 สาขาได้แก่ ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเหล็ก ผลกระทบของ RCEP ขึ้นอยู่กับท่าทีการเจรจา ในส่วนของยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า จุดสนใจอยู่ที่การเปิดตลาดกับจีนซึ่งเป็นทั้งคู่แข่งและตลาดที่มีศักยภาพซึ่งที่ผ่านมาไทยและจีนต่างกลัวที่จะเปิดตลาดให้แก่กัน อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ความสามารถ ในการแข่งขันและปัจจัยแวดล้อมในโลก ผลการวิจัยเชื่อว่า หากมีการเปิดตลาดอย่างเต็มที่ในกรอบ RCEP ใน 2 สาขาการผลิตนี้จริง การค้าไทยกับจีนจะเกิดขึ้นแบบ 2 ทิศทาง (Two-way Trade) กล่าวคือ ไทยส่งออกสินค้าไปจีนเพิ่มมากขึ้น และขณะเดียวกันจีนก็ส่งสินค้ามาจำหน่ายในไทยเพิ่มขึ้นด้วย แต่โดยสุทธิประเทศไทยน่าจะได้รับผลประโยชน์จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นและการปรับยุทธศาสตร์การลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ
ในส่วนของอุตสาหกรรมเหล็ก แม้ดูผิวเผินการเปิดเสรีน่าจะมีผลกระทบทางลบต่อผู้ผลิตภายในประเทศ แต่ ที่ผ่านมาเรามีการเปิดเสรีตามกรอบเอฟทีเออื่นๆ ไปแล้ว โดยเฉพาะการเปิดเสรีกับจีนผ่านกรอบเอฟทีเออาเซียน-จีน ที่จะมีผลบังคับใช้ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ดังนั้น หากมีการเปิดตลาดอย่างเต็มที่ในกรอบ RCEP ผลกระทบที่เพิ่มขึ้นคงมี ไม่มากนัก ในทางกลับกันเนื่องจาก RCEP รวมประเทศผู้ผลิตและส่งออกเหล็กสำคัญๆ ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และจีน ผลบวกต่อการจัดหาเหล็กพื้นฐานที่นำมาใช้ในการผลิตต่อเป็นผลิตภัณฑ์น่าจะทำได้ดีขึ้น และการปฏิบัติตามกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดของผู้ประกอบการภายในประเทศก็จะทำได้ดียิ่งขึ้นอีก
อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวทางการใช้ประโยชน์โดยรวม ประกอบด้วย การกำหนดท่าทีการเปิดเสรีที่มีสาขา การผลิตเป็นตัวตั้งเพื่อสร้างความชัดเจนแก่ผู้ประกอบการในการบริหารจัดการ การเผยแพร่ผลการประชุมให้ผู้ประกอบการรับทราบเพื่อเตรียมหาแนวทางการใช้ประโยชน์ การจัดทำแผนปฏิรูปโครงสร้างภาษีศุลกากรทั้งระบบเพื่อให้สอดคล้องกับข้อผูกพันการเปิดเสรีต่างๆ ที่ได้ดำเนินการผ่านการทำความตกลงเขตการค้าเสรีต่างๆ และเพื่อให้แน่ใจว่าผลประโยชน์สุทธิในการเปิดเสรีตกแก่ผู้บริโภคภายในประเทศอย่างแท้จริง การจัดเตรียมข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการออกไปลงทุนในต่างประเทศและเผยแพร่แก่ผู้ประกอบการ การเตรียมความพร้อมในการตอบสนองต่อมาตรการ ที่มิใช่ภาษีศุลกากร ตลอดจนการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานภาครัฐ ในการติดตามปัญหาการทุ่มตลาดและ การอุดหนุนการส่งออก และการยกระดับความสามารถในการแข่งขันผ่านการเตรียมความพร้อมในเรื่องบริการโครงสร้างพื้นฐาน
ที่มา: http://www.thaigov.go.th