รมว.วท.ร่วมสนทนาพิเศษ ในงานแถลงข่าวรางวัล"นักเทคโนโลยีดีเด่น และนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ประจำปี พ.ศ.2557

ข่าวทั่วไป Tuesday October 14, 2014 17:54 —สำนักโฆษก

วันนี้ 13 ตุลาคม 2557 เวลา 09.20 น. ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เกียรติเข้าร่วมงานแถลงข่าวรางวัล "นักเทคโนโลยีดีเด่น และนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี 2557 และร่วมสนทนาพิเศษในหัวข้อ “วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อนำพาไทยออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง” พร้อมด้วย รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ประธานกรรมการรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานในการประกาศผลรางวัล "นักเทคโนโลยีดีเด่น และนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ ประจำปี 2557" ณ ห้องกมลทิพย์บอลรูม โรงแรมสุโกศล ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือ ต้องการเผยแพร่ผลงานวิจัยที่ได้รับการยกย่องดีเด่นในทุกๆชิ้นงาน เพื่อให้เป็นที่ประจักษ์ในวงกว้างผ่านสื่อมวลชนทั้งหลาย และต้องการเชิดชูเกียรตินักเทคโนโลยีไทยที่มีผลงานดีเด่นระดับประเทศซึ่งจะเป็นแรงผลักดันให้กับนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ๆได้ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาประเทศชาติสืบต่อไป

ดร.พิเชฐ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 นายกรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภาว่ารัฐบาลได้ให้ความสำคัญด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศไทย ตามข้อ 8. ที่รัฐบาลบอกไว้ชัดเจนว่า เราจะวางรากฐานที่มั่นคงให้ยั่งยืนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยการผลักดันงานวิจัยที่เป็นส่วนสำคัญที่สามารถทำให้ประเทศไปต่อได้ ประกอบด้วย 2 ส่วนใหญ่ด้วยกัน คือ ด้านการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุน จากภาคเอกชนและผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) และด้านกำลังคนที่ในขณะนี้ประสบปัญหาอย่างมาก เนื่องจากคนเก่งคนมีความรู้จะรวมตัวกันอยู่ในมหาวิทยาลัยถึง 10,000 คนในขณะที่อยู่ในภาคเอกชนเพียง 700 คน การปรับสัดส่วนให้ผู้มีความรู้เข้าไปอยู่ในภาคเอกชนมากขึ้น จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ทำให้เทคโนโลยีของประเทศไทยพัฒนาได้เร็วยิ่งขึ้น

ดร.พิเชฐ ได้กล่าวอีกว่า “สิ่งที่คาดหวังไว้ คือ อยากให้คนเก่งช่วยกระจายข่าวเกี่ยวกับสิ่งที่น่าสนใจในการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงการนำข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์มาเผยแพร่สู่เยาวชนได้เข้าใจนอกจากนี้ เรามีคนเก่งอยู่เยอะ แต่อยู่กันกระจัดกระจายเกินไป เราตั้งเป้าหมายให้ในอีก 6 เดือน 12 เดือนข้างหน้า คนเก่งจะมารวมตัวกันตามสาขาความรู้ต่างๆ เพื่อสร้างประโยชน์แบบเป็นรูปธรรมให้ประเทศ และร่วมกันวาดอนาคตในอีก 5-10 ปี เราจะนำพาประเทศไทยไปอยู่ในทิศทางใด”

รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ประธานกรรมการรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยถึงการจัดให้มีการมอบรางวัล “นักเทคโนโลยีดีเด่น” และรางวัล “นักเทคโนโลยีรุ่นใหม่”ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ว่า เพื่อให้คนในสังคมไทยตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีควบคู่ไปกับวิทยาศาสตร์ และหวังว่ารางวัลอันทรงเกียรตินี้ จะเป็น“แรงกระตุ้น”ให้นักวิจัยไทยมีกำลังใจในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆของประเทศ รวมถึงเป็นเป้าหมายให้เยาวชนไทยมุ่งพัฒนาตนให้เป็นกำลังสำคัญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศต่อไปในอนาคต

รศ.ดร.ศักรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การผงาดตัวจากประเทศรายได้ปานกลาง(Middle Income Trap) ขึ้นมาเป็นประเทศฐานะร่ำรวยและดีดตัวหลุดพ้นจากกับดักได้สำเร็จ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันโดยเน้น“การสร้างสมรรถนะและความสามารถของประเทศ” โดยเฉพาะตอบโจทย์ภาคการผลิตในธุรกิจ SME ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 90% ของประเทศที่อยู่ในรูปแบบของเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการบริการ ซึ่งนอกจากการสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนที่จะเอื้อต่อการพัฒนาSME ของไทยแล้ว การผลิตงานวิจัยสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อให้ตอบโจทย์ภาคการผลิตของธุรกิจ SME เป็นสิ่งสำคัญอีกประเด็นที่ผู้เกี่ยวข้องไม่ควรมองข้าม

ทั้งนี้ ปัญหาหลักของภาคการผลิตของไทยในปัจจุบันคือ การขาดหน่วยงานบริการด้านองค์ความรู้ที่เข้มแข็งเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ภาคธุรกิจต่างๆ รวมถึงการผลิตนวัตกรรมที่สามารถลดต้นทุนและส่งเสริมผลิตภาพ(Productivity)ภายใต้แบรนด์นักวิจัยไทย ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ทำให้เกิดความเข้มแข็งในทุกภาคส่วนของการผลิตส่งผลให้เกิดการพัฒนาศักยภาพและสร้างทางรอดอันยั่งยืนในตลาดอาเซียนด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น การมอบรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นและนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ จึงเป็นแรงผลักดันอีกช่องทางหนึ่งที่ต้องการขับเคลื่อนงานวิจัยให้มีบทบาทในยุทธศาสตร์การสร้างสมรรถนะและความสามารถของประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้นักวิจัยมีเป้าหมายในการทำงานมากยิ่งขึ้นโดยมีความเป็นเลิศในงานวิจัยทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ

สำหรับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ประจำปี 2557ประเภทกลุ่ม ได้แก่ดร.วารินทร์ ธนาสมหวัง ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการประมงและคณะกรมประมงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งนำเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเพื่อความมั่งคงและความปลอดภัยทางด้านอาหารเข้ามาใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาเทคนิคการเพาะเลี้ยงต้นแบบกลุ่ม“ปลากะรัง” 3 ชนิด ได้แก่ ปลากะรังจุดฟ้า ปลากะรังเสือ และปลาหมอทะเล เพื่อให้มีอัตราการรอดตายสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรลดปริมาณนำเข้าลูกพันธุ์จากต่างประเทศ หลังพบว่าปลาในกลุ่มนี้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจและเป็นที่นิยมในตลาดประเทศค่อนข้างสูง ส่วนรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ประจำปี 2557ประเภทบุคคล ได้แก่ รศ.ดร.เจษฎา วรรณสินธุ์ ภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และวัสดุ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยนำเทคโนโลยีการหล่อโลหะแบบสเลอร์รี่ซึ่งเป็นกระบวนการหล่อโลหะที่ช่วยลดปัญหาเรื่องอายุแม่พิมพ์และเวลาที่ใช้ในการผลิตน้อยลง เพื่อตอบโจทย์ในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมของเล่นซึ่งการนำเทคโนโลยีการหล่อโลหะแบบสเลอร์รี่มาใช้ในอุตสาหกรรมโลหะจะช่วยลดต้นทุนการผลิตให้แก่โรงงานไม่ต่ำกว่า 10 % โดยเทคโนโลยีดังกล่าวได้มีการนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์และส่งออกไปยังต่างประเทศด้วย

ขณะที่รางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ประจำปี 2557 ประเภทบุคคล ได้แก่ 1.ดร.ปราการเกียรติ ยังคง สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จากผลงานวิจัยเรื่อง SensibleTABหุ่นยนต์ฟื้นฟูการเคลื่อนไหวแขนและ 2.ดร.บรรพท ศิริเดชาดิลก หน่วยเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติจากผลงานวิจัยเรื่องวิธีการสร้างไวรัสจำพวก positive-sense RNA ที่ง่ายและเพิ่มประสิทธิภาพในการวิเคราะห์ทางพันธุกรรม

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.ศักรินทร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การก้าวกระโดดขึ้นเป็นผู้นำในแวดวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือการนำยุทธศาสตร์และองค์ความรู้ของนักวิจัยที่มีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ในการตอบโจทย์ความต้องการของทิศทางการเคลื่อนไหวในตลาดโลกมาใช้ในเชิงพาณิชย์ให้ได้มากที่สุดอันเป็นการส่งเสริมSMEไทยและภาคการผลิตให้ก้าวเข้าสู่ตลาดการแข่งขันทางการค้าอย่างแข็งแรงได้ รวมทั้งการที่ทุกฝ่ายช่วยกันเสริมจุดอ่อนให้กลายเป็นจุดแข็งซึ่งสิ่งที่จะตามมาคือการเกิดความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยและการดีดตัวหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้สำเร็จ.

เผยแพร่ข่าวโดย : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ