รมว.ศธ.กล่าวว่า คณะกรรมการชุดนี้ถือเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดมาตรฐานและวางแผนพัฒนาหลักสูตรการศึกษาเอกชน ส่งเสริมสนับสนุนโรงเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งเสนอกฎหมาย กฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศ ที่จะเป็นกลไกขับเคลื่อนการศึกษาเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม และพัฒนาการศึกษาเอกชนให้มีความเข้มแข็ง มีคุณภาพมาตรฐาน เพราะหากการศึกษาเอกชนจัดได้ดี มีคุณภาพ ก็จะสามารถช่วยลดภาระของภาครัฐได้เป็นอย่างมาก
การประชุมครั้งนี้ ได้เห็นชอบ 3 หลักเกณฑ์ฯ ในการให้เงินอุดหนุนแก่โรงเรียนเอกชน ดังนี้
เห็นชอบหลักเกณฑ์ฯ การให้เงินอุดหนุนเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
ที่ประชุมเห็นชอบ ร่างประกาศ กช. เรื่องหลักเกณฑ์วิธีการให้เงินอุดหนุนเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งฝ่ายสังคมจิตวิทยา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เห็นชอบการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2556-2557 โครงการจัดซื้อแท็บเล็ตของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เป็นโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
หลักเกณฑ์ดังกล่าวจะเป็นการจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่โรงเรียนที่เปิดสอนระดับประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษาตอนต้น หรือทั้งสองระดับที่มีระบบประกันคุณภาพภายใน แต่ขาดแคลนครุภัณฑ์และอุปกรณ์ ได้จัดซื้อเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อประโยชน์ในการเรียนการสอน โดย สช.จะได้กำหนดคุณลักษณะเฉพาะและราคากลางของครุภัณฑ์/อุปกรณ์ เพื่อให้โรงเรียนต่างๆ สามารถยื่นขอรับเงินอุดหนุนต่อสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหรือ สช. จังหวัดได้
การจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในครั้งนี้ ไม่ได้จัดหาเพื่อแจกแก่นักเรียน แต่ใช้เป็นส่วนกลางของโรงเรียน จึงควรคำนึงถึงประโยชน์ที่จะได้รับและความคุ้มค่ากับงบประมาณ รวมทั้งมีความโปร่งใสในการดำเนินการ ซึ่ง สพป./สช.จังหวัด จะเป็นหน่วยงานหลักที่จะต้องดำเนินการตรวจติดตามและประเมินผลการจัดซื้อของโรงเรียน
เห็นชอบหลักเกณฑ์ฯ การให้เงินอุดหนุนโครงการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในโรงเรียนเอกชน
ที่ประชุมเห็นชอบ ร่างประกาศ กช. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการให้เงินอุดหนุนโครงการขยายผลการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในโรงเรียนเอกชน โดยมีสาระสำคัญคือ โรงเรียนที่จะได้รับเงินอุดหนุนจะต้องเป็นโรงเรียนที่เปิดสอนไม่เกินระดับประถมศึกษาและมีนักเรียนไม่เกิน 120 คน และเป็นโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์จัดการศึกษาเพื่อผู้ยากไร้โดยไม่เก็บค่าธรรมเนียมการศึกษา เช่น โรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจน โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ โรงเรียนการกุศลของวัด โรงเรียนการศึกษาพิเศษหรือการศึกษาสงเคราะห์ ฯลฯ
เห็นชอบหลักเกณฑ์ฯ การขอรับเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนที่ประสบภัยพิบัติ
ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการ ร่างประกาศ กช. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการขอรับเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนที่ประสบภัยพิบัติ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่อาคารเรียน อาคารประกอบ หรือสถานที่ใช้สำหรับจัดการเรียนการสอน อุปกรณ์และครุภัณฑ์ทางการศึกษา โดยโรงเรียนที่จะได้รับการอุดหนุนคือ เป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติจากทางราชการ และอาคารเรียน หรืออาคารประกอบ หรือสถานที่ที่ใช้สำหรับจัดการเรียนการสอน รวมทั้งอุปกรณ์และครุภัณฑ์ได้รับความเสียหาย จากเหตุแผ่นดินไหว อุทกภัย วาตภัย
ทั้ง 3 หลักเกณฑ์ฯ ดังกล่าว ได้กำหนดเงื่อนไขว่าโรงเรียนจะต้องการนำเงินไปใช้ตามวัตถุประสงค์และแผนการดำเนินงาน หากโรงเรียนใดมีการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนผิดพลาด หรือโดยไม่มีสิทธิ หรือทำการทุจริต ในการขอรับเงินอุดหนุนทั้ง 3 หลักเกณฑ์ดังกล่าว จะต้องถูกเรียกเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ต่อปี และถูกดำเนินคดีอาญาและคดีอื่นตามที่กฎหมายกำหนดแก่ผู้กระทำความผิดด้วย
รับทราบโครงการสำคัญที่ร่วมขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล/รมว.ศธ.
ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานขับเคลื่อนการศึกษาเอกชน ตามนโยบายของรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีสาระสำคัญสรุป ดังนี้
นโยบายปีการศึกษา 2556 “ปีแห่งการเพิ่มคุณภาพการศึกษาเอกชน” โดยมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น
1) ด้านภาษาอังกฤษ มีนักเรียน ป.4 ร้อยละ 81.19 ผ่านการทดสอบการสื่อสารภาษาอังกฤษ
2) ด้านคณิตศาสตร์ นักเรียนชั้น ป.6 ร้อยละ 12.86 มีคะแนน O-Net วิชาคณิตศาสตร์สูงขึ้น นักเรียนชั้น ม.3 ร้อยละ 15.71 มีคะแนน O-Net วิชาคณิตศาสตร์สูงขึ้น และนักเรียน ม.6 ร้อยละ 33.80 มีคะแนน O-Net วิชาคณิตศาสตร์สูงขึ้น
3) ด้านกระบวนการคิด โรงเรียนเอกชน ร้อยละ 97.77 สามารถนำนวัตกรรมการเรียนการสอนมาใช้อย่างเหมาะสม และนักเรียนช่วงชั้นที่ 1-4 ผ่านการทดสอบ Mind map และมีทักษะการคิดวิเคราะห์ มากกว่าร้อยละ 90
นโยบายปีการศึกษา 2557 “ปีแห่งการยกระดับคุณภาพผู้เรียนให้เป็นคนเก่ง สร้างสังคมดี” สช.ได้กำหนดเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียน 2 ประการ คือ 1) มีทักษะการสื่อสารภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ สามารถนำไปใช้ได้จริง 2) มีทักษะการคิดวิเคราะห์ คิดวิพากษ์ และคิดสร้างสรรค์อย่างเหมาะสมตามระดับชั้นและประเภทของการศึกษา
โดยกำหนดตัวชี้วัดไว้ดังนี้
- นักเรียนชั้น ป.3 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 อ่าน-เขียนภาษาไทยคล่อง
- นักเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 มีระดับความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษเทียบเท่า หรือสูงกว่ากรอบมาตรฐานความสามารถทางภาษาอังกฤษที่เป็นสากล (The Common European Framework of Reference for Languages : CEFR)
- นักเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ในโรงเรียนที่เปิดสอนภาษาจีน มีระดับความสามารถในการใช้ภาษาจีนเทียบเท่าหรือสูงกว่ากรอบมาตรฐานสากล (Youth Chinese Test : YCT)
- นักเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ คิดวิพากษ์ คิดสร้างสรรค์ หรือนำเสนอนวัตกรรมของตนเองได้
- นักเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 สามารถเขียน Mind Map ของตนเองได้
- คะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของโรงเรียน ปีการศึกษา 2557 ระดับ ป.6 ม.3 หรือ ม.6 สูงขึ้น
- โรงเรียนจัดโครงการ/กิจกรรมทำความดีเพื่อสาธารณประโยชน์ กิจกรรมเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ
โครงการส่งเสริมและพัฒนาโรงเรียนเอกชนให้มีคุณภาพสู่มาตรฐานสากล โดยกำหนดเป้าหมายโรงเรียนที่ผ่านเกณฑ์การประเมินคุณภาพภายนอกระดับดี ในปีงบประมาณ 2558 จำนวน 100 โรง
การพัฒนาคุณภาพและปรับภาพลักษณ์ การอาชีวศึกษาเอกชน มีแนวทางขับเคลื่อนหลายโครงการ เช่น 1) โครงการอาชีวะเอกชน สร้างคนสร้างชาติโดยจัดกิจกรรมอาสาบริการชุมชนทั่วประเทศ เช่น ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ปลูกป่า สร้างฝาย บริจาคโลหิต รวม 45 ครั้ง มีนักเรียนนักศึกษาเข้าร่วมกว่า 6,000คน 2) พัฒนาระบบทวิภาคีของการอาชีวศึกษาเอกชน 3) การปลูกฝังค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ 4) การปรับปรุงเงินอุดหนุนรายหัว
รมว.ศธ. กล่าวถึงการปรับภาพลักษณ์อาชีวศึกษาว่า ขณะนี้มีนักเรียนมาเรียนอาชีวะจำนวนน้อย จึงต้องการส่งเสริมสนับสนุนให้มีนักเรียนมาเรียนมากขึ้น โดยตั้งใจที่ใช้แนวคิด “อาชีวะสร้างชาติ” ในการปรับภาพลักษณ์ และเพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองมีสบายใจและไว้วางใจที่จะส่งบุตรหลานมาเรียนมากขึ้น ทั้งนี้ จะเร่งดำเนินการส่งเสริมให้ผู้จบอาชีวศึกษาได้ฝึกงานในสถานประกอบเพื่อเพิ่มทักษะการเรียนรู้จากการทำงานจริง ได้ทำงานและมีรายได้ขณะฝึกงานหรือทันทีเมื่อจบการศึกษา โดยจะร่วมมือกับภาคเอกชนในการดำเนินงานระบบทวิภาคีอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนถึงเพิ่มแรงจูงใจ/รายได้ให้สูงขึ้น และเพิ่มโอกาสการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นในระหว่างการทำงาน
นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
Published 14/10/2557
ที่มา: http://www.thaigov.go.th