สำหรับโครงการที่จะให้ความสำคัญเป็นพิเศษในปีงบประมาณ พ.ศ.2558 เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลคือการจัดรูปที่ดินเพื่อการพัฒนาพื้นที่ร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อให้มีระเบียบ สวยงาม มีระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ที่ได้มาตรฐานและเพียงพอโดยไม่ต้องเวนคืนที่ดิน โดยจะดำเนินการในพื้นที่ 10 จังหวัด คือ ยโสธร เลย ชัยนาท เพชรบูรณ์ (เฟส2) ระนอง มุกดาหาร ชัยภูมิ ชุมพร ระยอง และมหาสารคาม
นอกจากนี้จะใช้มาตรการด้านผังเมือง เพื่อสนับสนุนการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย โดยกำหนดรายละเอียดในการควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน ป้องกันการขยายตัวของเมืองในบริเวณพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย พื้นที่รับน้ำและพื้นที่ต่ำ อีกทั้งจะมีการปรับปรุงผังเมืองรวมให้สอดคล้องกับการลงทุนด้านคมนาคมขนส่ง ทั้งรถไฟรางคู่ รถไฟฟ้า มอเตอร์เวย์ ท่าเรือ ท่าอากาศยาน และวางผัง ออกแบบพัฒนาเมืองศูนย์กลางคมนาคมขนส่ง ตลอดจนเมืองใหม่ที่จะเกิดขึ้นจากการลงทุนด้านคมนาคมขนส่ง และร่วมกับกรุงเทพมหานคร/จังหวัดปริมณฑลดำเนินโครงการวางแผนและจัดทำผังภาคกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อลดความขัดแย้ง รองรับการพัฒนาด้านคมนาคมขนส่งและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเหมาะสมด้วย
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อไปว่า เรื่องที่จะเน้นหนักอีกประการหนึ่งคือ การวางผังเมืองเพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจที่เป็นประตูการค้าเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนและการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 12 แห่ง โดยเฉพาะพื้นที่ในระยะแรก 5 แห่ง คือ อ.แม่สอด จ.ตาก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว อ.คลองใหญ่ จ.ตราด อ.สะเดา จ.สงขลา และ อ.เมืองมุกดาหาร จ.มุกดาหาร นอกจากนี้จะได้เร่งรัดการวางและปรับปรุงผังเมืองรวมเมือง/ชุมชน ในพื้นที่ชุมชนชายแดนที่มีจุดผ่านแดนทั่วประเทศ อีกทั้งจะมีการดำเนินการศึกษาและออกแบบวางผังพื้นที่เฉพาะชุมชนชายแดนเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการค้าการลงทุน จัดระเบียบพื้นที่ชุมชน และส่งเสริมความมั่นคงของประเทศอีกจำนวน 20 แห่ง อาทิ ด่านถาวรภูดู่ จ.อุตรดิตถ์ บ้านริมเมย จ.ตาก บ้านเหล่าเจ้าจอมมณี จ.หนองคาย ช่องสะงำ จ.ศรีสะเกษ ด่านตากใบ จ.นราธิวาส เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล เป็นต้น
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ยังกล่าวด้วยว่า กระทรวงมหาดไทยได้เน้นย้ำให้ท้องถิ่นต่างๆ ใช้กฎหมายควบคุมอาคารอย่างเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัยของประชาชน อีกทั้งมีนโยบายที่จะปรับปรุงการวางผังเมืองรูปแบบใหม่ โดยเน้นการชี้นำและส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่เป็นหลัก ปรับปรุงข้อกำหนดให้ยืดหยุ่นมากขึ้น สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและกายภาพของพื้นที่ เชื่อมโยงการวางผังเมืองทุกระดับและโครงการพัฒนาเมืองต่างๆ ให้เป็นระบบและสอดคล้องกัน สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม คุมเข้มพื้นที่ที่ความอ่อนไหวต่อการพัฒนา เช่น พื้นที่ป่าไม้ พื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่โบราณสถาน รวมทั้งเพิ่มกลไกให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องตลอดกระบวนการ และสร้างความเข้าใจ เข้าถึง การยอมรับและการมีส่วนร่วมของประชาชน
ที่มา: http://www.thaigov.go.th