ประเด็นการแถลงข่าว เกิดจากที่รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และงานวิจัยต่างๆ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญระดับประเทศ จึงได้เร่งมือให้การสนับสนุนงานวิจัยที่เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด เพื่อให้ฐานรายได้ของประชาชนเพิ่มขึ้นจากระดับปานกลางปรับเป็นระดับที่สูงขึ้น โดยนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ รวมถึงประเทศไทยในอนาคตจะมีจำนวนนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ มากขึ้นจากเดิม ความร่วมมือในครั้งนี้นับเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญด้านวิทยาศาสตร์สาขาสุขภาพและการแพทย์ โดยการนำจุดเด่นและศักยภาพของแต่ละหน่วยงานมาบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และมหาวิทยาลัย ซึ่งจะนำไปสู่โครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจน มีประสิทธิภาพ และน่าเชื่อถือได้ เนื่องจากในปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วโลกมีจำนวนกว่า 382 ล้านคนและผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานประมาณ 280 ล้านคน และคาดการณ์ว่าในปีพ.ศ.2578 จะมีผู้ป่วยโรคเบาหวานเพิ่มมากขึ้นถึง 592 ล้านคน ซึ่งสัดส่วนหลักของโรคไม่ติดต่อสูงถึง 40% สำหรับประเทศไทย ข้อมูลปี พ.ศ.2556 ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีประมาณ 698,720 คน คิดเป็นอัตราการป่วยด้วยโรคเบาหวาน 1,054.25 คน ต่อประชากรแสนคน ซึ่งโรคเบาหวานไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนมากมักจะพึ่งพาการเข้ารับการรักษาจากสถานพยาบาลมากกว่าการพึ่งพาตนเอง
โครงการนำร่องภายใต้ความร่วมมือนี้ เริ่มจากการพัฒนาและสร้างเครื่องตรวจวัดระดับฮีโมโกลบินเอวันซี (HbA1c) ที่เป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญของโรคเบาหวาน เนื่องจากพบว่า โรคเบาหวาน (Diabete Millitus, DM) เป็นโรคที่ก่อให้เกิดปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของโลก การพัฒนาและสร้างผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมเซ็นเซอร์ชีวการแพทย์ (Biomedical Sensors) เป็นการผลิตเครื่องมือตรวจวัดระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือด HbA1c แบบพกพา (ขนาดเล็ก) ที่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตนเองได้ จากการใช้เครื่องมือดังกล่าว ช่วยวัดผลการตรวจกรองและติดตามผลการรักษาที่ผ่านการรับรองมาตรฐานทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยสามารถนำมาใช้ในการตรวจวัดระดับฮีโมโกลบินเอวันซี Haemoglobin A1c เพื่อประเมินภาวะแทรกซ้อนและความสามารถของผู้ป่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลของผู้ป่วยโรคเบาหวานผ่านแอพพลิเคชั่นโทรศัพท์ทั้งในระบบ IOS และ android
ทั้งนี้ ยังได้คาดการณ์ไว้ว่าเครื่องมือตรวจวัดระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือด (HbA1c) แบบพกพา จะเป็นเครื่องมือที่สามารถลดการนำเข้าและพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและภาครัฐด้านสาธารณสุขได้ เนื่องจากราคาของเครื่องมือดังกล่าว ที่คาดการณ์ไว้ประมาณเครื่องละไม่เกิน 3,000 บาท ทั้งยังสามารถสร้างผู้ประกอบการธุรกิจในประเทศไทยโดยการถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีให้มีศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านเซ็นเซอร์ชีวการแพทย์นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข่าวโดย : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์
ภาพข่าวและวีดิโอโดย : นายรัฐพล หงสไกร และ นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์
เผยแพร่โดย : นางสุนิสา ภาคเพียร นาวงษ์
ที่มา: http://www.thaigov.go.th