วันนี้ (16 ต.ค.57) เวลา 14.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ครั้งที่ 3/2557 โดยมี นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม ภายหลังการประชุม รองนายกรัฐมนตรีได้แถลงผลการประชุม สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์สต็อกยางส่วนที่เหลือของโลกลดลง โดยเมื่อเดือนกันยายน ปี 56 มีสต็อกยางที่ 2.9 ล้านตัน ขณะที่กันยายนปีนี้อยู่ที่ 2.3 -2.5 ล้านตัน และสต็อกยางของไทยก็ลดลงจากกันยายน 56 ที่ 503,000 ตันมาอยู่ที่ 447,000 ตันในปีนี้ ซึ่งสต็อกยางที่ลดลงมีผลให้ราคายางในตลาดเพิ่มขึ้น โดยราคายางล่วงหน้าที่ตลาดโตเกียวเพิ่มจาก 52.78 บาท เป็น 56.48 บาทต่อกิโลกรัม (ก.ก.) ตลาดล่วงหน้าที่สิงคโปร์เพิ่มจาก 49.60 บาท เป็น 51.70 บาทต่อ ก.ก. ตลาดล่วงหน้าของไทย หรือ AFET ราคาเพิ่มจาก 52.30 บาท เป็น 54.80 บาทต่อ ก.ก.และราคาที่สถาบันวิจัยยางเพิ่มจาก 49.60 บาท เป็น 51.70 บาทต่อ ก.ก. โดยเป็นราคายางแท่งเกรด 3 ดังนั้น จึงต้องใช้จังหวะที่ราคายางล่วงหน้าในตลาดโลกอยู่ในช่วงขาขึ้น ในการดึงราคายางในตลาดของไทยให้สูงขึ้น เพราะเมื่อกรอบราคาสูงขึ้นจะทำให้ดึงราคาขึ้นได้ง่าย โดยที่ประชุมได้สรุปมาตรการช่วยเหลือชาวสวนยางทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้นจะดำเนินการด้วยการซื้อยางจากชาวสวนยางเข้าสต็อกโดยตรงเพื่อไว้ขาย โดยจะใช้วงเงินมูลภัณฑ์กันชนที่มีอยู่แล้วที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. จำนวน 20,000 ล้านบาท ควบคู่กับการให้องค์การสวนยางเป็นผู้ซื้อยางจากตลาดและจากสหกรณ์ยางเพื่อมาขายให้รัฐเข้าสต็อกเช่นกัน
“ถามว่าทำไมเราถึงกล้าซื้อ ซื้อแล้วในที่สุดจะเป็นสต็อกค้างเหมือนอย่างที่ทำมาในอดีตหรือไม่ ให้สบายใจได้เลย ที่ออกไปกล้าไปซื้อ เพราะว่าเราได้ดำเนินการขายในลักษณะขายเพื่อส่งมอบในอนาคตแล้ว โดยจะส่งมอบได้ทุกเดือน ขณะนี้มียอดการสั่งซื้อมาแล้วทั้งเดือนหน้า เดือนถัดไปทุกเดือน เราถึงกล้าออกมาซื้อ รับรองว่าจะไม่เป็น Dead Stock เหลืออยู่” รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นอกจากการซื้อยางแผ่นแล้ว เพื่อจะเสริมให้ราคายางขึ้นไปอีกจะมีการซื้อน้ำยางไปทำน้ำยางข้น ซึ่ง 6 ธนาคารพาณิชย์ คือธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารทหารไทย และธนาคารธนชาติ ได้ตอบรับมาแล้วว่าพร้อมจะตั้งวงเงิน 10,000 ล้านบาทให้ธุรกิจน้ำยางข้นใช้สำหรับไปซื้อน้ำยางสดจากชาวสวน ซึ่งเมื่อซื้อทั้งยางแผ่น น้ำยางสด ทุกอย่าง จะทำให้ราคายางขึ้นพร้อมกันได้ ทั้งนี้ วงเงินดังกล่าวเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนปรน โดยรัฐบาลช่วยค่าชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ทั้งนี้ เชื่อว่าเมื่อทำตามมาตรการดังกล่าวในจังหวะที่ราคายางล่วงหน้าขึ้นไปรออยู่แล้ว ก็จะทำให้ราคายางสูงขึ้นได้
หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธรฯ กล่าวว่า ในปีนี้ราคายางต่ำมาก ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยที่มีสวนยางไม่เกิน 25 ไร่ค่อนข้างลำบาก รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยบ้าง ทั้งนี้ เกษตรกรสวนยางได้ร้องขอชดเชยค่าปัจจัยการผลิตไร่ละ 2,520 บาท ซึ่งได้พิจารณาแล้วเห็นว่าถ้าราคายางยังอยู่ที่ 45- 47 บาทต่อ ก.ก. ก็จะต้องช่วยเหลือในอัตรานั้น แต่ขณะนี้ได้มีแผนระยะสั้นที่จะค่อย ๆ ดึงราคายางให้ถึง 60 บาท ต่อ ก.ก.แล้ว และเชื่อว่าจะดึงให้ถึงได้ในเวลา 1-2 เดือน ดังนั้น จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องช่วยชดเชยค่าปัจจัยการผลิตไร่ละ 2,520 บาท โดยเมื่อคำนวณแล้วจะสามารถช่วยชดเชยได้ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเท่า ๆ กับที่ช่วยชาวนา จะใช้สูตรเดียวกันที่ไร่ละ 1,000 บาทสำหรับเกษตรกรรายย่อยจำนวนไม่เกิน 25 ไร่ และชดเชยให้สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาทต่อราย/ครัวเรือน เหมือนกับที่ช่วยเหลือชาวนา สำหรับวงเงินที่จะใช้ในการช่วยชดเชยเกษตรกรรายย่อยที่คำนวณไว้แล้วนั้นมีทั้งหมด 850,000 ราย จะใช้เงินประมาณ 8,500 ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มจ่ายได้ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ ขณะนี้ได้มีการขึ้นทะเบียนไว้แล้ว โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยในการตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงแผนระยะยาวที่ชาวสวนยางได้ขอมาหลายรัฐบาลแล้วว่า ขณะนี้ถึงเวลาที่จะต้องดำเนินการ คือในส่วนของการช่วยเหลือเกษตรกรสวนยางที่มีพื้นที่สวนเหลืออยู่ในปัจจุบันและมีต้นยางเก่าที่จำเป็นต้องโค่น ซึ่งเมื่อเกษตรกรโค่นต้นยางแล้วจะไม่ให้เกษตรกรปลูกยางใหม่ ก็ต้องมีวิธีการดึงดูดให้เกษตรกรสวนยางได้ทำอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ จึงจะมีโครงการสินเชื่อเพื่อปรับปรุงสวน หรือโครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพเสริม โดยใช้วงเงินสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. รวมจำนวน 10,000 ล้านบาท โดยเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยที่มีพื้นที่สวนไม่เกิน 15 ไร่ สามารถไปขอสินเชื่อที่ ธ.ก.ส. เพื่อทำอาชีพเสริมใหม่ได้ จะให้เกษตรกรสวนยางกู้ได้ไม่เกินรายละ 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนร้อยละ 5 ต่อปี โดยเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี รัฐชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ซึ่งหากมีเกษตรกรกู้เต็มวงเงินของโครงการจะทำให้มีเกษตรกรกู้ได้รวม 100,000 ราย แต่เมื่อคิดจากค่าเฉลี่ยที่เกษตรกู้จะอยู่ที่ประมาณรายละ 60,000 กว่าบาท ก็จะทำให้มีเกษตรกรกู้ได้ถึง 150,000 ราย ซึ่งจะสามารถช่วยให้เกษตรกรแก้ปัญหาระยะยาวได้ หากทำวิธีนี้ได้สำเร็จ เกษตรกรทั้ง 150,000 รายก็น่าจะทำต่อไปอีก โดยแผนนี้เกษตรกรเป็นผู้คิดและขอมาเพราะเกษตรกรอยากมีรายได้เพิ่มขึ้น
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า ระยะต่อไปจะมีมาตรการระยะยาวออกมาอีก สำหรับแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางลักษณะนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ช่วยกันคิดออกมาในวันนี้ หากทุกคนเห็นว่าดีก็ขอให้ช่วยกันสนับสนุนด้วย สำหรับการซื้อยางจะซื้อเพื่อดึงราคายางขึ้นให้ได้ จะซื้อตามกำลัง โดยขอให้ดูผลที่ออกมา ทั้งนี้ มูลภัณฑ์กันชนบรรพบุรุษแต่โบราณก็ได้ทำกันมาในอดีต เป็นการซื้อตอนที่ตลาดตกต่ำเพื่อดึงขึ้น แล้วขายตอนที่ตลาดสูง ที่จะซื้อเพราะเรามียอดสั่งซื้อแล้ว รู้ว่าจะขายได้เท่าไรถึงซื้อ ต้องเชื่อมือกันว่าทำเป็น และยอดสั่งซื้อนั้นคือจุดที่ทำให้เราสามารถลงไปช่วยชาวสวนด้วยวิธีนี้ได้
รองนายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติวันนี้ จะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาวจะเริ่มดำเนินการได้หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ พร้อมยืนยันว่ามาตรการดังกล่าวไม่ใช่นโยบายประชานิยม แต่เป็นการทำเพื่อให้ทุกอย่างเดินไปได้ เพื่อช่วยเหลือชดเชยให้กับเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อย
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th