ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รมช.ศธ. กล่าวแสดงความขอบคุณ บมจ.ปิโก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษาไทย สถานทูตฟินแลนด์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ร่วมกันจัดงานในปีนี้ ซึ่งมีส่วนทำให้การเรียนการสอนของไทยมีคุณภาพและวิชาชีพครูมีความเข้มแข็งมากขึ้น ภายในงานจะได้เห็นรูปแบบการจัดการเรียนการสอน ทั้งจากเอเชียตะวันออกที่มีรูปแบบการศึกษาที่ชัดเจน หรือจากฟินแลนด์ที่ให้นักเรียนมีส่วนร่วมมากกว่า
การจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ อยู่ในมือของนักการศึกษาและครูทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ปฏิรูป" การศึกษา เป็นสิ่งสำคัญ แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ "ปฏิวัติ" หัวใจของคน เพื่อส่งผลไปถึง "มือ" ของเราให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อไป ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ก็คือ เปลี่ยนวิธีคิด เพื่อให้เด็กมีความพร้อมที่จะเรียนรู้ในอนาคต เพื่อก้าวเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า "เศรษฐกิจดิจิทัล" จึงมีความจำเป็นที่เราจะต้องใช้เวลาเป็นสิบๆ ปีเพื่อเตรียมเด็กของเราให้มีความพร้อม รวมทั้งเน้นให้เกิดความเท่าเทียมกันด้วย อีกประการสำคัญ คือ เรื่องผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ที่ควรจะต้องมีความสัมพันธ์กับพื้นภูมิหลังของนักเรียนและคุณภาพของครู
หวังว่าหัวข้อการจัดงานในปีนี้ “ Assessment for Learning : การประเมินเพื่อการเรียนรู้” จะมีส่วนสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพครู เพราะครูมีความสำคัญที่จะต้องมีทักษะในยุคปัจจุบันซึ่งเป็นช่วงเวลาสหัสวรรษที่ 3 (หมายเหตุ : เป็นช่วงของเวลาเท่ากับหนึ่งพันปี) ในขณะที่ตนเกิดในสหัสวรรษที่ 2 ก็จะเห็นข้อเปรียบเทียบของค่านิยมที่แตกต่างกัน จึงให้ข้อสังเกตว่าการพัฒนาครูควรเน้น 2 ประการ ดังนี้
1) ควรมีการวิเคราะห์วงจรชีวิตของครูทั้งหมด (Life Cycle) ตั้งแต่เริ่มเข้าทำงาน จนกระทั่งเกษียณ เพื่อมองภาพองค์รวมของครูทั้งระบบ
2) นโยบายการพัฒนาครูทั้งระบบควรเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะครูมีหน้าที่รับผิดชอบต่ออนุชนรุ่นหลัง ดังนั้นครูจะอยู่นิ่งเฉยโดยไม่ปรับตัวหรือไม่พัฒนาตัวเองไม่ได้ และนอกจากครูจะต้องพัฒนาตนเองแล้ว ควรมีภาคีเครือข่ายที่จะร่วมพัฒนาด้วย
ทั้งนี้ การศึกษาเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องตลอดชีวิตของเรา มีหนังสือเล่มหนึ่งบอกว่า ครูเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง ไม่สามารถให้ Superman ที่ไหนมาช่วยเราได้ แม้กระทั่งครูหรือผู้ปกครองก็ควรเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสำหรับเด็กด้วย มีคำกล่าวว่า "เราอาจะต้องใช้คนทั้งหมู่บ้านเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งจนเติบโต" หรือเปรียบเสมือนว่า "เราต้องใช้คนทั้งสังคมร่วมมือกันเพื่อเลี้ยงดูเด็กคนๆ หนึ่ง"
ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี (Princess Maha Chakri Award) เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติครูผู้มีผลงานดีเด่น สร้างคุณประโยชน์ต่อการศึกษาในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวม 11 ประเทศ (ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ลาว กัมพูชา พม่า บรูไน และติมอร์-เลสเต) ประเทศละ 1 คน รวม 11 รางวัล ในปี 2557-2558 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ทั้ง 11 ประเทศจะดำเนินการคัดเลือกครูพร้อมกัน เพื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายในเดือนตุลาคม 2558 และเป็นครั้งแรกที่คนไทยจะร่วมกันค้นหา ครู “ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงแก่ชีวิตลูกศิษย์” ที่สังคมให้การยอมรับและยกย่องร่วมกันว่าเป็นครูผู้เสียสละ ทุ่มเทให้แก่การทำงานเพื่อลูกศิษย์ตลอดชีวิตการทำงานของตน ดังนั้นรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จึงเป็น “รางวัลแห่งความสำเร็จของชีวิตความเป็นครู” อย่างแท้จริง
การจัดงาน EDUCA 2014 : มหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู ครั้งที่ 7 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-17ตุลาคม 2557 ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม (ฮอลล์ 9) เมืองทองธานี โดยในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "Assessment for Learning : Wrong Questions Never Yield Right Answers" หรือ "การประเมินเพื่อการเรียนรู้ หากตั้งคำถามผิดก็ไม่มีคำตอบที่ถูก" ซึ่งเป็นกลยุทธ์สำคัญในการจัดการเรียนการสอน เพราะเป็นวิธีการที่ทำให้ครูได้คอยสังเกต ประเมินผู้เรียนตลอดเวลา เพื่อทำความเข้าใจ ติดตามการเรียนรู้ และช่วยพัฒนาการสอนของครูให้สามารถตอบสนองการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ ก่อให้เกิดผลลัพธ์คือ การเรียนรู้ที่ยั่งยืนให้กับเด็ก สร้างความเชี่ยวชาญให้กับวิชาชีพครู ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงาน หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร 02-489-4639
นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
Published 15/10/2557
ที่มา: http://www.thaigov.go.th