รมว.ศธ.กล่าวว่า การหารือกับผู้บังคับบัญชาของโรงเรียนชุมพลทหารเรือ เพื่อจัดเตรียมหลักสูตรเตรียมอาชีวศึกษาว่าในระยะเวลาของการฝึก 1 เดือนนั้น ในแต่ละสัปดาห์จะมีการฝึกและกิจกรรมอะไรบ้าง และเมื่อนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการจบการศึกษาไปแล้วจะได้อะไรกลับไปบ้าง รวมทั้งได้มาเยี่ยมชมสถานที่ในการฝึกอบรม ที่พักอาศัยสำหรับนักศึกษา ซึ่งเห็นว่ามีบรรยากาศดี มีอุปกรณ์สำหรับใช้ในการฝึกอบรมดี ครูฝึกก็มีความพร้อมและผ่านประสบการณ์ในการฝึกนักเรียนจ่ามาแล้วอย่างโชกโชน จึงเชื่อว่าด้วยประสบการณ์ของบุคลากรในโรงเรียนชุมพลทหารเรือ จะสามารถปลูกฝังความมีระเบียบวินัย คุณธรรม จริยธรรม ความรักความสามัคคีให้แก่นักศึกษาได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ในหลักสูตรก็จะมีกิจกรรมที่จะพานักศึกษาไปเยี่ยมชมโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมของจังหวัดชลบุรีและระยอง เพื่อเรียนรู้และสัมผัสได้ว่า หากนักศึกษาตั้งใจเรียนจนจบการศึกษาก็จะมีงานทำและมีรายได้รองรับแน่นอน
ในเบื้องต้น จะจัดโครงการนำร่องในสถานศึกษาอาชีวศึกษาจากจังหวัดสมุทรปราการ 3 สถาบัน และจังหวัดปทุมธานีหรือนนทบุรีอีก 1 สถาบัน โดยคาดว่าจะมีนักศึกษาเข้าร่วมกว่า 100 คน เฉพาะนักศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ 1 (ปวช. ปี 1) ในบางสาขาวิชา ระหว่างวันที่ 12 พฤศจิกายน – 12 ธันวาคม 2557 ซึ่งจะทำให้มีประสบการณ์ และศึกษาข้อดี ข้อเสียของหลักสูตร เพื่อนำไปปรับปรุงและใช้จริงในต้นปีการศึกษาถัดไป คือประมาณเดือนพฤษภาคม 2558
ความคาดหวังของการจัดทำโครงการดังกล่าว มิใช่เพื่อไม่ให้เกิดเหตุทะเลาะวิวาท เพราะคงไม่สามารถป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่คาดหวังว่านักศึกษาที่ผ่านการฝึกอบรมจะมีระเบียบวินัย มีความยับยั้งชั่งใจ การให้นักศึกษาจากต่างสถาบันมาฝึกร่วมกัน อย่างน้อยจะได้ทำความรู้จักกัน ก่อนจะแยกย้ายกันไปศึกษาในสถาบันของตนเอง นักศึกษาจะมีความเป็นเพื่อน เป็นพี่เป็นน้อง ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ความผูกพันในขณะที่ฝึกร่วมกันก็จะทำให้เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นอาจจะลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะมีการผูกพันแต่ละคนด้วยรุ่น คือ นักศึกษาที่เข้าฝึกพร้อมกันจะถือเป็นนักเรียนเตรียมอาชีวะรุ่นเดียวกัน ถึงแม้ว่าเรียนกันคนละสถาบันก็ตาม
จากนั้น นาวาเอกกำจร เจริญเกียรติ ผู้บังคับการโรงเรียนชุมพลทหารเรือ ได้กล่าวถึงการจัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมโครงการ "เตรียมความพร้อมอาชีวศึกษา" ว่า จะนำแนวทางการฝึกภาคสาธารณศึกษานักเรียนจ่า (ใหม่) ซึ่งเป็นการฝึกเพื่อปรับเปลี่ยนบุคคลพลเรือนที่ผ่านการสอบคัดเลือกเข้ามาเป็นนักเรียนจ่าก่อนเข้าศึกษาในภาคปกติ มาเป็นแนวทางต้นแบบ โดยจะมีการปรับและประยุกต์เพื่อเป็นกรอบและแนวทางการดำเนินงานตามนโยบายเร่งด่วนของ รมว.ศธ.
สำหรับร่างกรอบและแนวทางการฝึกอบรมหลักสูตรเตรียมอาชีวศึกษา มีภาพรวมกรอบความคิดในการกำหนดหลักสูตรร่วมกัน เป็นกระบวนการฝึกทักษะแบบบูรณาการระหว่างหลักสูตรของอาชีวศึกษากับหลักสูตรการฝึกเตรียมนักเรียนจ่า เช่น รายวิชาพื้นฐาน รายวิชาเฉพาะแผนกวิชา (ช่างยนต์ อุตสาหกรรมฟอกหนัง ช่างกลโรงงาน) การปลูกฝังค่านิยม 12 ประการ ความมีระเบียบวินัย จิตอาสา ความซื่อสัตย์ การตรงต่อเวลา และความขยันอดทน เป็นต้น วัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพของผู้เรียนอาชีวศึกษาตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ ปรับพื้นฐานทางวิชาการและฝึกทักษะอาชีพ ฝึกทักษะชีวิต ความมีระเบียบวินัย รู้รักสามัคคี ความภาคภูมิใจ และการอยู่ร่วมกันในสังคม
หลักสูตรดังกล่าวจะสามารถสร้างแรงจูงใจให้นักศึกษาเข้าร่วมโครงการ เช่น การบันทึกความดีลงใน R-Passport การได้รับพิจารณาพิเศษจากสถานประกอบการที่มีมาตรฐานในกรณีที่นักศึกษาผ่านการฝึกอบรมจากโครงการ สิทธิพิเศษในการศึกษาวิชาทหาร ซึ่งอยู่ในระหว่างการทำความตกลงร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ในโอกาสนี้ รมว.ศธ.และคณะผู้บริหาร สอศ.ได้เดินทางไปเยี่ยมชมฐานฝึก ห้องฝึกฝน โรงนอน และโรงจัดเลี้ยง เพื่อรองรับนักศึกษาอาชีวะที่จะเข้ารับการฝึกในหลักสูตรเตรียมอาชีวศึกษา
ภาพ สถาพร ถาวรสุข
กุณฑิกา พัชรชานนท์
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
Published 16/10/2557
ที่มา: http://www.thaigov.go.th