ตรวจเยี่ยมโครงการบวร (บ้าน-วัด-โรงเรียน) ที่โรงเรียนวัดคิรีวิหาร
พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศธ. กล่าวว่า ได้ตรวจเยี่ยมโรงเรียนวัดคิรีวิหาร (สมเด็จพระวันรัต อุปถัมภ์) ซึ่งเปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 -ประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียนรวมจำนวน 210 คน ครู 10 คน ครูพี่เลี้ยง 1 คน และครูอัตราจ้าง 1 คน มีผลการดำเนินงานที่สำคัญ คือ
1) การดำเนินงานระหว่างบ้าน-โรงเรียน ได้ใช้โรงเรียนเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ครูภูมิปัญญา ปราชญ์ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา มีการบริจาคทรัพยากร บริจาคที่ดินเพื่อสร้างอาคารเรียน และการรื้ออาคารเรียนหลังเก่าเพื่อปลูกสร้างอาคารหลังใหม่ โดยพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ทหาร โดยไม่มีค่าจ้าง และการศึกษาพันธุ์ไม้หายากเพื่อการอนุรักษ์
2) การดำเนินงานระหว่างวัด-โรงเรียน วัดได้ให้การสนับสนุนอบรมสั่งสอนศีลธรรมจริยธรรม การเป็นชาวพุทธที่ดีให้แก่นักเรียนและครูทุกคน โดยจัดพระมาอบรมในทุกวันจันทร์ วันพุธ และวันศุกร์ ช่วงเช้าก่อนเข้าเรียน ซึ่งทำให้คณะครูและนักเรียนซึมซับความเป็นชาวพุทธไว้อย่างเต็มเปี่ยม สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 ทางวัดได้ให้พระทำการสอนนักธรรมตรีให้แก่นักเรียน ในทุกช่วงบ่ายของวันศุกร์ การเป็นกรรมการสถานศึกษาของพระในการบริหารงานในโรงเรียน ทั้งนี้ยังได้จัดโครงการ/กิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการโรงเรียนวิถีพุทธ กิจกรรมค่ายคุณธรรม กิจกรรม 5 ห้องชีวิต กิจกรรมแผนที่คนดี การเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาในวันสำคัญต่าง กิจกรรมบวชสามเณรภาคฤดูร้อนของครู ผู้ปกครอง และนักเรียน เป็นต้น
นอกจากนี้ เนื่องจากอาคารเรียนของโรงเรียนมีอายุ 110 ปี และมีสภาพทรุดโทรม จึงได้รับความความเมตตาจากท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศวิหาร ศิษย์เก่าของโรงเรียนรับเป็นองค์อุปถัมภ์ในการจัดหาทุนทรัพย์ในการสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ เพื่อใช้เป็นงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียน จำนวน 2 หลัง เป็นจำนวนเงินกว่า 60 ล้านบาท รวมทั้งสนับสนุนสื่อเทคโนโลยีทางการศึกษาที่ทันสมัยในการจัดการเรียนการสอนอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อพัฒนาให้โรงเรียนมีคุณภาพและก้าวสู่ความเป็นโรงเรียนมาตรฐานสากล
ดังนั้น บ้าน วัด และโรงเรียน (บวร) มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันมาตั้งแต่อดีต และถือเป็นหน่วยงานทางสังคมที่มีความสำคัญต่อกัน การสนับสนุนอุปถัมภ์ซึ่งกันและกัน จะช่วยสร้างฐานรากและความเข้มแข็ง ให้เกิดแก่สังคมขึ้นได้
ตรวจเยี่ยมผลการดำเนินงานโครงการขยายผลการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมของ 4 โรงเรียน
พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศธ. กล่าวว่า จากการที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มีนโยบายขยายผลโครงการการจัดศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมสำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก ตามโครงการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีทางการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมเฉลิมพระเกียรติ จากโรงเรียนวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้มีผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบรอบ 87 พรรษา วันที่ 5 ธันวาคม 2557
โอกาสนี้ จึงได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าการดำเนินงานของโรงเรียนต่างๆ ได้แก่ 1) โรงเรียนบ้านนาเกลือ ปัจจุบันมีนักเรียน 58 คน ครู 4 คน และผู้บริหาร 1 คน 2) โรงเรียนบ้านทุ่งไก่ดัก มีนักเรียน 83 คน ครู 4 คน และผู้บริหาร 1 คน 3) โรงเรียนวัดตะกาง มีนักเรียน 84 คน ครู 5 คน และผู้บริหาร 1 คน โรงเรียนได้ใช้การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมมาตั้งแต่ปี 2554 โดยจัดการเรียนการสอนในบางสาระวิชาควบคู่กับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามปกติ 4) โรงเรียนวัดวิเวกวราราม (ศุภกิจวิบูลอุปถัมภ์) ปัจจุบันมีนักเรียน 120 คน ครู 4 คน และผู้บริหาร 1 คน
การมีระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในโรงเรียนดังกล่าว มีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาด้านการจัดการศึกษาในโรงเรียนขนาดเล็กที่ประสบปัญหาครูไม่ครบชั้น ครูสอนไม่ตรงสาขาวิชาเอก และครูบางส่วนสอนโดยไม่ใช้สื่อ ขาดแคลนวัสดุอุปกรณ์ ทำให้นักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กขาดโอกาสและความเท่าเทียมกับนักเรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่
ซึ่งสำนักงานเขตพื้นทีการศึกษาประถมศึกษาตราด ได้ดำเนินการอบรมขยายผลสำหรับผู้บริหารโรงเรียนและครูโรงเรียนขนาดเล็ก และติดตั้งอุปกรณ์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้ทันในภาคเรียนที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2557 เป็นต้นไป พร้อมทั้งได้ทำแผนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ตามรูปแบบที่ได้รับการอบรม เพื่อให้ทุกโรงเรียนเมื่อจัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียมต้องบันทึกหลังสอนทุกสาระวิชาทุกชั้น ตามแบบที่กำหนดให้หรือกำหนดเอง โดยจะมีศึกษานิเทศก์ประจำศูนย์เครือข่ายสถานศึกษาตรวจสอบ สนับสนุนคู่มือการเรียนการสอนทุกชั้นเรียน
จากการตรวจเยี่ยม พบว่าโรงเรียนส่วนใหญ่ประสบปัญหาขาดแคลนครู และครูที่มีก็สอนไม่ตรงสาขาวิชาเอก ในบางโรงเรียนขาดแคลนงบประมาณจ้างครูเพิ่ม/จ้างนักการภารโรง เกิดการลักขโมยจอโทรทัศน์ อุปกรณ์รับสัญญาณ เนื่องจากโรงเรียนส่วนใหญ่ก่อสร้างด้วยไม้ จึงง่ายต่อการเข้ามาลักขโมย ทั้งนี้ตนได้มอบหมายให้มีการหารือเกี่ยวกับการขาดแคลนครู โดยให้ไปศึกษากฎระเบียบหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องของครูว่า เป็นไปในทิศทางใด มีปัญหาอุปสรรคใดขัดขวางหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ขอชื่นชมการดำเนินโครงการฯ ของโรงเรียนทั้ง 4 แห่งว่า เป็นเรื่องที่น่าภูมิใจและน่าชื่นชมอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาของลูกหลาน ช่วยสนับสนุนส่งเสริม ดูแลเอาใจใส่ ซึ่งถือว่าได้ดำเนินงานก้าวหน้าไปอย่างมาก ส่งผลให้นักเรียนได้รับความรู้ที่ถูกต้องและเท่าเทียมกับนักเรียนในพื้นที่อื่นๆ ทั้งนี้เชื่อว่าหากโรงเรียน พ่อแม่ ผู้ปกครอง และชุมชนร่วมมือกัน ก็จะเป็นส่วนสำคัญในการจัดการเรียนการสอนให้ดี ให้มีคุณภาพ โดยจะเห็นได้จากผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนที่ดีขึ้นโดยลำดับ และในอนาคตเด็กๆ ของเราจะเจริญเติบโตเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติ ช่วยพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าสืบไป
ภาพ นวรัตน์ รามสูต
นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
17/10/2557
ที่มา: http://www.thaigov.go.th