นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เนื่องในวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปีว่า ปัจจุบันสุขภาพช่องปาก เป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะปัญหาฟันผุและ โรคปริทันต์ นอกจากจะทำให้มีอาการปวดแล้ว เชื้อโรคในจุดที่เป็นโรคดังกล่าว ยังอาจลุกลามไปอวัยวะอื่นๆได้ ปัญหาที่พบได้มากขึ้นขณะนี้คือโรคปริทันต์หรือโรครำมะนาด จะมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลไม่ได้ ทำให้ติดเชื้อง่าย มีอาการจะรุนแรงกว่าประชาชนทั่วไป และรักษายากขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีภูมิต้านทานโรคต่ำอยู่แล้ว ดังนั้นจะต้องแปรงฟัน ดูแลฟันไม่ให้มีหินปูนซึ่งเป็นที่สะสมของเชื้อโรค ต้องดูแลควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และตรวจสุขภาพช่องปากทุก 6 เดือน
ทั้งนี้ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดปี 2556 พบประชาชนเข้าถึงบริการด้านทันตกรรมเพียงร้อยละ 10 กระทรวงสาธารณสุขจึงได้เร่งพัฒนาระบบบริการสุขภาพ โดยให้เขตสุขภาพทั้ง 12 เขตทั่วประเทศและกทม. จัดบริการด้านทันตกรรม และดูแลสุขภาพช่องปาก ซึ่งเป็น 1 ใน 10 สาขาหลักของการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) ทั้งในระดับโรงพยาบาลภายในจังหวัดและในระดับเขต เพื่อให้ประชาชนทุกพื้นที่เข้าถึงการดูแลอย่างเท่าเทียมกัน
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า ในปี 2558 นี้ กระทรวงสาธารณสุขจะเพิ่มการให้บริการสุขภาพช่องปาก ลงไปที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)และที่ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง(ศสม.) ให้ได้ 4,885 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 50 ของ รพ.สต.และศสม.ทั่วประเทศ ให้บริการโดยทันตแพทย์ หรือทันตาภิบาลอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน เพื่อลดความแออัดของการบริการทันตกรรมใน รพ.เขตเมือง เพิ่มการเข้าถึงบริการส่งเสริมป้องกันและรักษาพื้นฐานของประชาชนในชนบท เช่นการขูดหินปูน การเคลือบหลุมร่องฟัน เพื่อป้องกันฟันผุ โรคปริทันต์ ซึ่งจะลดการสูญเสียฟันในผู้สูงอายุ และยังช่วยป้องกันโรคอื่นๆที่จะตามมา เช่น การติดเชื้อที่หัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน ปอดบวมในผู้สูงอายุ เป็นต้น
สำหรับการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก จะเน้นใน 5 กลุ่ม ได้แก่1.คลินิกฝากครรภ์ (ANC) คือ การตรวจสุขภาพช่องปากหญิงฝากครรภ์อย่างน้อย 1 ครั้ง บริการขูดหินน้ำลาย ทำความสะอาดฟัน และ บริการทันตกรรมหรือส่งต่อในรายที่จำเป็น 2. คลินิกส่งเสริมสุขภาพเด็กดี(WCC) มีการให้แปรงฟันและยาสีฟันให้กับเด็กทุกคนที่มารับบริการ มีการตรวจช่องปาก ความสะอาด และประเมินความเสี่ยงต่อโรคฟันผุของเด็ก การฝึกพ่อแม่/ผู้ดูแลเด็กแปรงฟันแบบลงมือปฏิบัติ จัดระบบเฝ้าระวัง ติดตาม ดูแลต่อเนื่องในเด็กกลุ่มเสี่ยง (เด็กกลุ่มเสี่ยงคือ เด็กที่ฟันไม่สะอาด/ฟันมีรอยขาวขุ่น/มีฟันผุ) ให้บริการเด็กที่มีภาวะเสี่ยงด้วยการทาฟลูออไรด์วาร์นิชทุก 6 เดือน
3.ศูนย์พัฒนาเด็ก คือ การตรวจสุขภาพช่องปากเด็กทุกคนปีละ 1 ครั้ง เด็กกลุ่มเสี่ยงได้รับการทาฟลูออไรด์วานิช ภาคเรียนละ 1 ครั้ง โดยทันตบุคลากรหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ผ่านการอบรม 4.โรงเรียนประถมศึกษา คือ การตรวจสุขภาพช่องปากนักเรียนประถมศึกษาทุกคนปีละ 1 ครั้ง ให้บริการเคลือบหลุมร่องฟันกรามแท้ซี่ที่ 1 แก่เด็กนักเรียนประถมศึกษา การให้บริการทันตกรรมแก่นักเรียนประถมศึกษาตามความจำเป็น และ 5.กลุ่มผู้สูงอายุ คือ การตรวจสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุในชมรมผู้สูงอายุปีละ 1 ครั้ง พร้อมจัดบริการใส่ฟันทั้งปากแก่ผู้สูงอายุที่สูญเสียฟัน และรากฟันเทียมในกรณีที่จำเป็น
21 ตุลาคม 2557
ที่มา: http://www.thaigov.go.th