ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ

ข่าวทั่วไป Wednesday October 22, 2014 17:06 —สำนักโฆษก

วันนี้ (22ต.ค.57) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 1/2557 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมฯ นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน และนายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ได้แถลงผลการประชุมสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ที่ประชุมรับทราบในหลักการอัตราเงินสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนตามต้นทุนที่แท้จริงหรือ Fit (Feed in Tariff) ที่กระทรวงพลังงานจะประกาศใช้แทนระบบการให้เงินส่วนเพิ่มรับซื้อไฟฟ้า หรือไฟฟ้า หรือ Adder สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ที่มีขนาดน้อยกว่า 10 เมกะวัตต์ (MW) ระยะเวลาการสนับสนุน 20 ปี แบ่งตามขนาดและประเภทเชื้อเพลิง ได้แก่ พลังงานลม อัตรา 6.60 บาทต่อหน่วย พลังงานน้ำ ขนาดไม่เกิน 200 MW อัตรา 4.90 บาทต่อหน่วย ชีวมวล เช่น เช่น เศษไม้ ซังข้าวโพด ขนาดไม่เกิน 1 MW อัตรา 4.02 บาทต่อหน่วย ก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียหรือของเสีย อัตรา 3.15 บาทต่อหน่วย และก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน อัตรา 5.38 บาทต่อหน่วย

สำหรับ VSPP จากขยะได้พิจารณาตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเร่งแก้ไขปัญหาจากขยะ โดยเพิ่มแรงจูงใจให้พัฒนาโรงไฟฟ้าได้เร็วขึ้น จึงได้กำหนดอัตราเงินสนับสนุนพิเศษกว่าเชื้อเพลิงประเภทอื่น ๆ โดยบวกเพิ่มอีก 10-30 สตางค์ต่อหน่วยใน 8 ปีแรก แบ่งออกเป็น ขนาดไม่เกิน 1 MW อัตรา 6.27 บาทต่อหน่วย ถ้าขนาดเกิน 1 MW แต่ไม่เกิน 3 MW อัตรา 5.54 บาทต่อหน่วย กรณีเกิน 3 MW อัตรา 5.02 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าจากขยะประเภทหลุมฝังกลบ จะได้รับอัตราเงินสนับสนุนการผลิตไฟฟ้า 4.83 บาทต่อหน่วย แต่ระยะเวลาการสนับสนุนเพียง 10 ปี พร้อมนี้ กพช. ได้พิจารณาอัตราเงินสนับสนุน VSPP ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ได้แก่ อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอนาทวี โดยเพิ่มอีก 50 สตางค์ต่อหน่วยจาก FiT ปกติ เป็นการสร้างแรงจูงใจในการลงทุนโครงการพลังงานหมุ่นเวียนเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานในพื้นที่

ทั้งนี้ ระบบ FiT เป็นระบบที่กระทรวงพลังงานจะนำมาจูงใจภาคเอกชนได้เร่งตัดสินใจเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น แทนระบบ Adder ส่วน FiT จะทบทวนอัตราเป็นรายปีเพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเสมอ การทบทวนประจำปีจะทำให้อัตราเงินสนับสนุนสอดคล้องกับต้นทุน ซึ่งเมื่อเดือนสิงหาคม 2557 กพช. ได้เห็นชอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FiT จากพลังงานแสงอาทิตย์ไปแล้ว 3 รูปแบบ คือ 1) แบบติดตั้งบนพื้นดิน ให้เปิดรับซื้อและจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในเดือนธันวาคม 2558 2) แบบติดตั้งบนหลังคา สำหรับโครงการที่ผูกพันกับภาครัฐแล้ว 130.64 MW ให้จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในเดือนธันวาคม 2557 และเปิดรับซื้อเพิ่มสำหรับที่พักอาศัยขนาดไม่เกิน 10 กิโลกวัตต์อีก 69.36 MW เพื่อให้ครบเป้าหมาย 200 MW โดยกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในเดือนธันวาคม 2558 และ 3) แบบติดตั้งในพื้นที่ชุมชน ให้เป็นโครงการสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร ขนาดไม่เกิน 5 MW ต่อแห่ง รวม 800 MW กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2558 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจระบบสายส่งและจำหน่ายที่สามารถรองรับการรับซื้อไฟฟ้า ทั้งจาก กฟผ. และ กฟภ.ตามภูมิภาค ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

อีกทั้งที่ประชุม กพช. ได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการปฏิรูปทิศทางพลังงานไทย ทั้งการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย การจัดทำแผนอนุรักษ์พลังงาน และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก รวมถึงการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21 ซึ่งกระทรวงพลังงานได้จัดรับฟังความคิดเห็นทั้งภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และกรุงเทพมหานคร เสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาปรับปรุงแผนงานต่าง ๆ รวมถึงจัดทำทุกแผนงานให้มีกรอบระยะเวลาของแผนระหว่างปี 2558 – 2579 คาดว่ากระทรวงพลังงานจะนำเสนอ กพช.พิจารณาได้ตามแผนคือเดือนธันวาคม 2557

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบความคืบหน้าการแก้ไขร่างกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ภายใต้พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่ส่งผลต่อโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาที่ผูกพันกับภาครัฐแล้ว 130.64 MW ซึ่งจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบไม่ทันตามที่กำหนดไว้ภายในเดือนธันวาคม 2557 กพช. จึงเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาไปถึงเดือนมิถุนายน 2558 และได้ทราบถึงข้อจำกัดในการตัดสินใจลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร เนื่งอจากมีประเด็นเรื่องความยั่งยืนของโครงการฯ กพช. จึงเห็นควรให้บริษัทจัดการพังงาน (ESCO) เข้ามาช่วยให้คำแนะนำเพื่อพัฒนาโครงการฯ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามนับจากที่ คสช. ไดเข้ามาบริหารประเทศ กระทรวงพลังงานได้ส่งเสริมให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไปแล้วรวม 86 ระบบ ซึ่งได้อนุมัติโครงการชีวมวล – ขยะ และเป็นนโยบายที่กระทรวงพลังงานสนับสนุนให้มีการจัดการขยะ และการนำวัสดุเหนือทิ้งทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์ รวมกำลังการผลิตประมาณ 269 MW โดย 41 ระบบ ประมาณ 14 MW ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และอีก 45 ระบบ ประมาณ 255 MW ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน

พร้อมกันนี้ ที่ประชุม กพช. ได้เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดเครื่องจักร อุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง และวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน เพิ่มเติมจำนวน 7 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีศักยภาพประหยัดประมาณ 280 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe) ต่อปี หรือคิดเป็น 7,500 ล้านบาทต่อปี ได้แก่ รถจักรยานยนต์ เครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็ก เครื่องยนต์แก๊สโซลีนขนาดเล็ก ฉนวนใยแก้วเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน เครื่องซักผ้า เครื่องสูบน้ำในครัวเรือน และเครื่องอัดอากาศขนาดเล็กแบบลูกสูบ ซึ่งการประกาศสินค้าอุปกรณ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงานเพิ่มเติมนี้จะมีส่วนช่วยยกระดับสินค้าด้านการประหยัดพลังงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งผู้ผลิตและผู้จำหน่ายมีสิทธิขอรับการส่งเสริมและช่วยเหลือเพื่อพัฒนาให้เกิดประโยชน์ในการอนุรักษ์พลังงานในภาพรวมของประเทศ

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ข้อมูล:กระทรวงพลังงาน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ