ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วยนายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยคณะที่ปรึกษาตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลหาดใหญ่ รับฟังแผนพัฒนาระบบบริการ(Service Plan) และแผนการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพของเขตสุขภาพที่ 12 ซึ่งประกอบด้วย 7 จังหวัดได้แก่สงขลา นราธิวาส ปัตตานี ตรัง พัทลุง ยะลา สตูล โดยปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของพื้นที่คือ การป่วยและตายและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ปัญหาอนามัยแม่และเด็ก ไข้เลือดออก ฟันผุ การบาดเจ็บและตายจากสถานการณ์ความไม่สงบ โรคเรื้อน การดูแลผู้เดินทางไปแสวงบุญ สาธารณสุขชายแดน การจัดบริการในพื้นที่เฉพาะ เช่น พื้นที่เกาะ พื้นที่มีความไม่สงบ
ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ กล่าวว่า จากการรับฟังแผนการพัฒนาและแผนการจัดบริการของพื้นที่ พบว่าเขตสุขภาพที่ 12 พบว่ามีความพร้อมในการจัดบริการเพื่อดูแลสุขภาพประชาชน โดยมีโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัย กระทรวงกลาโหมและภาคเอกชน ซึ่งการจัดบริการมีความเฉพาะพิเศษจากพื้นที่อื่น เนื่องจากเป็นพื้นที่ชายแดน และมีปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่ต้องศึกษาข้อมูลและเติมเต็มศักยภาพในการจัดบริการด้านสุขภาพ
สำหรับในการจัดบริการผู้ป่วยโรคหัวใจ ในเขตสุขภาพที่ 12 เดิมในปี 2544 มีผู้ป่วยรอผ่าตัดมากกว่า 2,000 ราย รอนานประมาณ 2 ปีขึ้นไป เนื่องจากมีโรงพยาบาลสงขลานครินทร์แห่งเดียวที่ผ่าตัดได้ ในการแก้ปัญหาระยะแรก กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพ ส่งผู้ป่วยไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลเอกชน ในขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุขก็ได้มีแผนพัฒนาระบบบริการ ซึ่งโรคหัวใจเป็น 1 ใน 10 โรคสำคัญที่ต้องได้รับการพัฒนาในระยะแรก ดังนั้นเขตตรวจราชการที่ 12 ขึ้น จึงได้ทำแผนดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจเป็น “เครือข่ายโรคหัวใจเขต 12” โดยในผู้ป่วยโรคหัวใจเฉียบพลัน มีนโยบายให้โรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง สามารถให้ละลายลิ่มเลือด(Thrombolytic agent)ผู้ป่วยโรคหัวใจเฉียบพลัน ภายใต้ระบบการให้คำปรึกษาของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ก่อนส่งรักษาต่อ
ส่วนโรงพยาบาลระดับจังหวัด ได้เพิ่มศักยภาพในการรักษาผู้ป่วย เช่น การสวนหัวใจ ที่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษคือเครื่องช่วยสวนหัวใจ(Cardiac Catheterization Laboratory) ขณะนี้ทำได้ที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ และโรงพยาบาลตรัง โดยโรงพยาบาลหาดใหญ่เปิดให้บริการเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ให้บริการผู้ป่วยไปแล้ว 746 ราย ระยะเวลารอคอย 4-5เดือน ส่วนโรงพยาบาลตรัง เปิดให้บริการเดือนพฤษภาคม 2557 ให้บริการไปแล้ว 23 ราย ระยะเวลารอคอย ประมาณ 2เดือน และในปี 2558 จะเพิ่มศักยภาพให้โรงพยาบาลยะลาเปิดบริการได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดหาเครื่องมือ นอกจากนี้ ได้จัดให้มีช่องทางด่วน( fast tract) ในการรับส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลชุมชน ทำให้ผู้ป่วยโรคหัวใจเข้าถึงบริการรับยาละลายลิ่มเลือดและเปิดหลอดเลือดเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 70 โดยตั้งเป้าอัตราการตายด้วยโรคหัวใจเฉียบพลันลดลงเหลือไม่เกินร้อยละ 10
สำหรับการผ่าตัดเปิดหัวใจ ขณะนี้ผู้ป่วยได้รับบริการเพิ่มขึ้น 1.5 เท่าตัว ทำผ่าตัดได้ใน 3 โรงพยาบาลคือ หาดใหญ่ ตรังและยะลา โดยความร่วมมือกับโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เฉลี่ยผ่าตัดได้ปีละมากกว่า 300 ราย ซึ่งการส่งต่อผู้ป่วยเพื่อเข้ารับการผ่าตัดหัวใจได้มีจัดระบบการส่งต่อโดยกระจายผู้ป่วย ให้รักษาใกล้บ้าน รอไม่นาน โดยให้โรงพยาบาลตรังรับส่งต่อผู้ป่วยจากจังหวัดสตูลและพัทลุง โรงพยาบาลหาดใหญ่ รับจากจังหวัดสงขลาและปัตตานี ส่วนโรงพยาบาลสงขลานครินทร์รับจากจังหวัดสงขลาและ 3 จังหวัดชายแดนใต้
ที่มา: http://www.thaigov.go.th