นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันที่ 26-30 ตุลาคม 2557 จะเดินทางไปประเทศอังกฤษ เพื่อร่วมประชุมการขยายการดำเนินการสร้างหลักประกันสุขภาพในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา ตามมติขององค์การอนามัยโลก โดยจะมีการลงนามบันทึกความร่วมมือกับศาสตราจารย์เดวิด อัสลาม ( Prof. David Haslam ) ประธานสถาบันแห่งชาติเพื่อความเป็นเลิศด้านสุขภาพและการแพทย์ หรือไนซ์ (National Institute for Health and Care Excellence: NICE) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้รัฐบาลอังกฤษ ที่ทำหน้าที่ในการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมทั้งความร่วมมือในการพัฒนาระบบการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา ในวันที่ 29 ตุลาคม 2557 ณ สำนักงานใหญ่ไนซ์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
นพ.สมศักดิ์กล่าวต่อว่า ภายใต้บันทึกความร่วมมือครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงการยอมรับของต่างประเทศต่อศักยภาพด้านนโยบายของรัฐบาลไทย ที่เน้นการสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพ และตั้งอยู่บนฐานของการใช้ความรู้เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างสมเหตุสมผล โดยกระทรวงสาธารณสุขและไนซ์จะร่วมกันให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการแก่ประเทศกำลังพัฒนา ทั้งในทวีปอาฟริกา เอเชีย และลาตินอเมริกา ใน 2 เรื่องหลัก คือ การจัดชุดสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาล การป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพ การฟื้นฟูสมรรถภาพหลังเจ็บป่วยในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพซึ่งเป็นเครื่องสำคัญในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศ ทั้งด้านการลงทุนเทคโนโลยี การจัดหายา วัคซีนป้องกันโรคที่จำเป็นและคุ้มค่า โดยรัฐบาลอังกฤษจะเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณในกิจกรรมดังกล่าว ร่วมกับองค์กรการกุศลนานาชาติอื่นๆ เช่น มูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ ของมหาเศรษฐีไมโครซอฟ มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ เป็นต้น
ทั้งนี้ การลงนามดังกล่าว เป็นกิจกรรมต่อเนื่องภายหลังการประชุมสมัชชาอนามัยโลกเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา มีมติให้ใช้การประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ เพื่อสนับสนุนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรด้านสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดความยั่งยืนของระบบประกันสุขภาพในระยะยาวในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา องค์การอนามัยโลกรายงานว่า ขณะนี้รายจ่ายด้านสุขภาพของทั่วโลก ถูกใช้ไปอย่างไร้ประโยชน์ถึงร้อยละ 40 เช่น การซื้อยา หรือใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
สำหรับสถาบันไนซ์ เป็นหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นต้นแบบสำคัญของการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพสำหรับสนับสนุนการตัดสินใจระบบประกันสุขภาพ ประเทศไทยเองแม้จะมีระบบที่แตกต่างกัน แต่เริ่มมีการนำแนวคิดการประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์เข้ามาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจกำหนดนโยบาย และการจัดสรรทรัพยากรของประเทศกว่า 7 ปีมาแล้ว ซึ่งไทยได้รับการร้องขอจากรัฐบาลหลายประเทศ เช่นจีน เมียนมาร์ เวียดนาม อินเดีย ฟิลิปปินส์ คิวบา โคลัมเบีย และกาน่า เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการและการจัดการด้านการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ ซึ่งแต่ละประเทศต้องสามารถสร้างและพัฒนาระบบที่เหมาะสมกับประเทศของตนเอง
26 ตุลาคม 2557
ที่มา: http://www.thaigov.go.th