นายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ อธิบดี
กรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ปัจจุบัน
กรมการขนส่งทางบก ได้ขยายช่องทางการรับชำระภาษีรถให้หลากหลายมากขึ้น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ผลปรากฏว่า คนกรุงเทพมหานคร ยังคงนิยมเลือกใช้บริการรับชำระ
ภาษีรถยนต์ ณ สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 5 ของ
กรมการขนส่งทางบกมากที่สุด เฉพาะในเดือนกันยายน 2557 มีประชาชนใช้บริการ ณ สำนักงาน จำนวน 445,828 ราย จัดเก็บภาษีรถได้ทั้งสิ้น 525,317,353.72 บาท รองลงมาเป็นการใช้บริการรับชำระภาษีรถผ่านช่องทาง “เลื่อนล้อ ต่อภาษี” (Drive Thru for Tax) ชำระภาษีโดยไม่ต้องลงจากรถ จำนวน 70,137 ราย จัดเก็บภาษีรถได้ทั้งสิ้น 118,430,239.04 บาท และเป็นการใช้บริการรับชำระภาษีรถ ที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีในวันเสาร์ - อาทิตย์ ทั้ง 13 สาขา ได้แก่ สาขาลาดพร้าว รามอินทรา รัชดาภิเษก บางปะกอก เพชรเกษม อ่อนนุช สุขาภิบาล 3 บางบอน สุวินทวงศ์ แจ้งวัฒนะ บางใหญ่ สำโรง และศรีนครินทร์ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลรามอินทรา และศูนย์การค้าพาราไดซ์พาร์ค ตามโครงการ “ช้อปให้พอ แล้วต่อภาษี” มีประชาชนมาใช้บริการจำนวน 33,661 ราย จัดเก็บภาษีรถได้ทั้งสิ้น 45,649,046.90 บาท ส่วนที่ศูนย์บริการร่วมคมนาคม เชิงสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินที่ให้บริการทุกวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30 – 15.30 น. มีผู้มาใช้บริการ จำนวน 9,140 ราย จัดเก็บภาษีรถได้ทั้งสิ้น 11,361,503.13 บาท นอกนั้นเป็นการเลือกชำระภาษีรถผ่านช่องทางอื่น ๆ เช่น อินเทอร์เน็ตที่ www.dlte-serv.in.th ผ่านที่ทำการไปรษณีย์ เคาน์เตอร์เซอร์วิส (7-11) และโทรศัพท์มือถือระบบ AIS, DTAC และ Truemove
การรับชำระภาษีรถผ่านช่องทางต่างๆ ดังกล่าวนั้นเพียงนำหลักฐานการทำ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถมาแสดง สำหรับรถเก๋ง รถปิ๊คอัพ รถตู้ ที่มีอายุการใช้งานเกิน 7 ปี ขึ้นไป หรือรถจักรยานยนต์ ที่มีอายุการใช้งานเกิน 5 ปีขึ้นไป ต้องมีใบรับรองการตรวจสภาพรถจากสถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) มาแสดงด้วย โดยจะมีสมุดคู่มือจดทะเบียนรถหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้ หากไม่ได้รับความสะดวกในการติดต่องาน แจ้ง Call Center 1584
ที่มา: http://www.thaigov.go.th