นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทย ณ เดือนตุลาคม 2557 ว่า “เศรษฐกิจไทยในปี 2557 คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 1.2 – 1.7 โดยครึ่งหลังของปี 2557 คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2.9 จากสถานการณ์ทางการเมืองที่มีทิศทางชัดเจนขึ้น ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีคาดว่าจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้าย ขณะที่การบริโภคภาครัฐยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปีนี้ ตามการใช้จ่ายในงบประมาณของรัฐบาลส่วนกลางที่ยังเบิกจ่ายได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลงจากการคาดการณ์เมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 นั้น เป็นไปตามการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะเศรษฐกิจของภูมิภาคยุโรปมีการฟื้นตัวอย่างเปราะบาง ประกอบกับราคาสินค้าส่งออก โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ในระดับต่ำ สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2557 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.1 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.9 – 2.4) ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า ตามราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลง อันเป็นผลมาจากอุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกที่ชะลอลง ในขณะที่อุปทานน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ประกอบกับนโยบายการดูแลราคาพลังงานของภาครัฐ
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2558 สำนักงานเศรษฐกิจการคลังคาดว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 4.1 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.6 – 4.6) โดยได้รับแรงส่งของการใช้จ่ายภาครัฐที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านการคมนาคมขนส่งและการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ยังเบิกจ่ายได้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับอุปสงค์จากต่างประเทศคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นเช่นกัน ตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นภายหลังสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศคลี่คลายลง นอกจากนี้ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจภาพรวมที่ฟื้นตัวขึ้นและนโยบายภาครัฐที่มีความชัดเจน ซึ่งจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2558 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.7 – 2.7) ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีทิศทางทรงตัว
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ การเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว การฟื้นตัวของประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะเศรษฐกิจยุโรป ที่เป็นไปอย่างเปราะบาง และแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงตกต่ำ”
ตารางสรุปสมมติฐานและผลการประมาณการเศรษฐกิจปี 2557 และ 2558 (ณ เดือนตุลาคม 2557)
2556 2557 f 2558 f
(ณ ตุลาคม 2557) (ณ ตุลาคม 2557)
เฉลี่ย ช่วง เฉลี่ย ช่วง
สมมติฐานหลัก สมมติฐานภายนอก 1) อัตราการขยายตัวเฉลี่ย 15 ประเทศคู่ค้าหลัก
(ร้อยละต่อปี) 3.7 3.7 3.5-4.0 3.8 3.3-4.3 2) ราคาน้ำมันดิบดูไบ(ดอลลาร์สหรัฐ ต่อบาร์เรล) 105.1 101.0 99.0-103.0 100.0 95.0-105.0 3) ราคาสินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละต่อปี) -0.5 -1.0 -1.5 ถึง -0.5 -0.5 -1.5 ถึง 0.5 4) ราคาสินค้านำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละต่อปี) -2.1 -0.9 -1.4 ถึง -0.4 -0.5 -1.5 ถึง 0.5 สมมติฐานด้านนโยบาย 5) อัตราแลกเปลี่ยน (บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) 30.7 32.4 32.2-32.6 32.7 31.7-33.7 6) อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยณ สิ้นปี (ร้อยละ) 2.25 2.00 2.00-2.00 2.00 1.5-2.50 7) รายจ่ายภาคสาธารณะตามปีงบประมาณ (ล้านล้านบาท) 3.03 3.21 3.20-3.22 3.47 3.46-3.48 8) จำนวนนักท่องเที่ยว 26.5 24.7 24.2-25.2 28.0 27.0-29.0
ผลการประมาณการ
1) อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (ร้อยละต่อปี) 2.9 1.4 1.2-1.7 4.1 3.6-4.6 2) อัตราการขยายตัวของการบริโภครวม(ร้อยละต่อปี) 1.1 1.9 1.7-2.2 3.7 3.2-4.2 - การบริโภคภาคเอกชน (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี) 0.3 1.4 1.2-1.7 3.7 3.2-4.2 - การบริโภคภาครัฐ (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี) 4.9 4.5 4.3-4.8 3.6 3.1-4.1 3) อัตราการขยายตัวของการลงทุนรวม (ร้อยละต่อปี) -2.0 -2.1 -2.6 ถึง -1.6 8.6 7.6-9.6 - การลงทุนภาคเอกชน (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี) -2.8 -3.0 -3.5 ถึง -2.5 8.0 7.0-9.0 - การลงทุนภาครัฐ (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี) 1.3 1.0 0.5-1.5 10.7 8.7-12.7 4) อัตราการขยายตัวปริมาณส่งออกสินค้าและบริการ (ร้อยละต่อปี) 4.2 -0.1 -0.6 ถึง 0.4 6.5 5.5-7.5 5) อัตราการขยายตัวปริมาณนำเข้าสินค้าและบริการ (ร้อยละต่อปี) 4.2 -0.1 -0.6 ถึง 0.4 6.5 5.5-7.5 6) ดุลการค้า (พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) 6.7 19.4 18.0-20.2 7.5 4.5-10.5 - สินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละต่อปี) -0.2 0.1 -0.2 ถึง 0.4 3.5 1.5-5.5 - สินค้านำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละต่อปี) -0.5 -5.7 -6.0 ถึง -5.5 9.6 7.9-11.6 7) ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) -2.5 9.0 8.5-9.5 0.3 -0.7 ถึง 1.3 - ร้อยละของ GDP -0.7 2.2 2.1-2.3 0.1 -0.1 ถึง 0.3 8) อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (ร้อยละต่อปี) 2.2 2.1 1.9-2.4 2.2 1.7-2.7 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ร้อยละต่อปี) 1.0 1.6 1.4-1.9 1.6 1.1-2.1 9) อัตราการว่างงาน (ร้อยละของกำลังแรงงานรวม) 0.7 0.9 0.8-1.0 0.8 0.7-0.9 สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการการคลัง โทร. 0-2273-9020 ต่อ 3 273
เอกสารแนบ
รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2557 และ 2558
1. เศรษฐกิจไทยในปี 2557
1.1 ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจไทยในปี 2557 คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 1.4 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.2 – 1.7) โดยครึ่งหลังของปี 2557 คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2.9 จากสถานการณ์ทางการเมืองที่มีทิศทางชัดเจนขึ้น ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีคาดว่าจะสามารถสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายกลับมาขยายตัวดีขึ้นได้ โดยการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 1.4 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.2 – 1.7) ขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าตามความเชื่อมั่นที่ฟื้นตัวภายหลังสถานการณ์ทางการเมืองมีความชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้รับแรงสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐที่เอื้อต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน อาทิ การเร่งชำระหนี้ให้กับชาวนาในโครงการรับจำนำข้าว มาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย และมาตรการแก้ไขปัญหายางพารา ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะหดตัวต่อเนื่องจากปีก่อนหน้าที่ร้อยละ -3.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -3.5 ถึง -2.5) ส่วนหนึ่งมาจากการที่ภาคเอกชนยังคงรอดูการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจให้ชัดเจนก่อน ประกอบกับการลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตในอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกบางส่วนอาจชะลอออกไปบ้างในช่วงที่การส่งออกสินค้ายังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่การบริโภคภาครัฐยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปีนี้ ตามการใช้จ่ายในงบประมาณของรัฐบาลส่วนกลางที่ยังเบิกจ่ายได้อย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าการบริโภคภาครัฐจะขยายตัวร้อยละ 4.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.3 ถึง 4.8) และการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวร้อยละ 1.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.5 ถึง 1.5) อย่างไรก็ตาม สำหรับอุปสงค์ภายนอกประเทศนั้น ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการคาดว่าจะหดตัวร้อยละ -0.1 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -0.6 ถึง 0.4) เนื่องจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะเศรษฐกิจของภูมิภาคยุโรปมีการฟื้นตัวอย่างเปราะบาง ประกอบกับราคาสินค้าส่งออกที่อยู่ในระดับต่ำตามการลดลงของสินค้าเกษตร ขณะที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะหดตัวร้อยละ -2.9 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -3.4 ถึง -2.4) ตามอุปสงค์ภายในประเทศที่ชะลอตัวลงจากปีก่อน
1.2 ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ
เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังคงแข็งแกร่ง โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2557 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.1 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.9 – 2.4) ตามราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลง อันเป็นผลมาจากอุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกที่ชะลอลง และการขยายตัวของอุปทานน้ำมันในตลาดโลก ประกอบกับผลจากแนวทางการดูแลราคาพลังงานของภาครัฐ ในส่วนของอัตราการว่างงาน คาดว่าจะยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.8 – 1.0 ของกำลังแรงงานรวม) ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศคาดว่า ดุลการค้าจะเกินดุลเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วมาอยู่ที่ 19.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ (โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ 18.0 – 20.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ) จากการหดตัวของมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ร้อยละ -5.7 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -6.0 ถึง -5.5) ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวเล็กน้อยเพียงร้อยละ 0.1 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -0.2 ถึง 0.4) ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 9.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 2.2 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.1 – 2.3 ของ GDP)
2. เศรษฐกิจไทยในปี 2558
2.1 ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจไทยในปี 2558 คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 4.1 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.6 – 4.6) โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากอุปสงค์ภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัว โดยเฉพาะจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านการคมนาคมขนส่ง และอุปสงค์จากต่างประเทศที่คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้น ตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นภายหลังสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศคลี่คลายลง นอกจากนี้ อุปสงค์ภาคเอกชน ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.7 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.2 – 4.2) ตามแนวโน้มการจ้างงานและรายได้นอกภาคเกษตรที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภาพรวม โดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจะยังคงเอื้อต่อการจับจ่ายใช้สอยของภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม รายได้เกษตรกรที่อยู่ในระดับต่ำตามราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกยังคงเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนให้เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ชัดเจนขึ้น โดยจะขยายตัวร้อยละ 8.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 7.0 – 9.0) จากปัจจัยสนับสนุนสำคัญ อาทิ แนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภาพรวมและแนวโน้มการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้า รวมทั้งความจำเป็นในการลงทุนปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อรองรับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เป็นต้น สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐคาดว่าจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าการบริโภคภาครัฐจะขยายตัวร้อยละ 3.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.1 – 4.1) และการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวสูงถึงร้อยละ 10.7 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 8.7 – 12.7) จากการประกาศใช้งบประมาณประจำปี พ.ศ. 2558 ที่สามารถทำได้ตามปกติ และมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นในปีงบประมาณ 2558 โดยเฉพาะเม็ดเงินจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งที่คาดว่าจะเริ่มเบิกจ่ายได้ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป รวมทั้งเม็ดเงินจากงบกลางที่กันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปีและงบไทยเข้มแข็ง สำหรับอุปสงค์ภายนอกประเทศนั้นคาดว่า ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการจะเติบโตในอัตราเร่งขึ้นจากปีก่อนมาขยายตัวร้อยละ 6.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 5.5 – 7.5) ปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนหน้า เนื่องจากคาดว่าอุปสงค์ในตลาดโลกจะฟื้นตัวขึ้นตามการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าของไทย โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง นอกจากนี้ การส่งออกบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามรายรับจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวขึ้น โดยคาดว่านักท่องเที่ยวจะมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นภายหลังสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศคลี่คลายลง สะท้อนจากการยกเลิกประกาศเตือนสำหรับการเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย (Travel Advisory) ของบางประเทศ ส่วนปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 9.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 8.6 – 10.6) สอดคล้องกับแนวโน้มการใช้จ่ายภาคเอกชนที่คาดว่าจะเร่งขึ้น และการฟื้นตัวของภาคการส่งออก นอกจากนี้ จะยังได้รับแรงสนับสนุนจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐอีกด้วย
2.2 ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ
เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2558 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.7 – 2.7) ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีทิศทางทรงตัว ประกอบกับแรงกดดันระดับราคาจากทางด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในส่วนของอัตราการว่างงาน คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวม (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.7 – 0.9 ของกำลังแรงงานรวม) สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 0.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.1 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -0.1 ถึง 0.3 ของ GDP) เนื่องจากดุลการค้าที่คาดว่าจะเกินดุลลดลงมาอยู่ที่ 7.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 4.5 – 10.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ตามมูลค่าสินค้านำเข้าที่คาดว่าจะขยายตัวในอัตราเร่งกว่ามูลค่าสินค้าส่งออก
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 0-2273-9020 ต่อ 3255
ที่มา : กระทรวงการคลัง
ผู้นำเสนอ : กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
ที่มา: http://www.thaigov.go.th