รศ.ดร.วิทยา อมรกิจบำรุง นายกสมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กล่าว่า สมาคมนาโนซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมงาน มีบทบาทในการเป็นศูนย์กลางของการ เชื่อมโยงแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการจากองค์กรภาครัฐ มหาวิทยาลัยรวมถึงจัดกิจกรรมเพื่อถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้จริง เกิดเชื่อมโยงของภาควิชาการและภาคอุตสาหกรรมในวงการนาโนเทคโนโลยีของประเทศไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งงานนี้ถือเป็นครั้งที่ 4 แล้วโดยการจัดงานจะจัดขึ้นทุกๆ 2 ปี
ด้าน ศ.คลนิก ทพ.สุรชัย เดชคุณากร จากมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานจัดงาน กล่าวว่า งานประชุมวิชาการดังกล่าว จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 พฤศจิกายน 2557 ที่ศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อำเภอคลองหลวง จ.ปทุมธานี โดยมีการจัดเสวนาแลกเปลี่ยนนวัตกรรมด้านนาโนเทคโนโลยีที่น่าสนใจจากนักวิจัยชั้นนำในต่างประเทศและนักวิจัยไทย เพื่อแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการ ผลงานวิจัย รวมทั้งการนำความรู้ด้านนาโนเทคโนโลยีไปประยุกต์จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนกำหนดแนวทางการวิจัยทางนาโนเทคโนโลยีให้กับนักวิจัยในสาขาต่างๆ เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจระบบ แสดงมาตรฐานด้านนาโนเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์นาโนให้กับผู้ประกอบการได้รับทราบและเกิดความเข้าใจ
สำหรับไฮไลท์สำคัญอีกอย่างคือ การแสดงสินค้าและบริการด้านนาโนเทคโนโลยี โดยภายในงานมีนวัตกรรมด้านนาโนเทคโนโลยีจากภาครัฐและเอกชนมาร่วมงานมากมาย อาทิ ต้นแบบวัสดุนาโนฆ่าเชื้อใช้ทางการแพทย์ เป็นการนำเทคโนโลยีซิลเวอร์นาโนมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไอออนของเงินจำกัดเชื้อแบคทีเรียได้ดีขึ้นและยาวนานมากขึ้นในห้องผ่าตัด สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุการเกิดโรค และดื้อต่อยาปฏิชีวนะของคนทั่วไปมากถึง 99.99% เนื่องจากอานุภาคของเงินในระดับนาโนเมตรจะทำหน้าที่เป็นแหล่งจ่ายไอออนของเงินอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ซึ่งเดิมเทคโนโลยีนี้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สีและสารเคลือบผิวรถพยาบาล ของ บริษัท สุพรีม โพรดักส์ จำกัด ผู้ได้รับรอง “ฉลากนาโนคิว” ที่ยืนยันว่าเทคโนโลยีซิลเวอร์นาโนที่ใช้ในรถพยาบาลสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้จริง
เครื่องจำแนกหมู่เลือดระบบ ABO และ Rh(D) ด้วยการวิเคราะห์ภาพถ่ายเป็นการพัฒนาเซ็นเซอร์ชิฟ (Sensor-chip) ชนิดโปรตีนอาร์เวย์ (protein array) และระบบตรวจวัด โดยอาศัยเทคนิคการจำแนกหมู่เลือดด้วยภาพ และการประมวลผลของการตรวจจำแนกหมู่เลือดระบบ ABO และ Rh(D) ด้วยวิธีการติดตามผลแบบภาพสัญญาณจากภาพ ร่วมกับระบบไมโครฟลูอิดิกส์ (microfluidics) ทำให้มีข้อดีในการใช้ปริมาณตัวอย่างน้อย สามารถวัดผลได้ทันทีทันใด รวมทั้งการพัฒนาพื้นผิวให้เป็นแบบชนิดใช้ซ้ำได้ เพื่อลดเวลาและต้นทุนของการตรวจวัด
นอกจากนี้ยังมี แผ่นเรืองแสงอิเล็กโตรลูมิเนสเซ็นต์จากหมึกนำไฟฟ้ากราฟีน พัฒนาโดยศูนย์นวัตกรรมการพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์และอิเล็กทรอนิกส์อินทรีย์ (TOPIC) ภายใต้ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และผลงาน นาโนซิลิกอนสำหรับใช้เป็นขั้วไฟฟ้าในแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออนในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า จากภาควิชาฟิสิกส์และหลักสูตรวัสดุศาสตร์และนาโนเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ ม.ขอนแก่น เป็นต้น
สอบถามเพิ่มเติม
นายอาทิตย์ ลมูลปลั่ง (แขก) โทร.081-989-3459
เผยแพร่โดย : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์ และ ชลธิชา แสงเทียนสุวรรณ
ที่มา: http://www.thaigov.go.th