วันนี้ (4 พ.ย.57) เวลา 14.30 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมร่วมคณะรักษาความสงบแห่งชาติกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งที่ 2/2557 ซึ่งมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ ร้อยเอก ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุมฯ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงรายชื่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของคณะรัฐมนตรีเสนอ จำนวน 5 คน ประกอบด้วย 1) นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2) นายเจษฎ์ โทณวณิก คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ 3) นายปกรณ์ ปรียากร อดีตคณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 4) นายกระแส ชนะวงศ์ อดีตหัวหน้าพรรคพลังใหม่ และ5) นายวิชัย ทิตตะภักดี นักธุรกิจและกงสุลกิตติมศักดิ์ ซึ่งแต่ละบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ที่มีประวัติการทำงาน มีคุณวุฒิและขีดความสามารถในการทำงานเป็นที่ยอมรับในสังคม
พร้อมกันนี้ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ได้รับทราบรายงานสรุปสถานการณ์ความมั่นคง ซึ่งภาพรวมยังอยู่ในเกณฑ์ที่เรียบร้อย ถึงแม้มีความพยายามในการที่จะเคลื่อนไหวของกลุ่มคู่ขัดแย้งอยู่
ภายหลังรับฟังรายงานความเคลื่อนไหวในเรื่องต่าง ๆ จาก คสช. แล้ว นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการและปรารภต่อที่ประชุมฯ โดยได้กล่าวาขอบคุณเจ้าหน้าที่ภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้ง คสช. กอ.รมน. ศอ.บต. ที่เสียสละและตั้งใจทำงานตามหน้าที่ เพื่อให้บ้านเมืองกลับเข้าสู่ความสงบสุขโดยเร็ว ทั้งนี้ในส่วนของกรณีที่มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มคู่ขัดแย้ง หรือกลุ่มที่มีแนวความคิดทางการเมืองเพิ่มขึ้นในระยะ 1-2 เดือนที่ผ่านมานั้น นายกรัฐมนตรี ได้ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด และให้ทำความเข้าใจกับกลุ่มที่พยายามเคลื่อนไหวดังกล่าว เพื่อชี้แจงให้เห็นถึงความจำเป็นเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมืองของประเทศว่าเป็นอย่างไร เพราะหากมีการเคลื่อนไหวจนสร้างความสับสนให้สังคม บ้านเมืองก็จะกลับไปสู่สภาพเดิมซึ่งจะทำให้การเดินหน้าปฏิรูปประเทศหรือการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่ได้วางแผนไว้ก็จะเป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่อย่างไรก็ตามหากการสร้างความเข้าใจไม่สามารถที่จะทำความเข้าใจกับผู้ที่พยายามเคลื่อนไหวดังกล่าวได้ ถ้ามีความจำเป็นต้องใช้การบังคับด้วยกฎหมายก็ต้องดำเนินการ โดยให้เริ่มจากกฎหมายปกติก่อน จากมาตรการขั้นเบาไปหาขั้นหนัก การใช้กฎอัยการศึก หรือมาตรา 44 ในกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ให้อำนาจพิเศษไว้ เพื่อให้บ้านเมืองสงบสุข
ส่วนการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งข้าราชการพลเรือน ตำรวจ หรือทหาร ที่ต้องลงไปพบปะใกล้ชิดกับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย การจัดระเบียบต่าง ๆ นั้น นายกรัฐมนตรี ให้ดำเนินการด้วยความเข้มแข็ง โดยให้พิจารณาตัวผู้บังคับหน่วยที่จะลงไป จากผู้ที่มีวุฒิภาวะ มีความเป็นผู้ใหญ่ มีลักษณะที่สุภาพเรียบร้อย เพื่อที่จะทำให้สังคมเกิดความรู้สึกสบายใจว่าไม่ได้ต้องการที่จะบังคับใช้กฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว โดยเรื่องการสร้างความเข้าใจคือสิ่งสำคัญที่จะทำให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าได้
ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำให้การบังคับใช้กฎหมายตั้งแต่ต้นทาง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เร่งดำเนินการจัดระเบียบสังคม และจับกุมปราบปรามผู้ที่ลักลอบกระทำผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาวุธสงคราม โดยให้มีการประสานกับกองกำลังในพื้นที่ตามแนวชายแดนของทางทหารเพื่อที่จะตรวจจับอาวุธสงคราม ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ชายแดน หรือพื้นที่อื่น ทั้งนี้เรื่องที่เกี่ยวกับการทำผิดกฎหมายนั้น ให้ยืนยันในเจตนารมณ์เดิมของ คสช. และรัฐบาล โดยใช้วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นเส้นกำหนด ไม่ว่าเรื่องใดก็แล้วแต่ที่เกิดขึ้นเป็นความขัดแย้งก่อนหน้านี้ ให้ดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนของกฎหมายตามนั้น และไม่มีความพยายามที่จะไปลดจนทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีการใช้เส้นสายโดยเด็ดขาด แต่จะให้ดำเนินการไปตามกระบวนการของกฎหมาย แต่หลังจากวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา จะมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด จะป้องกัน ป้องปรามไม่ให้เกิดเรื่องราวเหล่านั้นได้ แต่หากเกิดก็จะมีการลงโทษตามกระบวนการทางกฎหมายโดยทันที
อีกทั้ง นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำเรื่องการปฏิบัติงานที่ออกไปช่วยเหลือประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติงานของชุดมวลชน หรือชุดแพทย์ ทั้งในส่วนของทหาร ตำรวจ หรือหน่วยงานพลเรือน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
รวมทั้งให้ติดตามข้อมูลข่าวสารจากสื่อโดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อหนังสือพิมพ์ว่า สิ่งใดมีผลกระทบต่อเรื่องของความมั่นคง หรือเรื่องการสร้างความเข้าใจของประชาชน ให้พยายามชี้แจงทำความเข้าใจทั้งสองส่วนกับประชาชนว่าข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเป็นอย่างไร และชี้แจงทำความเข้าใจกับสื่อมวลชน โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์บางส่วน บางฉบับ ที่พยายามนำเสนอข่าวไม่ตรงกับข้อมูลที่เป็นจริงอยู่ ขณะเดียวกันในส่วนการปฏิรูปของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันติดตามการปฏิรูปของสื่อด้วยเช่นกัน และวอนขอให้สื่อมวลชนซึ่งส่วนใหญ่มีคุณธรรมจริยธรรมอยู่แล้วช่วยกันทำให้องค์กรของตนเองมีความเข้มแข็ง ได้รับความน่าเชื่อถือจากแต่ละส่วน โดยเฉพาะเรื่องการนำคำบางคำซึ่งเป็นคำในเชิงลบมาใช้ เช่น กรณีที่นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี พยายามที่จะชี้แจงอธิบายความในงานที่ตนเองหรือหน่วยงานได้ทำตามข้อสัญญาที่มีไว้กับประชาชน แต่กลับไปใช้ในลักษณะ “โว” “ฟุ้ง” หรือ “ปัด” ซึ่งคำดังกล่าวเหล่านี้เป็นคำในเชิงลบไม่ใช่คำที่สร้างสรรค์ ทำให้คนในสังคมฟังแล้วเหมือนเจ้าหน้าที่ไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งลักษณะอย่างนี้จะสร้างความเชื่อมั่นเชื่อถือให้กับผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งจะสร้างสรรค์กำลังใจในการปฏิบัติงานให้กับเจ้าหน้าที่ทั้งหลายที่มีต่อประชาชนได้อย่างไร ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ฝากในเรื่องดังกล่าวในการปฏิรูปสื่อ โดยหวังว่าทุกคนจะตั้งใจเสนอแนวความคิดต่าง ๆ เข้าไปยังส่วนที่เกี่ยวข้องในสภาปฏิรูปฯ เพื่อให้องค์กรสื่อได้รับความเชื่อมั่นและเชื่อถือจากสังคม
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวต่อที่ประชุมฯ เพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยพยายามที่จะสนับสนุนในเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ ให้มีการขยายงานทางเศรษฐกิจของภาคเอกชนที่มีอยู่แล้วให้ดำเนินการต่อไป อะไรก็ตามที่เป็นการก่อสร้างขนาดใหญ่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังไม่มีความพร้อมขออย่าเพิ่งดำเนินการ เพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องต่าง ๆ ที่มีความซับซ้อนในเรื่องของการดูแลความปลอดภัย จึงขอให้พยายามขยายกลุ่มธุรกิจที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ให้สามารถที่จะเติบโตและมีความแข็งแรงได้ก่อน
อย่างไรก็ดี งานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น งานการเมืองยังอ่อน หมายถึงการทำความเข้าใจในเรื่องภารกิจหน้าที่ที่ส่วนราชการพยายามจะสร้างมิติใหม่ให้กับประชาชนได้เกิดความเข้าใจ และสบายใจ ว่าเราสามารถที่จะช่วยเหลือ อำนวยความสะดวก และดูแลความปลอดภัยของประชาชนได้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีการชี้แจงทำความเข้าใจ ไม่ใช่เน้นการปฏิบัติงานเรื่องของการพัฒนา หรือการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินแต่เพียงอย่างเดียว รวมทั้งขอความเห็นใจให้กับเจ้าหน้าที่ทหารที่ลงปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะเรื่องของการขอเงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ (พ.ส.ร.) หรือเหรียญตรากับการที่เจ้าหน้าที่ทหารต้องยอมเสี่ยงชีวิตในการลงไปในพื้นที่ก็ยังไม่เห็นผลแม้จะมีรัฐบาลมาหลายสมัยแล้วก็ตาม จึงขอให้ส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้รับเรื่องนี้ไปพิจารณาด้วย
อีกทั้ง นายกรัฐมนตรี ไม่มีนโยบายที่จะให้มีการจัดซื้ออาวุธปืนใหม่ไปให้กับหน่วยงานภาคเอกชน หรือหน่วยงานพลเรือนทั้งหลายที่ปฏิบัติซึ่งไม่ใช่ทหาร โดยอาวุธใหม่จะจัดซื้อเฉพาะหน่วยงานที่เป็นหน่วยงานความมั่นคงของทหารเท่านั้น แต่หากหน่วยงานอื่นมีความจำเป็นจะต้องใช้ก็ให้ติดต่อประสานมาแล้วจะดำเนินการนำยุทโธปกรณ์ที่กองทัพมีและเคยใช้ส่งไปหมุนเวียนให้ใช้กันต่อไป อย่างไรก็ตาม หน่วยที่มีการนำอาวุธของทางเจ้าหน้าที่ทหารไปใช้ จะต้องมีมาตรการในการดูแลความปลอดภัยให้รัดกุม และมีคลังอาวุธเก็บให้เรียบร้อยและปลอดภัย
พร้อมทั้ง นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวชื่นชมต่อการแก้ไขปัญหาในการพยายามที่จะลดอุบัติเหตุของรถไฟกับรถยนต์ ที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้งในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเรื่องนี้ได้รับทราบรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า ได้มีการติดต่อประสานงานกับกระทรวงคมนาคม ที่จะมีการนำเจ้าหน้าที่ในพื้นที่มาช่วยดูแลความปลอดภัยให้อีกทางหนึ่งด้วย
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th