รองโฆษกรัฐบาลแจงการเปิดสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมครั้งที่ 21 ประเทศไทยได้ประโยชน์คุ้มค่า

ข่าวทั่วไป Wednesday November 5, 2014 17:57 —สำนักโฆษก

พลตรี สรรเสริญฯ รองโฆษกรัฐบาลชี้แจงการเปิดสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมครั้งที่ 21 ประเทศไทยได้ประโยชน์คุ้มค่า โดยยืนยันมีการทำ EIA พร้อมรับฟังความคิดเห็นและความยินยอมจากประชาชนในพื้นที่ก่อนผู้รับสัมปทานดำเนินการสำรวจฯ

วันนี้ (5 พ.ย.57) เวลา 15.15 น. ณ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงทำความเข้าใจให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลและข้อเท็จจริงต่อกรณีข้อสงสัยของสังคมเกี่ยวกับการเปิดสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมครั้งที่ 21 ประเทศไทยได้ประโยชน์คุ้มค่าหรือไม่ ทำไมถึงรีบดำเนินการ และได้มีการฟังเสียงจากประชาชนหรือยัง ตลอดจนการดำเนินการจะทำลายสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

1. เหตุผลในการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมครั้งที่ 21 เนื่องจาก รัฐบาลต้องรับประกันต่อประชาชนทั้งประเทศว่าในอีก 5 – 9 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะยังมีพลังงานประเภทปิโตรเลียมจากทรัพยากรธรรมชาติในประเทศขึ้นมาใช้งานเพื่อรองรับความต้องการของประชาชนอย่างต่อเนื่อง (ระยะเวลา 5 – 9 ปี คือห้วงระยะเวลาของการสำรวจที่น้อยที่สุดและมากที่สุดในการสำรวจและผลิตเพื่อนำพลังงานปิโตรเลียมขึ้นมาใช้งาน) ซึ่งหากประวิงเวลาออกไปประเทศไทยจะสุ่มเสี่ยงต่อภาวะขาดแคลนพลังงาน ซึ่งจากข้อมูลปริมาณปิโตรเลียมในปัจจุบัน หากไม่มีการสำรวจและผลิตเพิ่มเติม ประเทศไทยจะมีปิโตรเลียมใช้อีกเพียง 7 ปีเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีประเด็นในเรื่องของความเชื่อมั่นของนักลงทุนอีกด้วย ซึ่งระยะเวลาที่ยังไม่มีข้อสรุปออกมาจะทำให้นักลงทุนขาดความมั่นใจแลอาจตกลงใจเลือกทำการสำรวจในประเทศอื่นก็ได้ แม้ว่าเรื่องนี้จะไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ก็ถือเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ จะเห็นได้จาก ณ เวลานี้ทั้งที่หลายบริษัทแสดงท่าทีว่าสนใจ แต่ก็ยังไม่มีบริษัทใดมายื่นขอสิทธิ์กับการเชื้อเพลิงธรรมชาติเลย

2. ต่อกรณีการรับฟังเสียงของประชาชนยืนยันว่า รัฐบาลพร้อมฟังเสียงของประชาชนอย่างเต็มที่จะเห็นได้จากรัฐบาลถือว่าเรื่องพลังงานเป็นเรื่องสำคัญโดยได้ผลักดันเรื่องพลังงานให้เป็นวาระเร่งด่วนและขอให้ สปช. ได้พิจารณาระดมความคิดจากทุกภาคส่วน เพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินงานซึ่งคาดว่า สปช. จะสามารถหาข้อสรุปในเบื้องต้นได้ในระยะเวลาก่อนถึงวันครบกำหนดการยื่นขอสิทธิ์ในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมครั้งที่ 21 (18 กุมภาพันธ์ 2558) ทั้งนี้เวที สปช.เต็มไปด้วยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งก็มีผู้ที่เห็นต่างรวมอยู่ด้วย จึงทำให้มั่นใจว่าข้อสรุปที่ออกมาจะเป็นข้อสรุปในเบื้องต้นที่ผ่านการพิจารณาบนพื้นฐานของข้อมูลและข้อเท็จจริง

3. กรณีความห่วงใยในเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก่อนที่ผู้รับสัมปทานจะเริ่มทำการสำรวจในพื้นที่จะต้องมีกระบวนการสอบถามและต้องได้รับการยินยอมจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ก่อน ตามหลักการทำ EIA (รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ของสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)

4. สำหรับประเด็นที่สำคัญที่สุดในเรื่อง ผลประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการเปิดสัมปทานครั้งนี้ การคัดเลือกบริษัทที่จะเข้ามาสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เราคำนึงถึงเหตุผลสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ บริษัทให้ประโยชน์ต่อประเทศสูงสุด มาตรการในการดูแลผลกระทบสิ่งแวดล้อม และขีดความสามารถที่จะทำจริงตามที่ได้ทำสัญญาไว้กับรัฐ โดยจะพิจารณาเงินทุน ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา โดยในทุกขั้นตอนของการสำรวจและผลิต จะมีกระบวนการตรวจสอบตามข้อสัญญา หากบริษัทคู่สัญญาไม่ได้ปฏิบัติเป็นไปตามนั้น เราสามารถยกเลิกสัญญาได้ในทันทีเพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ

สำหรับผลตอบแทนที่ประเทศไทยจะได้รับการดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในครั้งนี้ ในอดีตที่ผ่านมา ผลตอบแทนที่ประเทศได้รับจะมาจาก 3 ส่วนหลัก คือ ค่าภาคหลวงปิโตรเลียม ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และเงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ ซึ่งคิดเป็น 58 เปอร์เซ็นต์ จากผลกำไรทั้งหมด (นั่นหมายถึงบริษัทผู้รับสัมปทานจะได้รับผลตอบแทน 42 เปอร์เซ็นต์ จากผลกำไรทั้งหมด) แต่ในปัจจุบันสัญญาของเราได้เรียกรับผลประโยชน์ในลักษณะ Thailand 3+ ซึ่งเรียกรับเงินเพิ่มจากเดิม 3 กรณี คือ

1) เงินสนับสนุนเพื่อการศึกษา พัฒนาชุมชนท้องถิ่น ช่วงสำรวจ ไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาทต่อปี ช่วงผลิต ไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาทต่อปี

2) Signature bonus ลงนามในสัญญาที่จะเริ่มสำรวจจ่ายก่อนไม่น้อยกว่า 2 – 100 ล้านบาทต่อแปลง

3) Production bonus จ่ายเมื่อการผลิตสะสมที่ 10, 20 และ 30 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ โดยแปลงบนบก 400 ล้านบาทต่อครั้ง และแปลงในทะเล 200 ล้านบาทต่อครั้ง

ทั้งนี้เมื่อเริ่มต้นขุดเจาะแล้วจะต้องให้บริษัทของคนไทยร่วมประกอบกิจการอย่างน้อย 5 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งใช้สินค้าและบริการจากคนไทยเป็นลำดับแรก อย่างไรก็ตามจากการประเมินของกระทรวงพลังงานประเทศไทยจะได้รับผลตอบแทนภายใต้สัญญา Thailand 3 Plus ประมาณ 72 เปอร์เซ็นต์จากผลกำไรทั้งหมด โดยรายได้หรือกำไรจะอยู่บนพื้นฐานความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ส่วน 29 แปลงที่จะให้เปิดสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมใหม่ครั้งนี้ อยู่ในพื้นที่ที่ยังเป็นปัญหาการอ้างสิทธิระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่ นั้น รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันว่า ไม่อยู่ในเขตอ้างสิทธิ์หรือพื้นที่ที่เป็นปัญหา แต่เป็นพื้นที่ที่เป็นของประเทศไทยเท่านั้น อย่างไรก็ตามในส่วนพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับพื้นที่ที่เป็นปัญหาโดยเฉพาะพื้นที่ในทะเลก็ขออย่าได้เป็นกังวลต่อกรณีดังกล่าวเพราะจะมีเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงคือทหารเรือของประเทศไทยดูแลอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านก็จะมีเจ้าหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องของเขาดูแลเช่นกัน ซึ่งขอให้ประชาชนคนไทยสบายใจและคลายความกังวลต่อกรณีดังกล่าวได้

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ