วันนี้ (5 พ.ย.57) เวลา 14.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งที่ 1/2557 โดยมี หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม โดยภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คนร. ได้แถลงผลการประชุมที่ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ซึ่งที่ประชุม คนร. มีมติที่สำคัญดังนี้
1. การจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ประชุมเห็นชอบหลักการการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (กองทุนรวมฯ) (Infrastructure Fund) ของ กฟผ. อายุโครงการ 20 ปี ซึ่งถือเป็นโครงการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโครงการแรกของรัฐวิสาหกิจ (โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ) โดยคาดว่าจะสามารถระดมทุนผ่านกองทุนรวมฯ ได้ที่ระดับประมาณ 20,000 ล้านบาท และมีระยะเวลาเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมฯ ดังกล่าวจะอยู่ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 โดยโครงการกองทุนรวมฯ กฟผ. ดังกล่าวจะสามารถใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาระดมทุนผ่านกองทุนรวมฯ ของรัฐวิสาหกิจอื่นต่อไป ทั้งนี้ การระดมทุนผ่านกองทุนรวมฯ ดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นให้รัฐบาลสามารถลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศได้มากขึ้น ตลอดจนเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกหนึ่งในการออมแก่ประชาชน
2. การกำหนดนโยบายรัฐวิสาหกิจ
1) มอบหมายให้หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบในการหารือร่วมกันระหว่างคณะอนุกรรมการกำหนดยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ และกระทรวงเจ้าสังกัด เพื่อพิจารณากำหนดบทบาทและทิศทางการดำเนินงานที่ชัดเจนของรัฐวิสาหกิจ โดยให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการที่เหมาะสมและจำเป็น รวมทั้งแบ่งแยกบทบาทของการกำกับดูแล (Regulator) และผู้ประกอบการ (Operator) ในกิจการรัฐวิสาหกิจให้ชัดเจน เพื่อพิจารณากำหนดบทบาทที่คาดหวังและทิศทางการดำเนินงานที่ชัดเจนของรัฐวิสาหกิจและให้นำเสนอ คนร. โดยเร็วต่อไป ทั้งนี้ ได้กำหนดว่าจะเสนอแผนในปีหน้า ดังนั้น ทิศทางต่าง ๆ จะเริ่มมีความชัดเจนขึ้น
2) สำหรับแผนการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจรายแห่ง คนร. ได้สั่งการมอบหมายกระทรวงคมนาคมจัดประชุมหารือระหว่างคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาฯ กระทรวงการคลัง ประธานกรรมการของ ร.ฟ.ท. และ ขสมก. เพื่อร่วมกันกำหนดบทบาทและทิศทางการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่ง และกำหนดแนวทางการจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรที่เหมาะสม และนำเสนอ คนร. ต่อไป โดยในส่วนของ ทีโอที กับ กสท โทรคมนาคม จะมีการตรวจสอบทรัพย์สินว่ามีความพอเพียงที่จะแยกออกมาตั้งเป็นหน่วยธุรกิจโดยเฉพาะเรื่องของการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างไร
3) มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. แจ้งรัฐวิสาหกิจเปิดเผยข้อมูลในระดับที่เทียบเคียงได้กับ Listed Company แก่สาธารณะให้มีความครบถ้วน เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบการดำเนินการในด้านต่าง ๆ อย่างเพียงพอ
3. การสร้างความโปร่งใสในการลงทุนและการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมเป็นเจ้าภาพในการจัดทำและลงนามข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ของโครงการจัดซื้อรถโดยสาร NGV ของ ขสมก. รวมถึง โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายของ รฟม. อย่างเป็นทางการ รวมทั้งจัดให้มีผู้สังเกตการณ์อิสระ (Independent External Observer) ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างสำหรับขั้นตอนที่สำคัญ
4. การส่งเสริมให้ภาคเอกชนร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการให้มีการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้เอกชนร่วมลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ (Public Private Partnership : PPP) ให้มีความเหมาะสม และการพัฒนาศักยภาพ (Capacity Building) ของหน่วยงานของกระทรวงการคลังที่รับผิดชอบในเรื่อง PPP และหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง
“นายกรัฐมนตรีในฐานประธาน คนร. ได้มอบหมายด้วยว่าในการประชุมครั้งหน้า ฝ่ายเลขาฯ ต้องเสนองานที่เห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจนมา เพื่อที่จะเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนในเรื่องการให้บริการของรัฐวิสาหกิจด้วย” กรรมการและเลขานุการ คนร. กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า คนร.จะมีการพิจารณาเรื่องรถเมล์ รถไฟฟรี ด้วยหรือไม่ นายกุลิศ กล่าวว่า ในเรื่องการให้บริการสาธารณะมีการพูดถึงอยู่ว่าการที่ให้รถวิ่งกันเปล่า ๆ นี้ควรจะมีการแยกคนด้วย ไม่ใช่ว่าเอารถเมล์มาวิ่งแล้วใครขึ้นก็ได้ คนรวยก็ขึ้นได้ หรือคนจนก็ขึ้นได้ ควรจะมีการจำกัดหรือไม่ว่าการขึ้นรถเมล์ฟรีอาจจะมีคูปองหรือบัตรต่าง ๆ ในการช่วยให้คนที่ต้องการใช้รถเมล์ฟรีจริง ๆ ได้ใช้บริการ ไม่ใช่ว่าคนที่สามารถจะซื้อตั๋วเองได้ก็มาขึ้น โดยจะได้มีการพิจารณาในส่วนนี้ด้วย
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th