นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายในการอำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยแก่ประชาชน ช่วงเทศกาลลอยกระทง ซึ่งตรงกับวันที่ 6 พฤศจิกายน 2557 ภายใต้แนวคิด “มีความสุข สะดวก และปลอดภัย” พื้นที่จัดงานในวันลอยกระทง ส่วนใหญ่เป็น ริมแม่น้ำ ลำคลอง แนวชายฝั่ง หรือแหล่งชุมชนเมือง ในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด ซึ่งเป็นสวนสาธารณะ อยู่ในความดูแลของส่วนราชการ และเป็นพื้นที่ห้ามจำหน่าย ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ที่ผ่านมาในแต่ละปีพบว่ายังมีการขาย การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บริเวณสถานที่ห้าม ในปีนี้ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กวดขันกำชับการจำหน่าย การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเข้มงวด และหากพบฝ่าฝืนให้ดำเนินการตามกฎหมายทันที เพื่อร่วมกันส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของไทย
นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคจะบังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 อย่างจริงจัง โดยให้สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกจังหวัดทั่วประเทศ ประสานการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ออกตรวจสอบพื้นที่ห้ามขายและห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดในพื้นที่จัดงาน ตั้งแต่วันที่ 5-6 พฤศจิกายน 2556 โดยให้ผู้ประกอบการค้าขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด 4 เรื่อง คือ 1.ห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี 2.ขายตามเวลาที่กฎหมายกำหนด 3.ห้ามขายในพื้นที่ห้ามขาย ได้แก่ วัด โรงเรียน สวนสาธารณะ ส่วนใหญ่เป็นสถานจัดงานอยู่ในความดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น ริมแม่น้ำ ริมคลอง แนวชายหาด เป็นต้น และ4.ห้ามโฆษณา ลด แลก แจก แถม หรือสื่อสารการตลาดทุกชนิด หากพบกระทำผิด จะดำเนินการตามกฎหมายทันทีโดยไม่ละเว้น มีโทษสูงสุดคือ จำคุก 1 ปี หรือปรับ 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยจะตรวจเตือน เพื่อประชาสัมพันธ์เฝ้าระวังและสร้างความเข้าใจผู้ประกอบการล่วงหน้า ในปีนี้จะเน้นในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ กรุงเทพ และปริมณฑล
ทางด้านนายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ 3 วัน ทางสำนักงานฯ ร่วมกับภาคีเครือข่ายตรวจร้านเหล้ารอบสถานศึกษาตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี โดยตรวจบริเวณรอบมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต , จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยรังสิต ดำเนินคดี 16ราย เกือบทั้งหมดเป็นการโฆษณาสื่อสารการตลาด มีโทษสูงสุดจำคุก 1ปี ปรับ 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กับการขายด้วยวิธีการต้องห้าม เช่น การลดราคา แลก แจก แถม เป็นต้น มีโทษสูงสุดจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และการขายให้กับเด็กอายุไม่ถึง 20 ปี อันมีโทษสูงสุดจำคุก 1ปี ปรับ 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับสำหรับในช่วงเทศกาลลอยกระทงปีที่ผ่านมา ผลการดำเนินการตรวจเตือน คดีเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ตาก สุโขทัย สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ตรวจทั้งหมด 484 ราย ดำเนินคดีทั้งสิ้น 65 ราย ส่วนใหญ่กระทำผิด ดื่มในที่ห้ามดื่ม จำหน่ายให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี
6 พฤศจิกายน 2557
ที่มา: http://www.thaigov.go.th