นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมประชุมกระทรวงศึกษา ครั้งที่ ๗/๒๕๕๗ โดยมี พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาสัย รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุม และมี นายกฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงจากทุกองค์กรหลักและองค์กรในกำกับ ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
การประชุมกระทรวงศึกษาธิการ ครั้ง ๗/๒๕๕๗
๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ :นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมประชุมกระทรวงศึกษา ครั้งที่ ๗/๒๕๕๗ โดยมี พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาสัย รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุม และมี นายกฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงจากทุกองค์กรหลักและองค์กรในกำกับ ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ
โดยในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้รายงานที่ประชุมในวาระการประชุมต่างๆ ดังนี้
๑. รายงานผลการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๘ของกระทรวงศึกษาธิการ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะ ๓ เดือน โดยกระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณ ๕๐๑,๓๒๖,.๑๕๑๗ ล้านบาทื และมีแผนการใช้จ่ายงบประมาณปี ๒๕๕๘ ใน ๓ เดือนแรก ๓๕.๕๕%คิดเป็นเงิน ๑๗๘,๒๒๓.๑๔๖๓ ล้านบาท
ในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้รับจัดสรร ๕๔,๐๘๗.๓๓๖๙ ล้านบาท และมีแผนการใช้จ่าย ๓ เดือนแรกของปีงบประมาณ ๒๕๕๘ ๓๕% คิดเป็นเงิน ๑๘,๙๓๒.๓๒๓๗ ล้านบาท โดยสรุปผลการเบิกจ่ายงบประมาณ ณ วันที่ ๓๑ ตุลาคม๒๕๕๗ ของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการที่ได้รับ ๕๔,๐๘๗.๓๓๖๙ ล้านบาท จำแนกเป็น งบรายจ่ายประจำ ๕๓,๗๖๙.๑๐๙ ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว ๒,๘๒๖.๖๒๕ ล้านบาท (๕.๒%) และงบรายจ่ายลงทุน ๓๑๘.๒๒๘ ล้านบาท ซึ่งยังไม่มีการเบิกจ่าย
สำหรับการเบิกจ่ายในภาพรวมของกระทรวงศึกษาธิการ สามารถเบิกจ่ายได้ ๕๙,๔๖๔.๐๘๘ ล้านบาท (๑๑.๘๖%) จำแนกเป็น งบรายจ่ายประจำ ๕๖,๓๙๘.๗๕๔ ล้านบาท (๑๒.๒๒%) งบรายจ่ายลงทุน ๓,๐๖๕.๓๓๕ ล้านบาท ทั้งนี้คาดว่า ในไตรมาสแรกกระทรวงศึกษาธิการจะสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ คือ ๓๕.๕% ของงบประมาณที่ได้รับ
โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเน้นย้ำให้เร่งรัดการใช้จ่ายในงบลงทุนและให้ดำเนินการด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ถูกต้องตามระเบียบพัสดุ รวมถึงอย่าให้มีข้อร้องเรียน และหากมีการแอบอ้างจาก คสช. ครม. หรือ รมต. ให้รายงานให้ทราบทันที
๒. กิจกรรมลูกเสืออาสา กกต. เพื่อพัฒนาประชาธิปไตย
โดยสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) ตั้งแต่วันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๐ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกองลูกเสืออาสา กกต. ในการรณรงค์ให้ความรู้ เสริมสร้างความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยและการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม เพื่อปลูกจิตสำนึกให้ลูกเสือได้เห็นความสำคัญและคุณค่าของการเลือกตั้ง และเพื่อให้ลูกเสือได้กระทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมในการรณรงค์เลือกตั้งและการให้บริการประชาชนในการเลือกตั้ง ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ ถึงปัจจุบัน โดยมีการฝึกอบรมผู้บังคับบัญชา ๒๗ รุ่น รวม ๓,๘๒๙ คน และลูกเสือ กกต. จาก ๘๔๔ โรงเรียน รวม ๖๗,๙๕๙ คน
โดยหลักสูตรการฝึกอบรมจะครอบคลุมหมวดวิชาลูกเสือและส่วนที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง เช่น คำปฏิญาณและกฎลูกเสือ, วิชาค่ายการสังเกตและจดจำ, ชีวิตกับการเมืองการปกครอง, การดำเนินการจัดการเลือกตั้ง, ข้อห้ามและความผิดในการเลือกตั้ง และการอบหมายภารกิจลูกเสือ กกต.
ทั้งนี้ จากการประชุมคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๕๗ ได้เห็นชอบหลักสูตรพิเศษ เรื่อง ลูกเสืออาสา กกต. เพื่อพัฒนาประชาธิปไตย และขอความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้สถานศึกษาในสังกัดสอนวิชาพิเศษดังกล่าว โดยผ่านระบบลูกเสือจังหวัด
๓. ลูกเสือช่อสะอาด
โดยกระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) เรื่อง “การพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมเยาวชนโดยกระบวนการลูกเสือ” เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๖ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างทัศนคติค่านิยม ความซื่อสัตย์สุจริต ในหลักสูตรการเรียนการสอนของวิชาลูกเสือและเนตรนารี โดยการจัดทำหลักสูตร “ลูกเสือช่อสะอาด” และส่งเสริมให้มีการจัดตั้ง “หน่วยลูกเสือช่อสะอาด”
สำหรับหลักสูตรลูกเสือช่อสะอาด ได้มีการดำเนินการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำหลักสูตร และคู่มือฝึกอบรมลูกเสือ ๔ ประเภท คือ ลูกเสือสำรอง ลูกเสือสามัญ ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ และลูกเสือวิสามัญ และได้นำหลักสูตรไปทดลองใช้กับลูกเสือทั้ง ๔ ประเภท ระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ๒๕๕๗ และได้ปรับปรุงโดยการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อทบทวนหลักสูตรไปเมื่อวันที่ ๑๓-๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๗
ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการและ ป.ป.ช. จะจัดฝึกอบรมครูผู้ปฏิบัติการสอนเพื่อเตรียมความพร้อมในการนำหลักสูตรดังกล่าวไปใช้ในการเรียนการสอนวิชาลูกเสือและเนตรนารี และจะผลักดันให้วิชาลูกเสือช่อสะอาดเป็นวิชาพิเศษและเป็นวิชาบังคับให้ผู้เรียนวิชาลูกเสือทุกคนต้องเรียน
โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ให้ข้อคิดเห็นว่า ควรมีการหารือกับหน่วยงานต่างๆ ที่จะเข้ามาจัดกิจกรรมกับลูกเสือ เพื่อทบทวนดูว่ากิจกรรมเหล่านั้นไม่รบกวนเวลาเรียนของเด็ก และให้มอบเครื่องหมายเพื่อแสดงว่าสำเร็จกิจกรรมการเรียนนั้นแล้วแทนการตั้งชื่อเฉพาะ
๔. การจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๗ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๗ ของกระทรวงศึกษาธิการ
โดยใช้ชื่องาน “เทิดไท้พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน”จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๓-๕ ธันวาคม ๒๕๕๗ บริเวณโดยรอบกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งด้านหน้าถนนราชดำเนิน ด้านถนนพิษณุโลก และถนนริมคลองผดุงกรุงเกษม และมีพิธีเปิด ในวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๕๗ บริเวณด้านหน้ากระทรวง ซึ่งภายในงานประกอบด้วย นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ นิทรรศการพระราชกรณียกิจ เช่น การศึกษาทางไกล, สถานศึกษาพอเพียง, การศึกษานอกระบบ, ครูแห่งแผ่นดิน เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการแสดงของนักเรียนนักศึกษา การจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ฝีมือนักเรียน นักศึกษา กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ต่างๆ กิจกรรมลงนามถวายพระพรออนไลน์ และพิธีจุดเทียนชัยถวายพระพรในวันที่ ๕ ธันวาคม พร้อมกับมณฑลพิธีท้องสนามหลวง
ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมกับสำนักนายกรัฐมนตรี จัดงาน “รักพ่อ” ขึ้นระหว่างวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน – ๖ ธันวาคม ๒๕๕๗ ตั้งแต่เวลา ๑๐.๐๐ – ๒๒.๐๐ น. บริเวณท้องสนามหลวงและถนนราชดำเนินกลาง โดยในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการจะร่วมจัดกิจกรรม ๒ ส่วน คือ
- ร่วมจัดนิทรรศการและการแสดงผลการดำเนินงานตามโครงการพระราชดำริในรูปแบบของนิทรรศการมีชีวิต
- ร่วมจัดกิจกรรมจากใจเยาวชนภายใต้ชื่อ “อุโมงค์แสงวันเวลาพระทรงธรรม์” โดยกระทรวงศึกษาธิการรับผิดชอบจัดกิจกรรม ประกวดภาพวาดความทรงจำที่มีต่อพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย จัดประกวดทุกวันตั้งแต่เวลา ๑๕.๐๐ น. เป็นต้นไป สำหรับภาพวาดที่ได้รับรางวัลจะนำไปจัดแสดงใน “อุโมงค์แสงวันเวลาพระทรงธรรม์”
กลุ่มสารนิเทศ สอ.สป.ศธ.
ที่มา: http://www.thaigov.go.th