นายกรัฐมนตรีสนับสนุนแนวคิดประเทศไทย + 1 ใช้ไทยเป็นศูนย์กลางกระจายการค้าการลงทุนในภูมิภาค

ข่าวทั่วไป Friday November 7, 2014 11:15 —สำนักโฆษก

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาในงานเลี้ยงรับรอง หัวข้อ “ขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความก้าวหน้า ไทย-ญี่ปุ่น”(Driving the Business Forward, Thai-Japan)จัดโดยหอการค้าญี่ปุ่น

วันนี้ เวลา 18.30 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาในงานเลี้ยงรับรอง หัวข้อ “ขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความก้าวหน้า ไทย-ญี่ปุ่น”(Driving the Business Forward, Thai-Japan)จัดโดยหอการค้าญี่ปุ่น โดยมีนายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นางกอบกาญจน์วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และผู้บริหารบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นในไทย อาทิ TOYOTA, Bank of Tokyo, SUMITOMO เป็นต้น ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมดิโอกุระ เพรสทีจ กรุงเทพฯ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงงาน “ขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความก้าวหน้าไทย-ญี่ปุ่น” จัดโดยหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพ ฯ นับเป็นการพบปะกับนักธุรกิจญี่ปุ่นจำนวนมากที่สุด

ทั้งนี้ ไทยกับญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์มายาวนานกว่า 100 ปี โดยปัจจุบันยังมีหมู่บ้านญี่ปุ่นที่จังหวัดอยุธยา และเมื่อครั้งที่ไทยประสบกับภับพิบัติสินามิ ในปี พ.ศ. 2547 ญี่ปุ่นก็ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศไทย ขณะเดียวกัน เมื่อญี่ปุ่นประสบสึนามิ ในปี พ.ศ. 2554ไทยก็ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ญี่ปุ่นเช่นกัน

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงในเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมาว่า อาจยังมีความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองของไทย แต่ยืนยันว่าประเทศไทยจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาการเมือง และปฏิรูปประเทศให้ก้าวพ้นจากสถานการณ์ชะงักงันที่ประเทศได้เผชิญมาโดยไม่มีทางออก เข้าใจความห่วงใยแต่ขอให้เข้าใจสถานการณ์ของไทย และสิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่ เพื่อนำพาประเทศกลับสู่ระบบประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ยั่งยืน และเป็นที่ยอมรับของประชาชนไทย และประชาคมโลก

ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่ รวมทั้งภาคธุรกิจรู้สึกโล่งใจที่ประเทศไทยได้เริ่มกลับสู่ภาวะปกติ มีเสถียรภาพมากขึ้น และเศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อีกครั้ง ขณะนี้คณะรัฐบาลกำลังเดินหน้าเรื่องการปฏิรูปในทุกด้าน โดยจะให้ความสำคัญกับหลักธรรมาภิบาล ความโปร่งใส และตรวจสอบได้

ในการปฏิรูปทางด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลจะดำเนินนโยบายเพื่อเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยครอบคลุมในเรื่องต่างๆ อาทิ ด้านพลังงานเพื่อให้มีใช้อย่างพอเพียง การปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐาน การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การปรับโครงสร้างภาคเกษตรกรรม การเพิ่มขีดความสามารถของ SMEs และการส่งเสริมภาคเศรษฐกิจดิจิตอลหรือการนำเรื่องเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาพัฒนาเศรษฐกิจมากขึ้น เป็นต้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านโครงสร้างพื้นฐานนั้น รัฐบาลมีแผนจะพัฒนาระบบคมนาคมและการขนส่งของประเทศ รวมถึงการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ด้านการขนส่งสินค้ามากขึ้น ทำให้ประเทศไทยเป็น Hub หรือศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของภูมิภาคอย่างแท้จริง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งการค้าและการลงทุนในประเทศไทยในอนาคต

สำหรับการลงทุนนั้น นายกรัฐมนตรียืนยันว่า นโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน ยังยึดแนวนโยบายเศรษฐกิจเสรี ยินดีต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศ โดยรัฐบาลจะมุ่งมั่นปรับปรุงกฎระเบียบ และเสริมสร้างสภาพแวดล้อมการลงทุนให้เหมาะสม พร้อมทั้งการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่อาจมี

เป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์อันดีมาช้านาน มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในทุกระดับ และมีความร่วมมืออย่างกว้างขวางในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจนั้น ประเทศญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับต้นๆของไทย และยังเป็นต่างชาติที่ลงทุนสูงสุดในประเทศไทยมาโดยตลอดในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา นักลงทุนญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างมาก และยังคงมีบทบาทสูงอย่างต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อพัฒนาการของอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

ในปี 2556 ที่ผ่านมา มูลค่าการลงทุนจากญี่ปุ่นมีสัดส่วนถึงร้อยละ 50 ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมดที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุน คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนราว 3 แสนล้านบาท ข้อมูลการลงทุนดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนญี่ปุ่นที่มีต่อประเทศไทย

รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการลงทุนจากญี่ปุ่น เพราะตระหนักดีว่าญี่ปุ่นมีความรู้ ความชำนาญ มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย และมาตรฐานการผลิตขั้นสูง โดยประเทศไทยได้ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม และการพัฒนาบุคลากรของไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิจัยและพัฒนา จึงขอเชิญชวนให้นักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาในประเทศไทยและดำเนินกิจกรรมด้านวิจัยและพัฒนาให้มากขึ้น

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญต่อการเข้ามาจัดตั้งกิจการสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค (Regional Operating Headquarters: ROH) อย่างมาก เพื่อสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางในด้านต่างๆ (Hub) ของไทยในภูมิภาคอาเซียน โดยมีการให้สิทธิประโยชน์และอำนวยความสะดวกต่างๆ ขอเชิญชวนให้บริษัทญี่ปุ่นเข้ามาตั้งสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคในไทยให้มากขึ้น

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ อยู่ในระหว่างการปรับปรุงนโยบายส่งเสริมการลงทุนให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นเศรษฐกิจที่ใช้ความรู้เป็นพื้นฐาน โดยจะส่งเสริมการลงทุนที่มีคุณค่า เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และการเติบโตอย่างยั่งยืน จะมีการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ให้สอดคล้องกับทิศทางใหม่ รวมทั้งปรับปรุงหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนมากขึ้น

นายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวยืนยันว่า ประเทศไทยมีความพร้อมและมีศักยภาพที่จะรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียนซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีประชากรกว่า 600 ล้านคน พร้อมสนับสนุนแนวคิด Thailand-Plus-One ซึ่งบริษัทญี่ปุ่นหลายรายได้เริ่มใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและเป็นศูนย์กลางกระจายการลงทุนเพื่อขยายไปสู่ประเทศอื่นๆในอาเซียนแล้ว การปรับปรุงระบบการขนส่งและคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้านของไทยจะช่วยสนับสนุนแนวคิดนี้ของท่านเป็นอย่างดี

นอกจากนี้ การเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างไทย–ญี่ปุ่น ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิด ไทย-ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement: JTEPA)และความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน–ญี่ปุ่น (ASEAN-Japan Comprehensive Economic Partnership: AJCEP) และการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 จะมีการเปิดเสรีด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน รวมทั้งการเคลื่อนย้ายบุคลากร จะช่วยเพิ่มโอกาสให้กับนักลงทุนญี่ปุ่นในภูมิภาคอาเซียนมากยิ่งขึ้น

ในต้อนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีกับหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ ได้ดำเนินการมาจนครบรอบ 60 ปีในปีนี้ ขอชื่นชมกับกรรมการบริหารและสมาชิกทุกท่านที่ได้ร่วมกันดำเนินการให้หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ เป็นที่ยอมรับและประสบความสำเร็จในการเสริมสร้าง ความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนกับประเทศไทย ตลอดจนการช่วยเหลือสังคม การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม รวมถึงการสนับสนุนด้านการศึกษาในประเทศไทยอีกด้วย เชื่อมั่นว่า หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ จะรักษาบทบาทในการเป็นองค์กรประสานงานระหว่างภาคเอกชนญี่ปุ่นกับทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของไทย และร่วมมือกันในการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดระหว่างไทยและญี่ปุ่นให้พัฒนาก้าวหน้าสืบไป

อนึ่ง หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC) เป็นหนึ่งในหอการค้าญี่ปุ่นในต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุด ก่อตั้งเมื่อปี2497 (ครบรอบ 60 ปีในปีนี้) ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 1580 บริษัท ที่ผ่านมาได้มีบทบาทในการพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในโอกาสนี้ JCC ได้จัดงานเลี้ยงรับรองดังกล่าวให้แก่บริษัทของญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทยและมีส่วนช่วยผลักดันการเติบโตเศรษฐกิจไทย โดยมีรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจและผู้บริหารบริษัทชั้นนำญี่ปุ่นเข้าร่วมงานกว่า 100 คน

กลุ่มวิเทศสัมพันธ์ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ