วันนี้ (6 พฤศจิกายน 2557) ที่รพ.จุฬาลงกรณ์ กทม. นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวร่วมกับนายสวนิต คงสิริ ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย และรศ.นายแพทย์โศภณ นภาธร คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการ รพ.จุฬาลงกรณ์ ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับสภากาชาดไทย จัดโครงการรวมพลังปันน้ำใจ ต้านภัยอีโบลา ระดมเงินบริจาคจากทุกภาคส่วนของสังคมไทย ส่งไปช่วยเหลือ 3 ประเทศอาฟริกาตะวันตกที่มีการระบาดหนักของโรคอีโบลา เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดที่ประเทศต้นทางอย่างเร่งด่วน ควบคู่ไปกับการสร้างความเข้มแข็งระบบการป้องกันโรคในประเทศ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 14 ตุลาคม 2557 ในการระดมความร่วมมือครั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ให้สถานบริการทุกระดับและหน่วยบริหารในสังกัดทั่วประเทศ ประมาณ 10,000 แห่ง รณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันบริจาคเงินตามศรัทธา ทางบัญชีกระแสรายวัน สาขาโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ชื่อบัญชี “พลังน้ำใจเพื่อหยุดยั้งอีโบลา” 3 ธนาคาร ได้แก่ 1.ไทยพาณิชย์ เลขที่ 468-0-41667-5 2.กสิกรไทย เลขที่ 623-1-00234-9 และ3.กรุงเทพ เลขที่ 913-3-50021-6 จนถึง 31 ธันวาคม 2557 ตั้งเป้า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 30,000 ล้านบาท
นายแพทย์วชิระกล่าวต่อว่า องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้โรคอีโบลา เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2557 ล่าสุดตั้งแต่กุมภาพันธ์ – 2 พฤศจิกายน 2557 มีผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาจาก 6 ประเทศภูมิภาคแอฟริกา สเปน และสหรัฐอเมริกา รวม 13,042 ราย เสียชีวิต 4,818 ราย ส่วนประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้โรคนี้เป็นโรคติดต่ออันตรายเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557
นายแพทย์วชิระกล่าวต่อว่า ไทยได้ใช้ 3 มาตรการหลักดำเนินงานตามแนวทางองค์การอนามัยโลก คือการป้องกัน การตรวจจับโรค และการดูแลรักษากรณีพบผู้ป่วยหรือสงสัย ในส่วนของการป้องกัน ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินเพื่อบริหารจัดการแบบบูรณาการ ประชุมทุกสัปดาห์ และจัดระบบเฝ้าระวัง 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาด ทั้งทางเครื่องบิน เรือ และทางบกที่ด่านชายแดน ติดตามอาการทุกรายจนครบ 21 วัน 2.ผู้ป่วยที่ไปรับการรักษาในโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน และ3.ในชุมชนที่มีชาวต่างชาติจากพื้นที่ระบาดมาอาศัยอยู่ ที่จ.จันทบุรีและเขตบางรัก กทม. และประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนและผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง ในการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ผลการเฝ้าระวังกว่า 5 เดือน ยังไม่พบผู้ป่วยโรคอีโบลา
สำหรับมาตรการตรวจจับโรค เน้นการวินิจฉัยที่แม่นยำรวดเร็ว โดยพัฒนาระบบการตรวจชันสูตรเชื้อทางห้องปฏิบัติการในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 32 แห่ง และสร้างเครือข่ายร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สามารถตรวจยืนยันเชื้อได้ภายใน 24 ชั่วโมง และมาตรการด้านการดูแลรักษาเมื่อมีผู้สงสัยว่าอาจติดเชื้อไวรัสอีโบลา ได้ให้โรงพยาบาลใน 30 จังหวัดที่มีด่านเข้าออกประเทศ จัดห้องแยกสำหรับผู้ป่วยตามแนวทางมาตรฐานและควบคุมการติดเชื้ออย่างเคร่งครัด ในโรงพยาบาลทั่วไปอย่างน้อย 1 ห้อง และในโรงพยาบาลศูนย์อย่างน้อย 2 ห้อง ตั้งทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาแก่แพทย์พยาบาลตลอด 24 ชั่วโมง จัดหาชุดอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยและผู้เกี่ยวข้อง กล่าวได้ว่าขณะนี้ไทยมีความพร้อม และในวันพรุ่งนี้ จะประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป 12 เขตทั่วประเทศและกทม. เพื่อติดตามประเมินระบบความพร้อมตอบโต้สถานการณ์โรคนี้
6 พฤศจิกายน 2557
ที่มา: http://www.thaigov.go.th