สธ.กำชับสถานพยาบาลในภาคใต้ 81 แห่งที่เสี่ยงน้ำท่วม เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉิน

ข่าวทั่วไป Sunday November 9, 2014 17:09 —สำนักโฆษก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กำชับสถานพยาบาลใน 14 จังหวัดภาคใต้ ให้ป้องกันน้ำท่วมเต็มที่ โดยเฉพาะโรงพยาบาลเสี่ยงน้ำท่วม 81 แห่ง ให้จัดแผนป้องกันและแผนจัดบริการประชาชนในภาวะฉุกเฉิน ส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เยี่ยมบ้านผู้ป่วยที่ติดบ้าน วันนี้ส่งยาช่วยน้ำท่วม 20,000 ชุด ที่นครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานี ประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉินโทรแจ้งขอความช่วยเหลือได้ที่หมายเลข 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง

ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการรับมือกับภาวะฝนตกหนักในภาคใต้ ว่า ได้กำชับให้สถานพยาบาลในพื้นที่ทุกแห่ง ให้จัดแผนป้องกันน้ำท่วมโรงพยาบาลอย่างเต็มที่ เพื่อป้องกันความเสียหาย ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่เสี่ยงซึ่งมี 81 แห่ง ส่วนใหญ่จะอยู่ในที่ลุ่มและริมแม่น้ำ ขอให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เตรียมพร้อมแผนป้องกันสถานบริการ และจัดบริการประชาชนในภาวะฉุกเฉินนอกโรงพยาบาลหากมีน้ำท่วมสถานพยาบาล หรือท่วมเส้นทางประชาชนเดินทางเข้าออกลำบาก รวมทั้งวางแผนเส้นทางการส่งต่อผู้ป่วยทั้งในและนอกพื้นที่ จนถึงขณะนี้ยังไม่มีสถานบริการถูกน้ำท่วม

ศ.นายแพทย์รัชตะกล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จัดทีมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกไปเยี่ยมบ้านที่มีผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ หญิงตั้งครรภ์และหลังคลอด เพื่อให้การดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง หากอยู่ในภาวะที่ไม่ปลอดภัยให้ย้ายออกมาจากพื้นที่เป็นการชั่วคราว รวมทั้งได้ให้ทุกจังหวัดจัดยาสามัญประจำบ้านพร้อมแจกจ่ายประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมไว้รักษาพยาบาลเบื้องต้น ซึ่งขณะนี้มีทุกจังหวัดแล้ว อย่างไรก็ดี ในวันนี้ได้จัดส่งยาสามัญประจำบ้านเพิ่มเติมอีก 20,000 ชุดไปสำรองไว้ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราชด้วย

ด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้ให้โรงพยาบาลประสานการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ในกรณีที่มีการอพยพประชาชน เพื่อจัดหน่วยแพทย์ดูแลสุขภาพและสุขาภิบาลน้ำ อาหารและสิ่งแวดล้อมเพื่อป้องกันโรคติดต่อ สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ขอให้เตรียมขนย้ายข้าวของ อุปกรณ์ไฟฟ้าไว้ที่สูง ยกระดับปลั๊กไฟฟ้าสูงจากพื้นที่คิดว่าจะถูกน้ำท่วมประมาณ 1 เมตร สำรองน้ำสะอาด อาหาร อาหารกระป๋องยาที่จำเป็นต่างๆ เช่นยาลดไข้ ยาหยอดตา ยาใส่แผล ผงน้ำตาลเกลือแร่ และยาประจำตัวสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และอุปกรณ์ที่จำเป็นในภาวะฉุกเฉิน เช่น อุปกรณ์สื่อสารพร้อมแบตเตอรี่ ไฟฉาย เทียนไข ไม้ขีดไฟ ถุงขยะ หรือถุงพลาสติกให้เพียงพอ สามารถช่วยตนเองได้ 5-7 วัน จัดบ้านเรือนให้สะอาด เป็นระเบียบ เพื่อป้องกันสัตว์มีพิษหนีน้ำมาอาศัย โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ให้ทุกโรงพยาบาลสำรองเซรุ่มแก้พิษงูที่พบบ่อยในพื้นที่ไว้พร้อมแล้ว ประชาชนสามารถโทรแจ้งขอความช่วยเหลือหากเจ็บป่วยฉุกเฉินได้ที่หมายเลข 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง

นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า สำหรับโรงพยาบาลที่เคยมีปัญหาน้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมา เช่นที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ โรงพยาบาลหลังสวน จังหวัดชุมพร ได้รับรายงานว่า ขณะนี้ได้กั้นกระสอบทรายรอบๆ โรงพยาบาล สำรองอาหารและน้ำสำหรับผู้ป่วย พร้อมออกซิเจน เตรียมเครื่องสูบน้ำ เครื่องปั่นไฟ ไว้พร้อมแล้ว

9 พฤศจิกายน 2557

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ