สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 12 พฤศจิกายน 2557

ข่าวทั่วไป Wednesday November 12, 2014 13:48 —สำนักโฆษก

วันนี้ (12 พฤศจิกายน 2557) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พลตรี สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

กฎหมาย

1. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากร ลดและเพิ่มอัตราอากร ศุลกากรตามข้อผูกพันในความตกลงมาร์ราเกชจัดตั้งองค์การการค้าโลก (ฉบับที่ ..)

2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ...) ออกตามความในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497

สังคม - เศรษฐกิจ

3. เรื่อง แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2557 - 2561) นำเสนอ คณะรัฐมนตรีพิจารณา

4. เรื่อง นำเสนอแนวทางการดำเนินงานปีท่องเที่ยววิถีไทย 2558 และขออนุมัติ ให้ปี 2558 เป็นปีท่องเที่ยววิถีไทยและเป็นวาระแห่งชาติ

5. เรื่อง ดัชนีราคาและผลผลิตสินค้าเกษตรเดือนตุลาคม 2557 และแนวโน้มเดือน พฤศจิกายน 2557 ต่างประเทศ

6. เรื่อง ขออนุมัติจัดตั้งสำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงสตอกโฮล์มราชอาณาจักรสวีเดน

7. เรื่อง การลงนามเพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธ (The Arms Trade Treaty: ATT)

8. เรื่อง ร่างแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ไทย - เวียดนาม (พ.ศ. 2557 - 2561)

9. เรื่อง การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ สปป. ลาว สำหรับโครงการก่อสร้างถนนจากเมืองหงสา-บ้านเชียงแมน (เมืองจอมเพชร แขวงหลวงพระบาง) สปป. ลาว

10. เรื่อง การจัดงาน ASEAN Fisheries and Aquaculture Conference and Exposition 2016 : ASEAN Seafood for the World

11. เรื่อง เอกสารผลการประชุมผู้นำลุ่มแม่น้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 6

12. เรื่อง บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการจัดการ วิจัย และอนุรักษ์พื้นที่ คุ้มครองและอุทยานแห่งชาติระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งราชอาณาจักรไทย และกรมบริการอุทยานแห่งชาติเกาหลี สาธารณรัฐเกาหลี

แต่งตั้ง

13. เรื่อง ขออนุมัติถอดถอนกงสุลกิตติมศักดิ์เครือรัฐออสเตรเลียประจำจังหวัดภูเก็ต ที่พ้นหน้าที่ และแต่งตั้งกงสุลกิตติมศักดิ์เครือรัฐออสเตรเลียประจำจังหวัดภูเก็ต

14. เรื่อง รัฐบาลสาธารณรัฐเฮลเลนิกเสนอขอแต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย

15. เรื่อง รัฐบาลจอร์เจียเสนอขอแต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย

16. เรื่อง รัฐบาลสาธารณรัฐเคนยาเสนอขอแต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย

17. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์เพิ่มเติม

18. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

กฎหมาย

1. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากร ลดและเพิ่มอัตราอากรศุลกากรตามข้อผูกพันในความตกลงมาร์ราเกชจัดตั้งองค์การการค้าโลก (ฉบับที่ ..) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากร ลดและเพิ่มอัตราอากรศุลกากร ตามข้อผูกพันในความตกลงมาร์ราเกชจัดตั้งองค์การการค้าโลก (ฉบับที่ ..) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ กค. เสนอว่า เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (29 กรกฎาคม 2557) กค. จะต้องดำเนินการออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากร ลดและเพิ่มอัตราอากรศุลกากร ตามข้อผูกพันในความตกลงมาร์ราเกชจัดตั้งองค์การการค้าโลก เพื่อลดอัตราอากรในโควตา สำหรับกาก ถั่วเหลืองตามประเภทย่อย 2304.00.90 จากร้อยละ 10 ลงเหลือร้อยละ 2 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 เนื่องจากการลดอัตราอากรในโควตาสำหรับสินค้าดังกล่าวตามประกาศกระทรงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากร ลดและเพิ่มอัตราอากรศุลกากร ตามข้อผูกพันในความตกลงมาร์ราเกชจัดตั้งองค์การการค้าโลกลงวันที่ 6 มกราคม 2555 จะสิ้นอายุในวันที่ 31 ธันวาคม 2557

สาระสำคัญของร่างประกาศ

กำหนดให้ลดอัตราอากรในโควตาสำหรับของตามประเภทย่อย 2304.00.90 (กากถั่วเหลือง) เหลือร้อยละ 2 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560

2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ...) ออกตามความในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ...) ออกตามความในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497 ตามที่กระทรวงกลาโหม (กห.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงกลาโหม (กห.) เสนอว่า

1. กฎกระทรวงฉบับที่ 45 (พ.ศ.2518) ออกตามความในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2597 กำหนดให้บุคคลซึ่งไม่มีคุณวุฒิที่จะเป็นทหารได้เฉพาะบางท้องที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเข้ารับราชการทหารกองประจำการ เนื่องจากเห็นว่าเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลความเจริญ มีขนบธรรมเนียมประเพณีที่ปฏิบัติแตกต่างไปจากบุคคลในพื้นที่ทั่วไปมาก บางรายไม่ได้รับการศึกษา ไม่สามารถใช้ภาษาไทยสื่อสารได้ เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการรับราชการทหารกองประจำการ แต่เนื่องจากปัจจุบันในท้องที่ดังกล่าวได้รับการพัฒนาให้มีความเจริญทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การคมนาคมและการสาธารณสุข และบุคคลในท้องที่นั้นได้รับการศึกษาภาคบังคับอย่างทั่วถึงไม่แตกต่างจากบุคคลในท้องที่อื่น ปัญหาและอุปสรรคต่อการรับราชการทหารกองประจำการกับบุคคลในท้องที่ดังกล่าวจึงหมดสิ้นไป สมควรยกเลิกกฎกระทรวงดังกล่าว ซึ่งการยกเลิกกฎกระทรวงดังกล่าวจะมีผลดีทำให้บุคคลชาวไทยทุกคนมีความเสมอภาคในการเข้ารับราชการทหาร กองประจำการ

2. สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้แจ้งผลการพิจารณาคำร้องที่ขอให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครองและเพื่อเสนอแนะนโยบายหรือข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายและกฎ โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีมติให้เสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายและกฎเพื่อที่คณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะได้พิจารณาดำเนินการเร่งรัดการพิจารณายกเลิกกฎกระทรวงดังกล่าวโดยเร็ว เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนซึ่งกระทรวงมหาดไทย (ในขณะนั้น) พิจารณาเห็นชอบด้วยกับร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ...) ออกตามความในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497 ที่มีหลักการยกเลิกกฎกระทรวงฉบับที่ 45(พ.ศ.2518) ออกตามความในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ.2497 กำหนดให้บุคคลซึ่งไม่มีคุณวุฒิที่จะเป็นทหารได้เฉพาะบางท้องที่ และเป็นไปตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

สังคม - เศรษฐกิจ

3. เรื่อง แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2557 - 2561) นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบและประกาศใช้แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2557 - 2561) พร้อมทั้งสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติด้วยการแปลงแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไปสู่แผนบริหารราชการแผ่นดิน แผนปฏิบัติราชการกระทรวง กรม แผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนแผนพัฒนาองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง แล้วจัดทำเป็นโครงการ/กิจกรรม เพื่อรองรับการดำเนินงานตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยใช้งบประมาณของหน่วยงานมาดำเนินการในการพิจารณานำมิติด้านสิทธิมนุษยชน มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของหน่วยงาน

2. กำหนดให้หน่วยงานต่าง ๆ รายงานผลการปฏิบัติงานตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 เมื่อสิ้นปีงบประมาณ ปีละ 1 ครั้ง ภายในเดือนพฤศจิกายนของทุกปีและมอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมรับผิดชอบการกำหนดแนวทาง วิธีการรายงานผลและแบบรายงานผลการดำเนินงาน พร้อมแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบและถือปฏิบัติ

3. มอบหมายให้ ยธ. โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จัดทำคำแปลบทสรุปแผน สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 เป็นภาษาอังกฤษ สำหรับเผยแพร่นานาประเทศ โดยการจัดทำคำแปล จะประสานผู้ทรงคุณวุฒิและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมพิจารณา สาระสำคัญของแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 มีเป้าหมายสำคัญที่ต้องการทำให้สังคมไทย “เป็นสังคมที่ส่งเสริม สิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียม โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อนำไปสู่สังคม สันติสุข” ซึ่งมีทิศทางครอบคลุมประเด็นสิทธิมนุษยชนทั้ง 11 ด้าน และ 15 กลุ่มเป้าหมาย โดยมีการกล่าวถึงสภาพปัญหา มาตรการ/การปฏิบัติ ตัวชี้วัดความสำเร็จหน่วยงานที่รับผิดชอบ ทั้งหน่วยงานหลักและหน่วยงานร่วมดำเนินการ และกรอบระยะเวลาดำเนินงานอยู่ในช่วง 5 ปีของแผน โดยแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้กำหนดมิติของสิทธิมนุษยชน เป็น 11 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านสาธารณสุข 2) ด้านการศึกษา 3) ด้านเศรษฐกิจ 4) ด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม 5) ด้านที่อยู่อาศัย 6) ด้านวัฒนธรรมและศาสนา 7) ด้านข้อมูล ข่าวสาร เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 8) ด้านการขนส่ง 9) ด้านการเมืองการปกครอง 10) ด้านกระบวนการยุติธรรม 11) ด้านความมั่นคงทางสังคม ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มเป้าหมายที่มีผลกับความมั่นคงทางสังคมและเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน 15 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มผู้ต้องหา/ผู้ต้องขัง 2) กลุ่มผู้พ้นโทษ 3) กลุ่มผู้ต้องหาคดียาเสพติดตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545/กลุ่มผู้ติดยาเสพติด และผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด 4) กลุ่มเหยื่อ/ผู้เสียหาย 5) กลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ 6) กลุ่มผู้ใช้แรงงาน 7) กลุ่มคนจน/ผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา 8) กลุ่มเกษตรกร 9) กลุ่มผู้สูงอายุ 10) กลุ่มเด็กและเยาวชน 11) กลุ่มสตรี 12) กลุ่มคนพิการ 13) กลุ่มผู้ไร้รัฐ ชาติพันธุ์ และกลุ่มผู้แสวงหาที่พักพิงหรือผู้หนีภัยการสู้รบ 14) กลุ่มที่รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรง และ 15) กลุ่มความหลากหลายทางเพศ/อัตลักษณ์ทางเพศ โดยมีการกำหนดกรอบระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2557-2561

4. เรื่อง นำเสนอแนวทางการดำเนินงานปีท่องเที่ยววิถีไทย 2558 และขออนุมัติให้ปี 2558 เป็นปี

ท่องเที่ยววิถีไทยและเป็นวาระแห่งชาติ

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอ ดังนี้

1. อนุมัติให้ปี 2558 เป็นปีท่องเที่ยววิถีไทยและเป็นวาระแห่งชาติ

2. เห็นชอบในหลักการตั้งคณะกรรมการอำนวยการปีท่องเที่ยววิถีไทย 2558 และคณะกรรมการดำเนินงานในระดับปฏิบัติการ 4 คณะ เพื่อเป็นกลไกในการดำเนินการขับเคลื่อนปีท่องเที่ยว วิถีไทย 2558

สาระสำคัญของเรื่อง

กก. รายงานว่า

1. ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2557 เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 ซึ่งมีพลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยาเป็นประธาน ได้เห็นชอบให้นำเสนอปี 2558 เป็นปีท่องเที่ยววิถีไทย

2. ปีท่องเที่ยววิถีไทย 2558 กำหนดเริ่มต้นในเดือนมกราคม 2558 และสิ้นสุดในเดือน

ธันวาคม 2558 โดยมีวัตถุประสงค์การดำเนินการ ดังนี้

2.1 เพื่อนำเสนอภาพลักษณ์ประเทศไทยในมุมมองใหม่ เน้นคุณค่าที่นักท่องเที่ยวจะได้รับจากการมาเที่ยวเมืองไทยผ่านวิถีไทย เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ยอมรับความเป็นคนไทย ตลอดจนให้เกิดการแบ่งปันประสบการณ์อย่างต่อเนื่อง

2.2 เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรม

2.3 เพื่อให้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจในการนำรายได้เข้าประเทศ ก่อให้เกิดเงินตราหมุนเวียนและสามารถก้าวสู่การแข่งขันหลังเปิดประชาคมอาเซียนอย่างสมบูรณ์ในปี 2558

2.4 เพื่อให้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการพัฒนาสังคม ให้คนไทยเกิดการเรียนรู้ เข้าใจ และภูมิใจในความเป็นไทย

3. การนำเสนอปีท่องเที่ยววิถีไทยมีแนวคิดเพี่อพลิกมิติการนำเสนอประเทศไทย จากการนำเสนอสินค้าและบริการ (Product Approach) เป็นการนำเสนอคุณค่า (Value) ที่นักท่องเที่ยวจะได้รับจากการท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยกำหนดคุณค่าของปีท่องเที่ยววิถีไทยที่ต้องการนำเสนอ คือ Amazing Happiness หรือ ความสุขในวิถีแบบไทย เป็นความสุขอันเกิดจากการผสมผสานของความต่างที่ลงตัวและกำหนดสินค้าที่สอดคล้องกับ Value และเพื่อให้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานในการเผยแพร่พัฒนาและปรับปรุงสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับคุณค่าที่นำเสนอต่อนักท่องเที่ยว

4. แนวคิดการดำเนินงาน

4.1 กลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมาย ประกอบด้วย นักท่องเที่ยวต่างประเทศ 37 ตลาดหลัก ทั้งกลุ่ม First Visit กลุ่ม Revisit กลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง (Luxury) จากตลาดเอเชียและโอเชียเนีย ตลาดยุโรป ตลาดอเมริกา ตลาดตะวันออกกลาง และตลาดแอฟริกา รวมทั้งตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มความสนใจพิเศษ ได้แก่ กลุ่ม Wedding & Honeymoon กลุ่ม Golf กลุ่ม Ecotourism กลุ่ม Health & Wellness และกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทยทั่วไป ได้แก่ กลุ่มเยาวชน กลุ่มวัยทำงาน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มครอบครัว กลุ่มบริษัทและโรงงาน และกลุ่มคนไทยที่มีความสนใจเฉพาะ เช่น กลุ่มศาสนา กลุ่มท่องเที่ยวอนุรักษ์และผจญภัย เป็นต้น

4.2 รูปแบบการดำเนินงาน แบ่งเป็น 4 ด้าน ดังนี้ 1. ด้านสินค้าและบริการด้าน การท่องเที่ยว 2. ด้านการประชาสัมพันธ์ 3. ด้านส่งเสริมตลาดนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 4. ด้านการส่งเสริมตลาดนักท่องเที่ยวในประเทศ

5. กลไกการดำเนินงาน

5.1 จัดตั้งคณะกรรมการอำนวยการปีท่องเที่ยววิถีไทย 2558 โดยมีนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติเป็นประธาน ทำหน้าที่กำหนดทิศทางการดำเนินงาน กำกับดูแลให้เกิดการบูรณาการกิจกรรมระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ให้สอดคล้องกันอย่างเป็นระบบ ตลอดจนกำกับดูแลความสำเร็จของโครงการตามตัวชี้วัดที่กำหนด

5.2 จัดตั้งคณะกรรมการดำเนินงานในระดับปฏิบัติการ 4 คณะ ดังนี้

5.2.1 คณะกรรมการดำเนินงานด้านการส่งเสริมสินค้าและบริการปีท่องเที่ยววิถีไทย 2558 ทำหน้าที่กำหนดสินค้าด้านการท่องเที่ยว ประสานงานรวบรวมสินค้าและบริการจากหน่วยงานต่าง ๆ

มาจัดเป็นสินค้าที่สามารถนำเสนอแก่นักท่องเที่ยวได้อย่างสอดคล้องกันตลอดทั้งปี ประสานงานให้เกิดการพัฒนาสินค้าและบริการ ส่งเสริมการเป็นเจ้าบ้านที่ดี ตลอดจนประสานงานให้เกิดการปรับปรุงพัฒนาการบริการสิ่งอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว

5.2.2 คณะกรรมการดำเนินงานด้านส่งเสริมตลาดต่างประเทศปีท่องเที่ยววิถีไทย 2558 ทำหน้าที่ส่งเสริมการตลาดเพื่อให้เกิดการขายสินค้าและบริการที่ได้รับคัดเลือกมาเป็นสินค้าภายใต้

ปีท่องเที่ยววิถีไทยและกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางมายังประเทศไทยมากขึ้น

5.2.3 คณะกรรมการดำเนินงานด้านส่งเสริมตลาดในประเทศปีท่องเที่ยววิถีไทย 2558 ทำหน้าที่ส่งเสริมการตลาดเพื่อให้เกิดการขายสินค้าและบริการที่ได้รับคัดเลือกมาเป็นสินค้าภายใต้ปีท่องเที่ยววิถีไทยและกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศที่พำนักในประเทศไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้น

5.2.4 คณะกรรมการดำเนินงานด้านประชาสัมพันธ์ปีท่องเที่ยววิถีไทย 2558

ทำหน้าที่เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ปีท่องเที่ยววิถีไทยและกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อให้มีนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศที่พำนักในประเทศไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้น

5. เรื่อง ดัชนีราคาและผลผลิตสินค้าเกษตรเดือนตุลาคม 2557 และแนวโน้มเดือนพฤศจิกายน 2557

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานดัชนีราคาและผลผลิตสินค้าเกษตรเดือนตุลาคม 2557 และแนวโน้มเดือนพฤศจิกายน 2557 ดังนี้

ภาพรวมราคาสินค้าเกษตรของเดือนตุลาคม 2557 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา พบว่า ดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 8.62 สินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาลดลงเนื่องจาก ไม่มีมาตรการแทรกแซงด้านราคา ทำให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาดที่แท้จริง ยางพารา ราคาลดลงเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว ไก่เนื้อ และไข่ไก่ ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และกุ้งขาวแวนนาไม ราคาลดลง เนื่องจากคุณภาพยังไม่ได้มาตรฐาน รวมทั้งความต้องการตลาดลงลง สินค้าที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง ราคาสูงขึ้นเนื่องจากตลาดยังมีความต้องการ ทั้งเพื่อผลิตอาหารสัตว์ และเป็นพลังงานทดแทน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน ราคาสูงขึ้นเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และสุกร ราคาสูงขึ้นเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกันยายนที่ผ่านมา ดัชนีราคาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.69 โดยสินค้าที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาสูงขึ้นเนื่องจากตลาดมีความต้องการ สับปะรดโรงงาน ราคาสูงขึ้นเนื่องจากความต้องการของโรงงาน ยังคงมีมาก ปาล์มน้ำมัน ราคาสูงขึ้นเนื่องจากผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงงาน ทำให้มีการแข่งขันด้านราคา สินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ยางพารา ราคาลดลงเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของจีนซึ่งเป็นผู้ใช้ยางรายใหญ่ของโลกชะลอตัว สุกร ไก่เนื้อ และไข่ไก่ ราคาลดลงเนื่องจากมีผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ขณะที่ความต้องการของตลาดชะลอตัว

ภาพรวมด้านการผลิตสินค้าเกษตร เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 5.16 สินค้าสำคัญที่ผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา สับปะรดโรงงาน ปาล์มน้ำมัน และสุกร สินค้าสำคัญที่ผลผลิตสูงขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง ไก่เนื้อ และไข่ไก่ และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกันยายนที่ผ่านมา ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.57 สินค้าสำคัญที่ผลผลิตสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรดโรงงาน ปาล์มน้ำมัน ไก่เนื้อ และ ไข่ไก่ สินค้าสำคัญที่ผลผลิตลดลง ได้แก่ ยางพารา และสุกรในเดือนพฤศจิกายน 2557 คาดว่าดัชนีผลผลิตจะลดลงเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2556 และจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2557 ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และสับปะรดโรงงาน

ต่างประเทศ

6. เรื่อง ขออนุมัติจัดตั้งสำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงสตอกโฮล์มราชอาณาจักรสวีเดน

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงกลาโหม (กห.) เสนอ จัดตั้งสำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงสตอกโฮล์ม ราชอาณาจักรสวีเดน ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 เป็นต้นไป

สาระสำคัญของเรื่อง

กห. รายงานว่า การจัดตั้งสำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงสตอกโฮล์ม ราชอาณาจักรสวีเดน เพื่อให้การปฏิบัติภารกิจของผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงสตอกโฮล์ม ราชอาณาจักรสวีเดน เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและคล่องตัว ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการดำเนินงานด้านการทูตฝ่ายทหาร การประสานการปฏิบัติตามโครงการความร่วมมือด้านความมั่นคงและโครงการอื่น ๆ ร่วมกับรัฐบาลราชอาณาจักรสวีเดน และการทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านการทหารต่อเอกอัครราชทูต [ซึ่ง กห. ได้แต่งตั้งผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร พร้อมกำลังพล จำนวน 4 คน ในตำแหน่งผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารอากาศ (อัตรานาวาอากาศเอกพิเศษ) จำนวน 1 คน นายทหารติดต่อ (อัตรานาวาอากาศโท) จำนวน 1 คน และตำแหน่งเสมียนประจำสำนักงาน (อัตราพันจ่าอากาศเอก) จำนวน 2 คนไปปฏิบัติหน้าที่แล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555] โดยมีโครงสร้างอัตรากำลังพลในสำนักงานฯ ทั้งสิ้น จำนวน 6 อัตรา

7. เรื่อง การลงนามเพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธ (The Arms Trade Treaty: ATT)

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบการลงนามเพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธ (The Arms Trade Treaty: ATT)

2. อนุมัติให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธ

3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาแต่งตั้งผู้แทนผู้มีอำนาจเต็ม (Full Power) ในการลงนามเข้าร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธ

สาระสำคัญของเรื่อง

สมช. รายงานว่า

1. สนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธ (The Arms Trade Treaty: ATT) เกิดจากแนวคิดระหว่างประเทศในการกำหนดมาตรฐานที่มีผลผูกพันทางกฎหมายในการควบคุมการนำเข้า ส่งออก และการส่งผ่าน/ถ่ายลำอาวุธ โดยเริ่มต้นกระบวนการจัดทำสนธิสัญญาฯ ในกรอบสมัชชาแห่งสหประชาชาติ ตั้งแต่ปี 2549 มีการประชุมคณะกรรมการเตรียมการเพื่อจัดทำสนธิสัญญาฯ (Preparatory Committee: PrepCom) ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน 4 ครั้ง เพื่อนำไปสู่การประชุมสหประชาชาติเพื่อจัดทำสนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธ (2012 UN Conference on Arms Trade Treaty) แต่ที่ประชุมยังไม่สามารถหาข้อยุติได้เนื่องจากประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมประชุมยังมีความเห็นที่แตกต่างเกี่ยวกับองค์ประกอบของร่างสนธิสัญญาฯ คณะกรรมการเตรียมการเพื่อจัดทำสนธิสัญญาฯ จึงได้จัดให้มีการประชุมสหประชาชาติเกี่ยวกับสนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธครั้งสุดท้าย (Final UN Conference on the Arms Trade Treaty) ระหว่างวันที่ 18 - 28 มีนาคม 2556 ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในการให้ฉันทามติ โดยซีเรีย เกาหลีเหนือ และอิหร่าน ไม่ให้ความเห็นชอบ ซึ่งที่ประชุมได้มีมติให้นำผลการประชุมเสนอต่อที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยที่ 67 ต่อไป

2. สาระสำคัญหลักของสนธิสัญญาฯ มีวัตถุประสงค์เป็นการสร้างมาตรการและปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับการค้าอาวุธระหว่างประเทศ ป้องกันและลดจำนวนการค้าขายอาวุธที่ผิดกฎหมาย โดยมุ่งหวังให้เกิดสันติภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพระหว่างประเทศและภูมิภาค ลดสาเหตุการทุกข์ทรมานของมนุษย์ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้อาวุธ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือและสร้างความโปร่งใสและความรับผิดชอบระหว่างประเทศภาคีสมาชิกในการค้าขายอาวุธระหว่างประเทศ ด้วยการสร้างความมั่นใจระหว่างรัฐภาคี

8. เรื่อง ร่างแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ไทย - เวียดนาม (พ.ศ. 2557 - 2561)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ไทย - เวียดนาม (พ.ศ. 2557 - 2561) (Plan of Action Implementing the Thailand - Viet Nam Strategic Partnership) ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ และให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในแผนปฏิบัติการฯ ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างแผนปฏิบัติการฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญก่อนมีการลงนาม ให้ กต. สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง

สาระสำคัญของเรื่อง

กต. รายงานว่า แผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ไทย - เวียดนาม (พ.ศ. 2557 - 2561) มีสาระสำคัญเป็นการยืนยันเจตนารมณ์ร่วมของไทยและเวียดนามในการส่งเสริมและกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันอย่างครอบคลุมรอบด้าน อันนำมาซึ่งประโยชน์แก่ประชาชนของทั้งสองประเทศ รวมทั้งเพื่อส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาคและระหว่างประเทศโดยรวม ซึ่งการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายแสวงหาและเพิ่มความร่วมมือในทุก ๆ ด้าน เพื่อประโยชน์ของประชาชนของทั้งสองประเทศ ตลอดจนเพื่อการพัฒนาของภูมิภาคและส่งเสริมการเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในสาขาความร่วมมือต่าง ๆ ดังนี้ 1. ความเป็นหุ้นส่วนทางการเมือง 2. ความร่วมมือด้านกลาโหมและความมั่นคง 3. ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ 4. ความร่วมมือด้านการศึกษา วัฒนธรรม สังคม ความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน และความร่วมมือด้านอื่น ๆ

พร้อมกันนี้ ยังมีการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยและเวียดนามในกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาค ภูมิภาค และอาเซียน รวมทั้งการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาทะเลจีนใต้ โดยสันติวิธีบนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ ตลอดจน ส่งเสริมความร่วมมือในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน

9. เรื่อง การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ สปป. ลาว สำหรับโครงการก่อสร้างถนนจากเมืองหงสา-บ้านเชียงแมน (เมืองจอมเพชร แขวงหลวงพระบาง) สปป. ลาว

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) ดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินโครงการก่อสร้างถนนจากเมืองหงสา-บ้านเชียงแมน (เมืองจอมเพชร แขวงหลวงพระบาง) สปป.ลาว ตามผลการศึกษา สำรวจ และออกแบบรายละเอียด ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ

สำหรับงบประมาณให้การช่วยเหลือให้ทำความตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณ

สาระสำคัญของเรื่อง

กค. เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาว่า

1. โครงการฯ ดังกล่าวเป็นการเชื่อมโยงการคมนาคมระหว่างประเทศไทยและ สปป. ลาว

ผ่านจุดผ่านแดนห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน เพื่อเดินทางไปสู่แขวงหลวงพระบาง ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกและจะเป็นการส่งเสริมยุทธศาสตร์การเป็นเมืองคู่แฝดระหว่างจังหวัดน่านและแขวงหลวงพระบางได้อย่างเป็นรูปธรรม

2. การให้ความช่วยเหลือสำหรับโครงการดังกล่าวสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ

ไทยในการให้ความสำคัญต่อการเชื่อมโยงการคมนาคมระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศทั้งในแง่การลงทุนในอุตสาหกรรมการเกษตร การท่องเที่ยวและบริการ การส่งออกสินค้าอุปโภค บริโภค เชื้อเพลิงหรือสินค้าที่ใช้ในอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งจะทำให้ประชาชน สปป. ลาว มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในอนา

3. โครงการฯ นี้สามารถเพิ่มศักยภาพการเชื่อมโยงโครงข่ายถนนใน สปป. ลาวได้อย่างมี

ประสิทธิภาพโดยเส้นทางดังกล่าวจะเชื่อมโยงถนนหมายเลข 13 และหมายเลข 4 และจะทำให้การเดินทางจากประเทศไทย ไปยังกรุงฮานอยประเทศเวียดนามผ่านถนนหมายเลข 4 และ 6 ใน สปป. ลาว มีความสะดวกและใช้ระยะเวลาเดินทางสั้นลง

10. เรื่อง การจัดงาน ASEAN Fisheries and Aquaculture Conference and Exposition 2016 : ASEAN Seafood for the World

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) โดยกรมประมงเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน ASEAN Fisheries and Aquaculture Conference and Exposition 2016 : ASEAN Seafood for the World และอนุมัติโครงการจัดงาน ASEAN Fisheries and Aquaculture Conference and Exposition 2016 : ASEAN Seafood for the World ตามที่ กษ. เสนอ ดังนี้

สาระสำคัญของเรื่อง

กษ. รายงานว่า

1. มติที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ (ASEAN Ministers on Agriculture and Forestry : AMAF) ครั้งที่ 35 เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2556 เห็นชอบต่อข้อเสนอของประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดงาน ASEAN Fisheries and Aquaculture Conference and Exposition 2016 : ASEAN Seafood for the World ซึ่งการจัดงานในลักษณะนี้เป็นการจัดงานครั้งแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เนื่องจากข้อจำกัดด้านงบประมาณ กรมประมงจึงขอเลื่อนการจัดงานเป็นภายในปี พ.ศ. 2559

2. โครงการ ASEAN Fisheries and Aquaculture Conference and Exposition 2016 : ASEAN Seafood for the World มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีให้ผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าประมงจากทั่วโลกมาร่วมออกบูธและเจรจาธุรกิจประมง ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยของไทย ซึ่งไม่สามารถเดินทางไปออกบูธในต่างประเทศมีโอกาสร่วมเจรจาธุรกิจกับต่างชาติได้มากขึ้น และเพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ บทเรียน ด้านการประมงจากนานาประเทศทั่วโลก เป็นการเพิ่มโอกาสในการแลกเปลี่ยนความรู้ให้กับนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญของไทย นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป

11. เรื่อง เอกสารผลการประชุมผู้นำลุ่มแม่น้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 6

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมผู้นำลุ่มแม่น้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 6

2. ให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้ได้รับมอบหมาย ร่วมให้การรับรองร่างถ้อยแถลงร่วมฯ

3. หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างถ้อยแถลงร่วมฯ ที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้ กต. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง สาระสำคัญของร่างถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมผู้นำลุ่มแม่น้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 6 ให้ความสำคัญกับความร่วมมือในการพัฒนาลุ่มน้ำโขงใน 3 เสาหลักของยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว ค.ศ. 2012 ได้แก่ (1) ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในลุ่มน้ำโขง เน้นการพัฒนาอย่างมีคุณภาพและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน (2) ด้านการพัฒนาไปพร้อมกัน การจัดทำวิสัยทัศน์ของการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในลุ่มแม่น้ำโขงจะช่วยสนับสนุนการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น (3) ด้านความมั่นคงมนุษย์และการพัฒนาสิ่งแวดล้อม เน้นบทบาทไทยในการจัดประชุม Green Mekong Forum ร่วมกับญี่ปุ่น

12. เรื่อง บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการจัดการ วิจัย และอนุรักษ์พื้นที่คุ้มครองและอุทยานแห่งชาติระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งราชอาณาจักรไทย และกรมบริการอุทยานแห่งชาติเกาหลี สาธารณรัฐเกาหลี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้

1. อนุมัติการจัดทำและให้ความเห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการจัดการ วิจัย และอนุรักษ์พื้นที่คุ้มครองและอุทยานแห่งชาติ ระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งราชอาณาจักรไทย และกรมบริการอุทยานแห่งชาติเกาหลี สาธารณรัฐเกาหลี หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าว ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง

2. มอบหมายให้อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ลงนามในบันทึกความเข้าใจดังกล่าว

สาระสำคัญของเรื่อง

บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการจัดการ วิจัย และอนุรักษ์พื้นที่คุ้มครองและอุทยานแห่งชาติ ระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งราชอาณาจักรไทย และกรมบริการอุทยานแห่งชาติเกาหลี สาธารณรัฐเกาหลี มีสาระสำคัญ ดังนี้

1. บันทึกความเข้าใจฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอุทยานแห่งชาติทั้งสองประเทศ และพัฒนาศักยภาพทรัพยากรบุคคลเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ โดยแบ่งปันประสบการณ์ การทำกิจกรรมร่วมกัน การฝึกอบรม แลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ และการหารือในประเด็นที่สนใจร่วมกันเพื่อพัฒนาความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์พื้นที่คุ้มครองและอุทยานแห่งชาติ

2. สาขาความร่วมมือ เกี่ยวข้องกับ

2.1 ส่งเสริมแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการในการจัดการพื้นที่คุ้มครองและอุทยานแห่งชาติที่มีความสนใจร่วมกัน

2.2 ส่งเสริมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางวิชาการในการจัดการนักท่องเที่ยวและการปฏิบัติงานที่ดีที่สุด รวมถึงประสบการณ์เกี่ยวกับงานด้านพื้นที่คุ้มครองและอุทยานแห่งชาติ

2.3 สนับสนุนการพบปะเยี่ยมเยือนกันระหว่างเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ เพื่อพัฒนาบุคลากรหรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

2.4 ส่งเสริมและพัฒนาการติดต่อสื่อสารทางวิชาชีพระหว่างเจ้าหน้าที่ที่ทำงานเกี่ยวกับพื้นที่คุ้มครองและอุทยานแห่งชาติ เพื่อความก้าวหน้าในการจัดการอุทยานแห่งชาติ

2.5 สนับสนุนแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการระหว่างหน่วยงาน

2.6 แสวงหาความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศของตนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและการฟื้นฟูระบบนิเวศ

2.7 ส่งเสริมการศึกษาเกี่ยวกับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและการวางแผนศูนย์บริการนักท่องเที่ยว

3. หน่วยงานรับผิดชอบ ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ทส. และกรมบริการอุทยานแห่งชาติเกาหลี สาธารณรัฐเกาหลี

4. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมบริการอุทยานแห่งชาติ เกาหลี สาธารณรัฐเกาหลี จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นสำหรับการดำเนินการตามความสัมพันธ์ในบันทึกความเข้าใจฯ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมทางด้านการเงินของแต่ละฝ่าย

5. การทบทวนหรือการแก้ไข สามารถดำเนินการได้โดยการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบและตกลงร่วมกัน บันทึกความเข้าใจฯ จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ลงนาม และจะมีผลบังคับใช้ 5 ปี แต่ฝ่ายหนึ่งอาจยุติข้อตกลงในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งได้ ทั้งนี้ บันทึกความเข้าใจฯ นี้ไม่ก่อให้เกิดพันธกรณีระหว่างรัฐของคู่ภาคี และไม่กระทบถึงพันธกรณีที่ทั้งสองประเทศมีอยู่แล้ว ทส. เห็นว่า บันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าวเป็นข้อตกลงทางวิชาการ ไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง รวมทั้งไม่เกี่ยวข้องกับการให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือทำให้ประเทศต้องสูญเสียสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดหรือบางส่วน หรือการอื่น ๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติ จึงไม่เข้าข่ายประเด็นที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 23 วรรคสอง

แต่งตั้ง

13. เรื่อง ขออนุมัติถอดถอนกงสุลกิตติมศักดิ์เครือรัฐออสเตรเลียประจำจังหวัดภูเก็ตที่พ้นหน้าที่ และแต่งตั้งกงสุลกิตติมศักดิ์เครือรัฐออสเตรเลียประจำจังหวัดภูเก็ต

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐบาลเครือรัฐออสเตรเลียเสนอถอดถอน นายลอว์เรนซ์ คีธ คันนิ่งแฮม (Laurence Keith Cunningham) ออกจากตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์เครือรัฐออสเตรเลียประจำจังหวัดภูเก็ต และแต่งตั้ง นางสาวมีเชลล์ ฮอว์รีลัก (Michelle Hawryluk) เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์เครือรัฐออสเตรเลียประจำจังหวัดภูเก็ตคนใหม่ สืบแทน นายลอว์เรนซ์ คีธ คันนิ่งแฮม โดยมีเขตกงสุลครอบคลุมจังหวัดภูเก็ต กระบี่ และพังงา ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ

14. เรื่อง รัฐบาลสาธารณรัฐเฮลเลนิกเสนอขอแต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่ได้รับแจ้งจากสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเฮลเลนิกประจำประเทศไทยว่า รัฐบาลสาธารณรัฐเฮลเลนิกมีความประสงค์ขอแต่งตั้ง นายเพริคลีส บูตอส (Mr. Pericles Boutos) ให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐเฮลเลนิกประจำประเทศไทยคนใหม่ โดยมีถิ่นพำนัก ณ กรุงเทพมหานคร สืบแทน นายนิโคลาออส วามวูนาคิส (Mr. Nicolaos Vamvounakis) ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ

15. เรื่อง รัฐบาลจอร์เจียเสนอขอแต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่ได้รับรายงานจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย ว่า รัฐบาลจอร์เจียมีความประสงค์ขอแต่งตั้ง นายเลวัน นิชาราเซ (Mr. Levan Nizharadze) ให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งจอร์เจียประจำประเทศไทยคนใหม่ โดยมีถิ่นพำนัก ณ กรุงนิวเดลี สืบแทน นายซูรับ คัชคาชิชวีลี (Mr. Zurab Katchkatchishvili) ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ

16. เรื่อง รัฐบาลสาธารณรัฐเคนยาเสนอขอแต่งตั้งเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่ได้รับรายงานจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา ว่า รัฐบาลสาธารณรัฐเคนยามีความประสงค์ขอแต่งตั้ง นางสาวจีน เจรี คาเมา (Miss Jean Njeri Kamau) ให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐเคนยาประจำประเทศไทยคนใหม่ โดยมีถิ่นพำนัก ณ กรุงเทพมหานคร สืบแทน นายอะลี มุฮัมมัด ยูซุฟ (Mr. Ali Mohamed Yussuf) ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ

17. เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์เพิ่มเติม

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้งนายชาญชัย บุญฤทธิ์ไชยศรี เป็นกรรมการอื่นในคณะกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เพิ่มเติม ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2557 เป็นต้นไป

18. เรื่อง การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอดังนี้

1. ให้นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี พ้นจากตำแหน่งประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และแต่งตั้งให้นางอรรชกา สีบุญเรือง ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยแทน

2. แต่งตั้งให้นายเกษมสันต์ จิณณวาโส (จากบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจ ตามประกาศกระทรวงการคลังฉบับลงวันที่ 25 สิงหาคม 2551 ความเชี่ยวชาญสาขากลยุทธ์ การวางแผน พัฒนา) ดำรงตำแหน่งกรรมการอื่นในคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยแทนกรรมการที่ลาออก

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2557 เป็นต้นไป

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ