วันนี้ (13 พฤศจิกายน 2557) เวลา 09.00 น. ณ ห้อง Ruby Hall ชั้น 2 ศูนย์การประชุมนานาชาติเมียนมา (MICC 1) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 9 (East Asia Summit- EAS) ร่วมกับผู้นำที่เข้าร่วมทั้ง 18 ประเทศ ซึ่งรวมถึงผู้นำจากประเทศมหาอำนาจ อาทิ สหรัฐอเมริกา จีน รัสเซีย อินเดีย และ ญี่ปุ่น ฯลฯ รวมทั้ง เลขาธิการอาเซียน เลขาธิการสหประชาชาติ และประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB)
การประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก เป็นเวทีหารือเชิงยุทธศาสตร์ระดับผู้นำ เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นทั้งในด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ และการพัฒนา โดยในครั้งนี้ จะเป็นการประเมินทิศทางในอนาคตของ EAS ตลอดจน ประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ
ภายหลังการเข้าร่วมประชุม ร้อยเอก ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในที่ประชุมว่า การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก มีความโดดเด่นในฐานะเวทีทางยุทธศาสตร์ของผู้นำในภูมิภาคนี้ และยินดีที่ได้เจ้าร่วมการประชุมเป็นครั้งแรก และได้เสนอใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ
ประเด็นที่ 1 ทิศทางในอนาคตของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก
นายกรัฐมนตรีได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับทิศทางในอนาคตของ EAS ในโอกาสครบรอบ 10 ปี ในปีหน้าว่า ควรส่งเสริมให้ EAS เป็นเวทีที่ผู้นำจะมาหารือร่วมกันในเรื่องยุทธศาสตร์ของภูมิภาคอย่างแท้จริง ให้เป็นเวทีที่เปิดกว้าง คุยกันได้ทุกเรื่อง เน้นแนวทางสร้างสรรค์ และมุ่งไปสู่การขยายความร่วมมือระหว่างกัน
โดย EAS ควรเป็นเวทีที่อาเซียนเป็นแกนกลางในการขับเคลื่อน แต่ทุกประเทศต้องมีบทบาทและมีส่วนร่วม เพื่อร่วมกันทำให้ EAS พัฒนาไปสู่การเป็นเวทีที่จัดการกับเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งด้านการเมืองความมั่นคง เศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนปัญหาคาบเกี่ยวที่เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายในภูมิภาค
ประเด็นที่ 2 การส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค
นายกรัฐมนตรีมองว่า การส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาและการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
การส่งเสริมความเชื่อมโยงในอาเซียนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียน อันจะเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจให้ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกโดยรวม อย่างไรก็ดี ปัญหาที่ท้าทายคือ การระดมเงินทุนสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่มีการกล่าวถึงในการประชุม EAS มาโดยตลอด และด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงสนับสนุนข้อริเริ่มของจีนในการจัดตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หรือ AIIB (เอไอไอบี) ซึ่งไทยเชื่อมั่นว่าการดำเนินการของ AIIB จะดำเนินไปในแนวทางที่ส่งเสริมกับสถาบันการเงินระหว่างประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย
นอกจากนี้ ไทยเชื่อว่า การดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมนั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละประเทศ ที่จะสร้างบรรยากาศ และปรับปรุงกฎระเบียบที่เอื้ออำนวย ซึ่งในส่วนนี้ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันผ่านเวที EAS น่าจะเป็นประโยชน์ โดยเฉพาะในเรื่องความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP)
ประเด็นที่ 3 ปัญหาข้ามพรมแดน
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การที่เราติดต่อเชื่อมโยงมากขึ้น นำไปสู่ปัญหาข้ามพรมแดน โดยเฉพาะปัญหาภัยพิบัติ โรคระบาด และปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ทั้งการลักลอบค้ายาเสพติด ค้ามนุษย์ และค้าสัตว์ป่า ซึ่งประเด็นเหล่านี้ต้องมีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม ไทยจึงให้ความสำคัญและสนับสนุนการรับรองปฏิญญาการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าด้วยการปราบปรามการลักลอบค้าสัตว์ป่า
สำหรับไทย ในระดับประเทศ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และในระดับอาเซียน ไทยเสนอให้รัฐมนตรีอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติเพิ่มเรื่องอาชญากรรมสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงการลักลอบค้าสัตว์ป่า ให้เป็นหนึ่งในอาชญากรรมที่มีความสำคัญลำดับต้น
นอกจากนี้ ปัญหาการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติที่ ไทยให้ความสำคัญ ทั้งในการดำเนินการป้องกันและปรามปรามในระดับประเทศ การดำเนินการในกรอบทวิภาคีกับประเทศที่เกี่ยวข้อง และในระดับอาเซียน ไทยพร้อมมีบทบาทแข็งขันในการเร่งรัดจัดทำแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคและอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการค้ามนุษย์ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว นอกจากนี้ ไทยพร้อมมีบทบาทและความร่วมมือในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะในเรื่องของการแบ่งปันข้อมูลและข่าวกรองเพื่อนำไปสู่การปราบปราบขบวนการค้ามนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพ
ในเรื่องโรคระบาด นายกรัฐมนตรีสนับสนุนการกำหนดเป้าหมายร่วมกันที่จะขจัดมาลาเรียให้หายไปจากภูมิภาคของเราภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งสอดคล้องกับของไทยที่มีเป้าหมายระดับประเทศที่จะขจัดมาลาเรียให้หมดสิ้นไปภายในปี ค.ศ. 2024
ในส่วนของอีโบลา ซึ่งเป็นวิกฤติการณ์สำคัญที่อาเซียนและภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกไม่อาจจะวางเฉยได้ และต้องร่วมกันดำเนินมาตรการป้องกัน เพื่อปกป้องภูมิภาคนี้ให้พ้นจากภัยอีโบลา ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้จัดการประชุมระดับรัฐมนตรีสาธารณสุขในภูมิภาคเพื่อให้หารือและร่วมมือกันในเรื่องนี้โดยเร็ว
ในส่วนของประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ นั้น นายกรัฐมนตรีได้หยิบยก 3 ประเด็น คือ
หนึ่ง ปัญหาคาบสมุทรเกาหลี ที่ผ่านมา ประชาคมระหว่างประเทศได้แสดงท่าทีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการเรียกร้องให้เกาหลีเหนือปฏิบัติตามข้อมติของสหประชาชาติ และตอบสนองต่อข้อกังวลของนานาประเทศ
ในส่วนของไทย นายกรัฐมนตรีเชื่อว่า ในขณะที่เราต้องแสดงจุดยืนร่วมกันอย่างหนักแน่น เราก็ต้องเปิดประตูสำหรับการหารือด้วย ดังนั้น ไทยยินดีที่มีการหารือของฝ่ายต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นระหว่างเกาหลีใต้กับเกาหลีเหนือ และระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีเหนือ โดยไทยหวังว่าทุกฝ่ายจะยังคงรักษาพลวัตนี้ เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน และนำไปสู่การหารือในประเด็นสำคัญระหว่างกัน โดยหวังว่าจะมีการรื้อฟื้นการเจรจาหกฝ่ายในไม่ช้า
สอง เรื่องความมั่นคงทางทะเล ซึ่งมีผู้นำหลายประเทศได้หยิบยก นายกรัฐมนตรีเชื่อว่าการส่งเสริมความร่วมมือและกิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งทะเลจีนใต้มีความสำคัญต่อความมั่นคงและความมั่งคั่งของภูมิภาค ทุกฝ่ายมีผลประโยชน์ร่วมกันและมีความรับผิดชอบที่จะต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน และแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี
ไทย ในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-จีน ยินดีที่ทุกฝ่ายมีเจตนารมณ์ทางการเมืองที่จะเห็นความคืบหน้าในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และปัจจุบัน ทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการขยายจุดร่วมเพื่อให้ได้ข้อสรุปเพื่อเป็นพื้นฐานในการร่างแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ หรือ COC ต่อไป รวมทั้งได้เห็นชอบให้มีมาตรการที่สามารถทำได้ทันที เพื่อช่วยส่งเสริมความร่วมมือและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ อาทิ การจัดตั้งโทรศัพท์สายด่วนระหว่างหน่วยงานด้านค้นหาและกู้ภัย โทรศัพท์สายด่วนระหว่างกระทรวงการต่างประเทศในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส และการจัดการฝึกซ้อมในห้องปฏิบัติการด้านการค้นหาและกู้ภัย ซึ่งไทยเห็นด้วยอย่างยิ่งที่อาเซียนและจีนจะต้องรักษาพลวัตนี้ โดยในปีหน้า ทั้งสองฝ่ายพร้อมและมีแผนการเจรจาหารือกันอย่างสม่ำเสมอและอย่างต่อเนื่อง
สาม ปัญหากลุ่มก่อการร้ายหัวรุนแรง หรือ ISIL ไทยสนับสนุนการรับรองแถลงการณ์ EAS ว่าด้วยความรุนแรงและความโหดร้ายที่เพิ่มขึ้นจากการกระทำขององค์กรก่อการร้าย ซึ่งการแก้ไขปัญหาควรครบวงจร มุ่งไปถึงต้นตอของปัญหา โดยส่งเสริมการศึกษา หลักการความอดทนอดกลั้น การยอมรับความแตกต่าง สนับสนุนแนวทางสายกลางระหว่างศาสนาต่าง ๆ เพราะทุกศาสนาล้วนมีค่านิยมตรงกันเรื่องการส่งเสริมสันติและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึง การที่ปีนี้เป็นปีครบรอบสิบปีเหตุการณ์สึนามิ ซึ่งย้ำเตือนถึงปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้ภูมิภาคเราเสี่ยงภัยธรรมชาติในรูปแบบต่าง ๆ เนื่องจากเศรษฐกิจของเราเชื่อมโยงกัน หากไม่เตรียมพร้อมและลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติเหล่านี้ จะทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง และส่งผลต่อความมั่นคงของภูมิภาค
ไทยจึงสนับสนุนแถลงการณ์ร่วมอาเซียน-สหรัฐฯ ว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การรับรองแถลงการณ์ EAS ว่าด้วยแนวทางในการตอบสนองอย่างเร่งด่วนต่อภัยพิบัติ รวมถึงการจัดประชุมระดับโลก เพื่อลดความเสี่ยงภัยพิบัติ สมัยที่ 3 ที่เซ็นไดในปีหน้า
กลุ่มวิเทศสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th