โดยนายกรัฐมนตรีไทยในฐานะประเทศผู้สานงานความสัมพันธ์อาเซียน-จีน ได้กล่าวเป็นลำดับที่ 3 ต่อจากประธานาธิบดีเมียนม่า และนายกรัฐมนตรีจีน สรุปดังนี้
นายกรัฐมนตรีแสดงควายินดีที่ได้พบกับท่านอีกครั้งหลังจากที่มิลานและปักกิ่ง และขอใช้โอกาสการเข้าร่วมประชุมครั้งแรกนี้ แสดงเจตจำนงมุ่งมั่นในฐานะที่ไทยเป็นประเทศผู้ประสานงานฯ ที่จะร่วมมืออย่างใกล้ชิดในการพัฒนาความสัมพันธ์ให้ก้าวหน้าต่อไป ในโอกาสครบรอบ 10 ปีของความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน-จีนเมื่อปีที่ผ่านมา จีนได้มีข้อริเริ่มสร้างสรรค์หลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การยกระดับความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน การส่งเสริมการหารือด้านความมั่นคง และข้อเสนอพัฒนาเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 อันแสดงให้เห็นถึงความจริงใจและจริงจังที่จะพัฒนาความสัมพันธ์อาเซียน-จีนไปสู่ระดับที่สูงขึ้น เพื่อให้เป็นพลังขับเคลื่อนความร่วมมือต่าง ๆ ในภูมิภาค นายกรัฐมนตรีเชื่อว่า อาเซียนที่เข้มแข็งย่อมเป็นหุ้นส่วนที่ดีของจีน และควรร่วมกันพัฒนาความสัมพันธ์ให้มุ่งมองไปข้างหน้า และเป็นเสาหลักของสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงของภูมิภาคต่อไป โดยนายกรัฐมนตรีได้นำเสนอประเด็นสำคัญ 3 ประการ
ประการแรก การพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ไทยสนับสนุนให้เรามีการบูรณาการความร่วมมือด้านเศรษฐกิจกับจีน โดยเฉพาะการเร่งดำเนินการตามแผนงานการเจรจา เพื่อยกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน
ในการส่งเสริมการค้าเสรีนั้น ต้องให้ความสำคัญกับภาคเกษตรและสินค้าเกษตรด้วย นายกรัฐมนตรีจึงอยากเห็นจีนเปิดตลาดให้กับสินค้าเกษตรและเข้ามาลงทุนในอาเซียนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร สร้างโอกาส และแรงจูงใจให้กับเกษตรกร ซึ่งจะสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคเกษตร ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร และเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารของโลก
ประการที่สอง การส่งเสริมความเชื่อมโยงของภูมิภาคในทุกมิติ อาเซียนกับจีนควรให้สำคัญกับการพัฒนาเครือข่ายความเชื่อมโยง เพื่อเสริมจุดแข็งทางเศรษฐกิจระหว่างกัน และเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจโดยรวม
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโยงทางบก อากาศ หรือทะล ปัญหาที่ทุกประเทศประสบคือ การระดมเงินทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้น ไทยจึงสนับสนุนการก่อตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย และหวังว่า ธนาคารจะจัดตั้งแล้วเสร็จโดยเร็ว โดยการดำเนินงานของธนาคารควรได้มาตรฐานสากล มีธรรมาภิบาล เปิดกว้าง ตอบสนองความต้องการของสมาชิก และส่งเสริมการดำเนินงานของสถาบันการเงินอื่น ๆ ที่มีอยู่
ประการที่สาม ความสัมพันธ์อาเซียน-จีนควรมุ่งมองไปข้างหน้า และเสริมสร้างผลประโยชน์ที่เรามีร่วมกันในทุกด้าน
ทั้งนี้ ความสัมพันธ์อาเซียน-จีน ได้ก้าวหน้ามาโดยตลอด เราเผชิญกับปัญหาท้าทายและผ่านวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ร่วมกัน ทำให้ความสัมพันธ์ของเราเป็นความสัมพันธ์พิเศษ มีพื้นฐานที่เข้าใจและเคารพแก่กันและกัน ซึ่งความสัมพันธ์อาเซียน-จีน ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อสองฝ่ายเท่านั้น แต่ยังมีส่วนในการส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงในภูมิภาค ดังนั้น การดำเนินความสัมพันธ์ เราจะนิ่งนอนใจไม่ได้ ต้องเพิ่มพูนความร่วมมือ แสวงหาโอกาส และจัดการกับปัญหาต่าง ๆ เพื่อมุ่งไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างแท้จริง
ในประเด็นเรื่องทะเลจีนใต้ นายกรัฐมนตรีเชื่อว่าผู้นำอาเซียนและจีนมีความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกัน และป้องกันไม่ให้มีความขัดแย้งเกิดขึ้น ไทยยินดีกับความคืบหน้าในการส่งเสริมความร่วมมือในกรอบ DOC (ดีโอซี) การเจรจาจัดทำ COC (ซีโอซี) และการดำเนินมาตรการที่สามารถทำได้ทันที ซึ่งล้วนจะส่งเสริมความเชื่อมั่นและความร่วมมือในภูมิภาค ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เสนอให้ มอบหมายให้รัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสหารือเกี่ยวกับประเด็นสารัตถะของ COCอย่างต่อเนื่องและบ่อยครั้งขึ้น เพื่อให้การจัดทำ COCแล้วเสร็จโดยเร็ว ตามที่ทุกฝ่ายปรารถนา
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้ยืนยันความมุ่งมั่นของไทยที่จะทำหน้าที่ประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-จีนอย่างดีที่สุด ในการพัฒนาหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียน-จีน ให้เจริญก้าวหน้าในทุก ๆ ด้านเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน และเพื่อหนุนให้ศตวรรษนี้เป็นศตวรรษแห่งเอเชียได้อย่างสมบูรณ์และแท้จริง
กลุ่มวิเทศสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th