จีนเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคอย่างยิ่งใหญ่และสมเกียรติ นายกรัฐมนตรีประทับใจ

ข่าวทั่วไป Friday November 14, 2014 14:22 —สำนักโฆษก

พลเอกประยุทธ์ จันทร์ นายกรัฐมนตรี กล่าวภาพรวมความสำเร็จในการเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 22 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน มีประเด็นสำคัญ ดังนี้

ความสัมพันธ์ไทย-จีน

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงการเดินทางเยือนจีนในครั้งนี้ว่า เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ ครั้งที่ 22 ซึ่งก่อนการเข้าร่วมการประชุมเอเปคอย่างเป็นทางการ นายกรัฐมนตรีได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะและหารือกับนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน และนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ผู้นำจีนได้กล่าวถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอให้พระองค์ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง และถวายพระพรพระบรมวงศานุวงค์ของไทยทุกพระองค์

ผู้นำจีนได้ยกย่องความสัมพันธ์ไทย-จีนที่ดำเนินมาเป็นเวลายาวนานว่า เป็นมิตรภาพระหว่าง “มหามิตร” ในโอกาสที่ปีหน้า ปี พ.ศ.2558 ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีจะเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ และจะครบรอบ 40 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูต ทั้งสองประเทศจะได้จัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองร่วมกัน

ความร่วมมือด้านการเกษตรไทย-จีน

ผู้นำจีนยังได้กล่าวว่า แม้ว่าสินค้าเกษตรบางตัวของจีนจะมีปริมาณล้นตลาดอยู่แล้ว แต่รัฐบาลจีนได้เล็งเห็นถึงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสองประเทศในทุกระดับ จีนเสนอที่จะช่วยเพิ่มการซื้อสินค้าเกษตรของไทย เช่น ข้าว ยางพารา เพื่อมอบเป็นของขวัญจากรัฐบาลจีนให้กับประเทศไทยและพี่น้องเกษตรกร

ระหว่างการหารือ ไทย-จีนได้มีการพูดคุยในหลายประเด็นที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของไทย

การพัฒนารถไฟทางคู่

จีนให้ความสนใจเข้ามาลงทุนพัฒนาระบบรถไฟ รวมอีกหลายประเทศก็ได้แสดงความสนใจด้วยเช่นกัน เพราะเป็นโครงการที่สร้างความเชื่อมโยงทั้งไทยและภูมิภาค ที่จะทำให้ประชาชนไปมาหาสู่กันได้สะดวกขึ้น ลดต้นทุนการขนส่งสินค้า สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ การสร้างความเชื่อมโยง (Connectivity) และความเป็นปึกแผ่นของประชาคมอาเซียน โดยมีไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค รัฐบาลเห็นถึงมีความจำเป็นจะต้องเดินหน้าโครงการเพื่อไม่ให้ไทยเสียโอกาส และหากล่าช้าเกินไป มูลค่าของโครงการในอนาคตก็จะเพิ่มสูงขึ้นด้วย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือในรายละเอียดที่ยังมีอีกมาก เช่น รูปแบบการลงทุน การศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การทำประชาพิจารณ์ รับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ก่อนที่จะดำเนินการต่อไป เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ

ภาคเอกชนสนใจเพิ่มการลงทุนในไทย

หลายวิสาหกิจชั้นนำของจีน เช่น บริษัท Power China บริษัท ZTE บริษัท Huawei กลุ่มนักธุรกิจยางพาราจากมณฑลซานตง และภาคเอกชนจีนที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน โทรคมนาคม และเครื่องมือทางการแพทย์ ขอพบนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ได้แก่ พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และผู้แทน BOI ซึ่งเป็นการพบปะกันอย่างเปิดเผย หารืออย่างตรงไปตรงมา เพื่อขอรับทราบแนวทางการพัฒนาประเทศและนโยบายส่งเสริมการลงทุนของไทย หลายบริษัทได้มีการลงทุนในไทยอยู่แล้ว และอีกหลายบริษัทสนใจที่จะเข้ามาลงทุน ตั้งโรงงานเพิ่มในประเทศไทย เช่น Huawei ซึ่งเป็นบริษัทที่ติดอันดับ 500 บริษัททรงอิทธิพลของ Fortune แสดงความเชื่อมั่นว่า ภายใต้การบริหารของรัฐบาล ประเทศไทยจะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่มนักธุรกิจจากมณฑลซานตง กลุ่ม Rubber Valley ซึ่งเป็นผู้ธุรกิจเกี่ยวกับยางพาราและการแปรรูปยางพาราเพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในมณฑลชานตง แสดงความสนใจที่จะเปิดโรงงานแปรรูปยางพาราในประเทศไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ความสนใจที่จะให้บริษัทเข้ามาตั้งโรงงานในภาคใต้ของประเทศไทย เพื่อช่วยพี่น้องชาวสวนยาง หากบริษัทผ่านขั้นตอนตามกฎระเบียบเข้ามาแข่งขันได้

นายกรัฐมนตรีกล่าวกับภาคเอกชนจีนว่า ขณะนี้ได้มีการแก้ไขระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยหากการลงทุนภาคเอกชนสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ รัฐบาลก็จะมีสิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติมให้ ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พลังงานทางเลือก เละปรับปรุงโครงสร้างกระทรวง ICT เพื่อก้าวไปสู่เศรษฐกิจดิจิตอล ขณะเดียวกัน อยากเห็นการลงทุนที่ช่วยสนับสนุน R & D และความมั่นคงห่วงโซ่การผลิต โดยส่งเสริมการใช้วัตถุดิบของไทย กระจายโรงงานไปตามจังหวัดต่างๆที่มีความพร้อม เพื่อกระจายงาน กระจายรายได้ ให้คนไทยในหลายๆจังหวัด ส่งเสริมให้ภาคเอกชนต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยสนับสนุนการฝึกอบรมคนงานไทย เพื่อเปิดโอกาสแก่คนไทยในการพัฒนาสู่ระดับบริหารมากขึ้น

ในการพบกับสมาคมธุรกิจของทุกประเทศที่ร่วมประชุมคู่ขนานกับเอเปค นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่าประเทศไทยมีธุรกิจเอสเอ็มอี ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ประมาณ 98 เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจทั้งหมด ซึ่งรัฐจะต้องสนับสนุนให้ธุรกิจเหล่านั้นสามารถเข้าถึงกองทุนเพื่อช่วยส่งเสริมธุรกิจ SMEs และขอให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนให้ครบก่อน อีกทั้ง ปัจจุบันมีคณะกรรมการกองทุนเอสเอ็มอีแล้ว จึงต้องหาวิธีพัฒนาธุรกิจดังกล่าวเพื่อให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้

การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 22

การประชุมเอเปค ปี 2557 มีหัวข้อหลัก คือ การสร้างอนาคตด้วยความเป็นหุ้นส่วนในเอเชีย-แปซิฟิก (Shaping the Future through Asia-Pacific Partnership)

ในช่วงเช้า เป็นการประชุมอย่างเป็นทางการ ครั้งที่ 1 (Retreat I) หัวข้อ การก้าวสู่การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค เน้นความสำคัญกับประเด็นต่างๆ ดังนี้ การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคทำให้เกิดการเจริญเติบโตเศรษฐกิจ การดำเนินการเพื่อการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) โดยต่อยอดจาก FTAs/RTAs ที่มีอยู่แล้ว ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถ เพื่อช่วยให้เขตเศรษฐกิจกำลังพัฒนาได้ประโยชน์จากการเปิดเสรีการค้า และมีส่วนร่วมในห่วงโซ่คุณค่าโลกได้มากยิ่งขึ้น

ช่วงบ่าย เป็นการประชุมอย่างเป็นทางการ ครั้งที่ 2 (Retreat II) หัวข้อ การส่งเสริมการพัฒนาอย่างมีนวัตกรรม การปฎิรูปเศรษฐกิจและการเจริญเติบโด มีประเด็นเกี่ยวกับการรักษาบทบาทเอเปคในฐานะผู้ขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก ผ่านการสร้างนวัตกรรม ควบคู่กับการปรับโครงสร้างและกฎระเบียบ การต่อต้านการคอร์รัปชั่น เพิ่มความโปร่งใส เพื่อดึงดูดการลงทุน รวมทั้งเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ๆ อาทิ เศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจอินเตอร์เน็ต การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนเพื่อตอบสนองต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

นายกรัฐมนตรีได้เสนอข้อคิดเห็นต่อที่ประชุมอย่างเป็นทางการ ครั้งที่ 1 ว่า ไทยให้การสนับสนุนการรวมกลุ่มเศรษฐกิจในภูมิภาคโดยเฉพาะ FTAAP ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำเพื่อการเจริญเติบโตที่ยั่งยืน สร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย โดยเสริมสร้างความแข็งแกร่งภายใน เพื่อให้ไทยพร้อมเป็นสมาชิกที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมโลก และบทบาทของเอเปคใน WTO

สำหรับการประชุมอย่างเป็นทางการ ครั้งที่ 2 ไทยย้ำเป้าหมายการเติบโตที่มีคุณภาพ ยั่งยืน เท่าเทียมและครอบคลุมทุกภาคส่วน ดังนั้น การพัฒนาของไทยจึงเน้นคุณภาพ ลดความยากจนอย่างยั่งยืนผ่านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ความมั่นคงทางพลังงาน ความมั่นคงทางอาหาร การพัฒนาคนผ่านการศึกษา พัฒนาทักษะ เพื่อให้พ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง สำหรับความมั่นคงทางอาหารได้ให้ความสำคัญทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ ส่งเสริมการวิจัย ให้มีการค้าที่เป็นธรรม ส่วนความมั่นคงพลังงาน ขอให้มีการแก้ไขการบิดเบือนราคา ร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน สนับสนุนพลังงานทางเลือก พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด

การสร้างความเชื่อมโยงระบบสาธารณูปโภคให้เชื่อมต่อกับเศรษฐกิจ เอเปคจะต้องเชื่อมโยงทุกภาคส่วนรวมทั้ง SMEs สร้างความเป็นธรรมแก่เกษตรกรทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค รวมทั้งการร่วมมือกันพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะเป็นประโยชน์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย เพื่อให้ทุกประเทศแข็งแรงและทัดเทียม และเป็นหน้าที่ของทุกประเทศที่จะต้องดูแลซึ่งกันและกัน

ระหว่างการประชุม นายกรัฐมนตรียังได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับผู้นำหลายประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เกาหลีใต้ กลุ่มประเทศอาเซียน เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และ ประธานาธิบดีสหรัฐ นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีรัสเซีย นายวลาดิเมียร์ ปูติน ซึ่งผู้นำต่างประเทศเข้าใจสถานการณ์ในประเทศไทย และเห็นว่าไทยมีเสถียรภาพมากขึ้น ประเทศมีความสงบเรียบร้อยดี ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กล่าวเชิญชวนผู้นำทุกประเทศมาเยือนประเทศไทย ขณะที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และนายกรัฐมนตรีจีน ก็พร้อมสนับสนุนให้ประชาชนของตนเดินทางมาท่องเที่ยวไทยมากขึ้น

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ