นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมาตรการดูแลประชาชนในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้ว่า ในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังหรือน้ำป่าไหลหลาก ภายหลังน้ำลดแล้วจะทำให้สภาพพื้นดินในบริเวณที่พักอาศัย หรือทางเดิน เป็นดินโคลนชื้นแฉะ อาจมีเชื้อโรคฉี่หนูหรือโรคเลปโตสไปโรซีส (Leptospirosis) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในไตหนูหรือสัตว์รังโรคอื่นๆ เช่น โค กระบือ และออกมาพร้อมกับฉี่ของสัตว์เหล่านั้น เชื้อโรคนี้อาจปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำขังที่เป็นหลุมบ่อเล็กๆ ซึ่งจะมีปริมาณเชื้อโรคเข้มข้น และเชื้อมีชีวิตอยู่ในน้ำ ดินแฉะๆได้นานหลายวัน มีโอกาสติดต่อมาสู่คนได้สูง โดยเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล รอยถลอกต่างๆ ที่ขาและเท้า หรือแม้กระทั่งผิวหนังที่อ่อนนุ่มจากการแช่น้ำนานๆ ทั้งนี้ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในจังหวัดภาคใต้ ดำเนินการเฝ้าระวังผู้ป่วยในพื้นที่เป็นเวลา 15 วันภายหลังน้ำลด และรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันโรค เพื่อป้องกันการป่วยและการเสียชีวิต
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า จากการวิเคราะห์สถานการณ์ในรอบ 10 เดือนปี 2557 นี้ ตั้งแต่ 1 มกราคม – 29 ตุลาคม พบว่าแนวโน้มผู้ป่วยโรคฉี่หนูในภาคใต้เริ่มสูงขึ้น ทั่วประเทศพบผู้ป่วย 1,783 ราย เสียชีวิต 13 ราย ผู้ชายป่วยมากกว่าผู้หญิงประมาณ 4 เท่าตัว ส่วนใหญ่จะพบในวัยแรงงาน อัตราป่วยสูงสุดในภาคอีสาน เฉลี่ยแสนละ 4.84 คน รองลงมาคือภาคใต้ แสนละ 4.56 คน จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ระนอง แสนละ 15.33 คน ศรีสะเกษแสนละ 13.78 คน พังงาแสนละ 12 คน กาฬสินธุ์แสนละ 10.96 คน ยะลาแสนละ 10.38 คน จึงต้องระมัดระวังในช่วงที่มีน้ำท่วมขังเป็นกรณีพิเศษ
ทางด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประชาชนที่มีความจำเป็นต้องเดินลุยน้ำท่วมขัง หรือเดินผ่านพื้นดินชื้นแฉะ ควรสวมรองเท้าเพื่อป้องกันถูกของมีคมบาดหรือทิ่มแทง และหลังเดินย่ำน้ำย่ำโคลนแล้วให้รีบชำระล้างทำความสะอาด ดูแลบ้านเรือนให้สะอาด โดยเฉพาะในครัว ขอให้ทิ้งขยะและเศษอาหารลงในถุงพลาสติกหรือในถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนูก่อนนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ส่วนผักสดที่ซื้อหรือเก็บมาจากบริเวณบ้าน ขอให้ล้างน้ำให้สะอาดก่อนรับประทาน เพื่อขจัดเชื้อโรคที่ปนเปื้อน
นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า หากประชาชนป่วยเป็นไข้ในระยะนี้ ขอให้สังเกตอาการสำคัญ โดยอาการโรคฉี่หนูจะมีอาการเฉพาะคือ มีอาการไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะปวดตามกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะที่น่องและโคนขาทั้ง 2 ข้าง และตาแดงทั้ง 2 ข้าง ขอให้รีบพบแพทย์ และต้องแจ้งประวัติ การลุยน้ำย่ำโคลนด้วยทุกครั้ง โรคนี้มียารักษาหายขาด ในผู้เสียชีวิตจากการสอบประวัติพบว่าส่วนใหญ่มาพบแพทย์ช้า เนื่องจากเข้าใจว่าเป็นไข้หวัดทั่วๆไป หรือปวดเมื่อยจากการขนย้ายสิ่งของหนีน้ำ การทำงานหนัก มักซื้อยากินเอง เมื่อไม่หายและมีอาการหนักแล้วจึงไปพบแพทย์ทำให้เชื้อโรคลุกลามทำลายอวัยวะภายใน เช่น ไต ปอดรุนแรง และเสียชีวิตในที่สุด
11 พฤศจิกายน 2557
ที่มา: http://www.thaigov.go.th