ดร. กฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และคณะได้เข้าร่วมการประชุมระดับโลกของยูเนสโกว่าด้วยการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (UNESCO World Conference on Education for Sustainable Development) ภายใต้หัวข้อ Learning Today for a Sustainable Future ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่น ร่วมกับองค์การยูเนสโกจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10 - 12 พฤศจิกายน 2557 ณ เมืองนาโกยา ประเทศญี่ปุ่น
การประชุมครั้งนี้มีวัตถุเพื่อผลักดันการดำเนินงานเรื่องการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาของสหประชาชาติภายหลังปี 2015 รวมทั้งในปีนี้ถือเป็นปีแห่งการสิ้นสุดทศวรรษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (2005 - 2014) จึงเป็นโอกาสในการเปิดตัวแผนปฏิบัติการระดับโลกว่าด้วยการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Global Action Programme on ESD) รวมถึงการนำมติและข้อคิดเห็นจากการประชุมไปต่อยอดกิจกรรม ESD ต่อไป
ในพิธีเปิดเช้าวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่นนารุฮิโตะ พร้อมด้วยพระชายา ได้เสด็จพระราชดำเนินมากล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุม ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนระดับรัฐมนตรีจากประเทศต่างๆ ประมาณ ๑๖๐ ประเทศ และผู้แทนระดับสูง ประมาณ ๑,๐๐๐ คน เข้าร่วมประชุม พิธีเปิดจัดขึ้น ณ ห้อง Century Hall, Nagoya Congress Center นอกจากนี้ นางอิรินา โบโกวา ผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก ยังได้กล่าวถึงการดำเนินงานการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาว่า หลายประเทศให้ความสำคัญกับประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยส่งเสริมในระดับนโยบาย โรงเรียนต่างๆ ได้บูรณาการเรื่อง ESD ไว้ในการเรียนการสอนเพื่อให้เยาวชนซึ่งเป็นกำลังสำคัญได้ตระหนักและมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมแห่งความยั่งยืน และให้มีการบูรณาการ ESD ในมิติต่างๆ ควบคู่ไปกับการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม อันเป็นเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาสังคมในระยะยาว
ภายหลังพิธีเปิด เจ้าหญิงไลล่า ฮาสนา พระชายาในสมเด็จพระราชาธิบดีมุฮัมมัดที่ 6 แห่งโมร็อกโก มูลนิธิคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวสุนทรพจน์ โดยให้ความสำคัญกับบทบาทของทุกภาคส่วนในการส่งเสริมการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะสื่อมวลชนในการให้ข้อมูลและสร้างความตระหนักแก่สาธารณะ รวมถึงบทบาทของเยาวชนในการมีส่วนร่วมสร้างสังคมแห่งความยั่งยืนในอนาคต
ในช่วงบ่าย มีการประชุมโต๊ะกลมระดับสูง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้กำหนดนโยบายได้ร่วมกันระดมความคิดเห็นเพื่อผลักดันให้การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนได้รับการส่งเสริมเป็นนโยบายที่มีความเชื่อมโยงกับหลายภาคส่วนมากขึ้นทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ โดยประเด็นที่สำคัญที่อภิปรายคือ ทำไมบางประเทศดำเนินการเรื่อง ESD ประสบความสำเร็จ/ไม่ประสบความสำเร็จ ปัจจัยอะไรที่จะส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการเรื่อง ESD ในด้านการศึกษาและนโยบายเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน อะไรคืออุปสรรคในการกำหนดนโยบายด้าน ESD และ ควรมีแผนปฏิบัติการอย่างไรเพื่อส่งเสริมให้เกิดนโยบายที่รองรับการดำเนินงานเรื่อง ESD ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ได้กล่าวต่อที่ประชุมเกี่ยวกับการดำเนินงานด้าน ESD ในประเทศว่า ประเทศไทยสนับสนุนการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนมาโดยได้นำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีแนวคิดที่คล้ายคลึงกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน มาเป็นแนวทาง ซึ่งถือเป็นการปรับแนวคิดให้เหมาะสมกับสังคมไทย และถือว่าประสบผลสำเร็จ และในโอกาสที่ภูมิภาคอาเซียนจะรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘ ทำให้จะเป็นการรวมตัวกันของประชากรถึง กว่า ๗๐๐ ล้านคนแนวคิดดังกล่าวก็จะเป็นแนวทางที่จะใช้ดำเนินการเพื่อให้ภูมิภาคอาเซียนเป็นภูมิภาคที่สุขสงบและสันติ
สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ
สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ที่มา: http://www.thaigov.go.th