วันนี้ (14 พ.ย.57) เวลา 13.30 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ร้อยเอก ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ประกอบด้วย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเสรี โสภณดิเรกรัตน์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ นายประณีต ร้อยบาง อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล นายนำชัย พรหมมีชัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และ พ.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ได้ร่วมกันแถลงข่าวการเตรียมการรับมือและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เพื่อให้ประชาชนได้ รับทราบถึงแนวทางการดำเนินงานของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเป็นไปอย่างทันท่วงที มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างแท้จริง
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การแถลงข่าววันนี้ เป็นการมาให้ข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อเตรียมการป้องกันแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยคาดการณ์ว่าปัญหาภัยแล้งจะมีความรุนแรงมากขึ้น เพราะปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำสำคัญของประเทศอยู่ในเกณฑ์ต่ำ โดยเฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพราะฉะนั้นนายกรัฐมนตรี จึงมีความห่วงใยต่อเรื่องดังกล่าว โดยได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ในการเตรียมการป้องกันทั้งในมาตรการระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาวด้วย
ด้าน อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารภัย กระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวถึงการเตรียมการแก้ไขปัญหาภัยแล้งว่า เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2557 นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยต่อเรื่องปัญหาภัยแล้ง โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มีมติให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการทำงานและจัดทำแผนการดำเนินงานร่วมกัน เพื่อรองรับการแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ประสบภัยตามหลักเกณฑ์ของทางราชการทั้งในส่วนของการบริหารจัดการน้ำ การส่งเสริมการปลูกพืชของเกษตรกรให้สอดคล้องกับการจัดสรรน้ำการจ้างแรงงานประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ประสบภัย ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ประชุมหารือและวางมาตรการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งในส่วนของกระทรวงมหาดไทย ได้มีการดำเนินการ 3 เรื่อง คือ 1) ตรวจสอบและชี้เป้าหมายว่ามีหมู่บ้านใดในประเทศไทยที่จะประสบภัยแล้งและมีความรุนแรง ซึ่งจากการตรวจสอบของผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้บริหารท้องถิ่น ได้ยืนยันว่าจะมีหมู่บ้านที่คาดว่าจะประสบปัญหาภัยแล้ง ประมาณ 9,535 หมู่บ้าน โดยมีตัวชี้วัดที่จะเกิดภัยแล้ง คือ ข้อมูลปริมาณน้ำฝนสะสมเฉลี่ย โดยใช้ข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าปริมาณฝนสะสมเฉลี่ยปี 2557 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี ข้อมูลคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนห้วง 3 และ 6 เดือน โดยใช้ข้อมูลของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) พบว่า เกณฑ์ปริมาณน้ำฝนอยู่ในระดับต่ำ ยกเว้นภาคใต้ ข้อมูลน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำ ของกรมชลประทาน พบว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ ปี 2557 ต่ำกว่าปี 2556 ถึง 8,579 ล้านลูกบาศก์เมตร ข้อมูลระบบประปาทุกระบบ ประเทศไทยมี 23 ล้านครัวเรือนมีครัวเรือนที่ไม่มีระบบประปาใช้ จำนวน 17% มีระบบประปาใช้ 83 % ประกอบด้วย การประปานครหลวง 9% (สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ และนนทบุรี) การประปาส่วนภูมิภาค 16% (สำหรับ 74 จังหวัด) การใช้ระบบประปาท้องถิ่น 58% (สำหรับ 76 จังหวัด) รวมทั้งข้อมูลหมู่บ้านที่มีการประกาศเป็นเขตการให้ความช่วยเหลือ กรณีประสบภัยพิบัติจากการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ย้อนหลัง 3 ปี (2555-2557) เป็นข้อมูลเชิงพื้นที่ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจากหมู่บ้านรวมทั่วประเทศ จำนวน 74,963 หมู่บ้าน ปรากฏว่ามีหมู่บ้านที่ประสบภัยแล้งซ้ำซากขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคต่อเนื่อง 3 ปี จำนวน 9,535 หมู่บ้าน คิดเป็น 12.72 % ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ต้องเฝ้าระวังและติดตาม เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำอุปโภคบริโภคให้พอเพียง
2) การเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือประชาชน ขณะนี้ได้มีการเตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในด้านต่าง ๆ ทั้ง จัดเตรียมบุคลากร เครื่องจักรกล เครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมปฏิบัติงาน สำรวจภาชนะรองรับน้ำ และจุดแจกจ่ายน้ำกลางประจำหมู่บ้านพร้อมทำแผนแจกจ่าย รวมทั้งได้สำรวจระบบประปาและมีการซ่อมบำรุงแก้ไข ตลอดจนการขุดลอกคูคลอง และโครงการกำจัดผักตบชวาทั่วประเทศ
และ3) การชี้แจงสร้างความเข้าใจในข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแก่ประชาชน โดยนำนโยบายของรัฐบาล มติคณะรัฐมนตรี มาตรการและแผนปฏิบัติการของกระทรวง ทบวง กรมและส่วนราชการต่างๆ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอประชุมร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำไปชี้แจงทำความเข้าใจแก่ประชาชน โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยก่อนที่จะเกิดปัญหาสถานการณ์ภัยแล้ง ให้ปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ข่าวสารให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องในนโยบายการช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยแล้ง ตลอดจนสร้างความตระหนักและขอความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัด รวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่ของศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด/อำเภอ เพื่อรับข้อมูลปัญหาและข้อเรียกร้องจากประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อน นำเสนอให้รัฐบาลพิจารณาแนวทางให้การช่วยเหลือต่อไป ทั้งนี้ยืนยันรัฐบาล และทุกกระทรวง ทบวง กรม พร้อมให้ความมั่นใจต่อประชาชนในการดำเนินการเตรียมการและแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างเต็มที่
ขณะที่ อธิบดีกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในเรื่องสถานการณ์น้ำ โดยกล่าวว่า สถิติฝนตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้น้อยกว่าค่าเฉลี่ยถึง 7 เปอร์เซ็นต์ทั้งประเทศ โดยเฉพาะในส่วนของภาคกลางน้อยกว่าถึง 17 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งบริเวณที่มากกว่าค่าเฉลี่ยจะอยู่ขอบประเทศไทยทั้งหมด น้ำไม่ไหลลงอ่าง ทั้งนี้ปกติค่าเฉลี่ยน้ำที่ไหลลงอ่างขนาดใหญ่ 33 แห่ง ทั่วประเทศ จะไหลลงประมาณปีละ 40,000 ล้าน ลบ.ม. ปีนี้ไหลลงเพียง 28,000 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าค่าเฉลี่ยถึง 12,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งหมายความว่าฝนที่ตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย และส่วนที่มากกว่าค่าเฉลี่ยบริเวณขอบประเทศนั้น ไหลลงอ่างเพียง 70 เปอร์เซ็นต์ของค่าเฉลี่ย ส่งผลให้สนับสนุนการเพาะปลูกการเกษตรได้น้อยลง โดยขณะนี้มีอ่างเก็บน้ำหลายแห่งที่มีน้ำไม่เพียงพอสนับสนุนการทำนาปรัง ซึ่งเรื่องนี้คณะรัฐมนตรี ได้มีมติให้งดส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง รวม 26 จังหวัด (กำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ กรุงเทพ ชัยนาท นนทบุรี ปทุมธานี อยุธยา ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง ฉะเชิงเทรา นครนายก สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม สุพรรณบุรี เพชรบุรี สมุทรสงคราม ราชบุรี กาญจนบุรี) และปรับลดเป้าหมายในแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2557/58 เพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง อย่างไรก็ตามถึงแม้อ่างเก็บน้ำทั้ง 33 แห่งไม่สามารถสนับสนุนการเพาะปลูกข้าวนาปรังได้ แต่ยืนยันก็ยังมีปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค รวมถึงความมั่นคงในเรื่องการระบายน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ ตลอดจนการสำรองน้ำเพื่อการทำนาปีก็ยังมีพอเพียงเช่นกัน
ส่วน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ได้กล่าวถึงการงดส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลองว่า มีประชาชนเกษตรกรได้รับผลกระทบ จำนวน 39,000 กว่าครอบครัว มีพื้นที่ทั้งหมด จำนวน 11 ล้านไร่ โดยมีมาตรการให้ความช่วยเหลือสนับสนุน คือ 1.มาตรการหลัก การดำเนินการจ้างแรงงานเพื่อซ่อมคูคลองในฤดูแล้ง เป้าหมายเกษตรกรไม่น้อยกว่า 250,000 ราย 2. มาตรการเสริม ได้แก่ 1) การอบรมและสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อส่งเสริมอาชีพด้านประมง 3,574 ราย แบ่งเป็นเรื่องการเลี้ยงปลาดุกในบ่อพลาสติก 2,702 ราย และการเลี้ยงกบในกระชังบก 872 ราย 2) การอบรมและสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อส่งเสริมอาชีพด้านปศุสัตว์ 13,389 ราย แบ่งเป็นเรื่องการเลี้ยงเป็ดเทศ 4,407 ราย และไก่พื้นเมือง 8,982 ราย 3) การฝึกอาชีพด้านการเกษตร โดยกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 17,804 ราย แบ่งเป็น 9 หลักสูตร ได้แก่ ปุ๋ยหมัก สารชีวินทรีย์ ถั่วงอก เพาะเห็ด ขยายพันธุ์ไม้ผล ผึ้ง แมลงเศรษฐกิจ ซ่อมเครื่องจักรกลและการแปรรูป/ถนอมอาหาร 4) การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่วแก่เกษตรกรในพื้นที่ 2 ลุ่มน้ำ จำนวน 150,000 ไร่ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง ถั่วเขียว หรือถั่วลิสง แก่เกษตรกรที่มีความประสงค์จะปลูกพืชตระกูลถั่ว 5) การฝึกอาชีพด้านการเกษตรและด้านอื่นๆ โดยสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จำนวน 1,385 ราย แบ่งเป็น 5 ด้าน ได้แก่ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชย์และบริหาร ความคิดสร้างสรรค์ และเฉพาะทาง และ 6) การสนับสนุนให้ปลูกพืชปุ๋ยสด ในพื้นที่พักนาที่มีความชื้นเพียงพอ 150,000 ไร่ โดยกรมพัฒนาที่ดิน
สำหรับการดำเนินการกิจกรรมดังกล่าวขณะนี้มีประชาชนสมัครเข้ามาแล้ว จำนวน 36,000 กว่าครอบครัว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการฝึกอาชีพโดยมีเจ้าหน้าที่เป็นผู้ฝึกอบรมให้แก่เกษตรกรดังกล่าว รวมทั้งจะมีการดูแลสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ที่คาดว่าจะประสบปัญหาภัยแล้งในพื้นที่อื่นด้วยเช่นกัน
พร้อมกันนี้ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ได้กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในปัจจุบันและการช่วยเหลือเกษตรกรนอกเขตชลประทานว่า กรมทรัพยากรน้ำดูแลภาพรวมนอกเขตชลประทาน โดยพื้นที่เพาะปลูก จำนวน 100 กว่าล้านไร่ จะเป็นพื้นที่ชลประทานประมาณ 30 ล้านไร่ ที่เหลือนอกเขตชลประทานเป็นพื้นที่เกษตรกรใช้น้ำจากน้ำฝน และแหล่งน้ำธรรมชาติ ทั้งนี้สถานการณ์ของภัยแล้งคาดว่าจะเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม ส่วนปัจจุบันที่พบว่า ยังมีน้ำอยู่เนื่องจากอยู่ในช่วงของปลายฝนต้นหนาว แต่หลังจากเดือนธันวาคมไปแล้วปริมาณน้ำจะหายไปในพื้นที่ โดยเฉพาะนอกเขตชลประทานที่ประชาชนจะประสบปัญหาอย่างมาก ดังนั้น การแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ รัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องของการแก้ไขปัญหาน้ำอุปโภคบริโภคก่อนเป็นลำดับแรก เพื่อให้มีน้ำพอเพียงสำหรับประชาชน ขณะเดียวกันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ไปดำเนินการในการเข้าไปแก้ไขปัญหา โดยในส่วนของกรมทรัพยากรน้ำ ได้มีการดำเนินการ 2 ส่วน คือ 1) การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยมีศูนย์ของกรมทรัพยากรน้ำซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศเข้าไปดำเนินการ ผ่านการร้องขอของศูนย์ดำรงธรรมแต่ละจังหวัด โดยดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ เช่น การสูบทอยน้ำเติมในแหล่งน้ำต้นทุน สำหรับผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน และนำน้ำสะอาดไปแจกจ่ายให้แก่ประชาชน การจ้างงานแก่เกษตรกรในท้องถิ่นที่ไม่สามารถเพาะปลูกได้ การขุดลอกคูคลอง นอกจากนี้กรมทรัพยากรน้ำ ยังมีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด และมีการกำชับเจ้าหน้าที่ทุกส่วนราชการดูแลแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนอย่างเต็มที่
ทางด้าน อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาในเรื่องของน้ำอุปโภคบริโภคว่า ในส่วนของน้ำบาดาลนั้น เป็นน้ำที่จะช่วยเสริมในภาวะวิกฤตขาดแคลนน้ำในเรื่องการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยมุ่งเน้นไปที่น้ำอุปโภคบริโภคเป็นหลักก่อน ซึ่งในปีงบประมาณ 2558 มีโครงการที่จะต้องดำเนินการให้ครอบคลุมจังหวัดที่คาดว่าจะเกิดภัยแล้ง จำนวน 31 จังหวัด โดยดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง พัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อสนับสนุนน้ำดื่มสะอาดให้กับโรงเรียน พัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค รวมทั้งจัดตั้งจุดจ่ายน้ำและน้ำบาดาล ตลอดจนจัดตั้งศูนย์ฯ แก้ไขภัยแล้งอีกด้วย ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการและคาดจะแล้วเสร็จภายใน 31 ธันวาคม 2557 นี้
ทางด้าน โฆษกกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวว่า กระทรวงกลาโหมในฐานะหน่วยสนับสนุนตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้เตรียมพร้อมสนับสนุนการดำเนินการแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างเต็มกำลัง โดย พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการให้หน่วยขึ้นตรงศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กระทรวงกลาโหม และศูนย์บรรเทาสาธารณภัยเหล่าทัพ จัดเตรียมกำลังพล ยุทโธปกรณ์ และยานพาหนะให้พร้อม รวมทั้งประสานงานกับหน่วยที่เกี่ยวข้องในพื้นที่รับผิดชอบ โดยยึดแผนบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงกลาโหม 2556 เป็นแนวทางปฏิบัติ ซึ่งได้ดำเนินการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาภัยแล้งของรัฐบาลใน 2 ลักษณะ คือ 1) การช่วยเหลือเชิงป้องกัน อาทิ โครงการปลูกป่า โครงการขุดลอกคูคลอง โครงการสร้างฝาย โครงการขุดบ่อน้ำบาดาล โครงการพัฒนาบ่อน้ำบาดาล โครงการก่อสร้างถังเก็บน้ำ โครงการก่อสร้างระบบผลิตน้ำประปา โครงการกำจัดผักตบชวาและ โครงการปลูกป่าชายเลน เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนได้มีแหล่งธรรมชาติสำหรับการใช้ประโยชน์ในพื้นที่อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง 2) การช่วยเหลือเฉพาะหน้า โดยมีหน่วยทหารในพื้นที่ซึ่งได้รับการแบ่งมอบตามแผนบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงกลาโหม เป็นหน่วยสนับสนุน ทั้งนี้ ในปี 2557 ได้สนับสนุนส่วนราชการและช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้ง โดยได้แจกจ่ายน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคให้กับประชาชนที่ประสบภัยแล้งในพื้นที่ต่างๆ จำนวนกว่า 50 ล้านลิตร พร้อมสนับสนุนอากาศยานในการทำฝนหลวง การถ่ายภาพทางอากาศประกอบการวางแผนช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตลอดจนการใช้อากาศยานในการดับไฟป่า และมีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด
พร้อมกันนี้ ยังมีโครงการ 'ราษฎร์ รัฐ ร่วมใจ ช่วยภัยแล้ง' เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกองทัพบกร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการประปานครหลวง การไฟฟ้านครหลวง กลุ่ม ปตท. และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ในการนำน้ำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนในพื้นที่ประสบภัยและขาดแคลนทั่วประเทศอย่างทั่วถึง อีกทั้งมีการใช้เรือระบายพลขนาดใหญ่ในการลำเลียงน้ำไปช่วยเหลือในเกาะที่มีปัญหาเรื่องน้ำ เช่น เกาะกูด เกาะหมาก รวมทั้งการใช้เรือดันน้ำกรณีเกิดน้ำทะเลหนุนอีกด้วย
นอกจากนี้ กระทรวงกลาโหม ยังได้ใช้วิทยุในเครือข่ายกระทรวงกลาโหม และวิทยุสาธารณะในเครือข่ายความมั่นคงที่กระทรวงกลาโหมรับผิดชอบ สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนที่ประสบภัยแล้งได้รับทราบถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เช่น โรคที่อาจจะเกิดจากภัยแล้ง การเกิดไฟป่า และการรณรงค์ให้ประชาชนได้ร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเห็นคุณค่าของน้ำ ขณะเดียวกันได้มีการพัฒนาเครือข่ายเรื่องแจ้งเตือนภัยร่วมกับภาคประชาชนและศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (National Electronics and Computer Technology Center) หรือเนคเทค ในการใช้ application line เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแจ้งเตือนภัย และภัยแล้งให้ครอบคลุม เพื่อช่วยเหลือได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึงต่อไป
นอกจากนั้น ยังมีการดำเนินการในเรื่องขีดความสามารถทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยได้มีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดระหว่างแพทย์ทหารกับกระทรวงสาธารณสุข ในการเข้าไปช่วยเหลือในเรื่องปัญหาโรคระบาดที่เกิดขึ้นในช่วงภัยแล้ง ทั้งนี้ ยืนยันกระทรวงกลาโหม มีความพร้อมที่จะเข้าไปดูแลช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเต็มกำลัง อย่างไรก็ตามประชาชนที่ได้รับผลกระทบหรือความเดือดร้อนสามารถประสานแจ้งหน่วยทหารต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ทั่วประเทศ หรือติดต่อที่ศูนย์ดำรงธรรม และจังหวัดซึ่งมีรองผู้ว่าราชการฝ่ายทหารได้
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th