1. ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2557 มีจำนวน 5,650,141.24 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 46.46 ของ GDP โดยแบ่งเป็น
- หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 3,924,374.96 ล้านบาท
- หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 1,095,014.47 ล้านบาท
- หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 615,381.85 ล้านบาท
- หนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ 15,369.96 ล้านบาท
ซึ่งสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 60 ค่อนข้างมาก
2. หนี้สาธารณะแบ่งออกเป็นหนี้ในประเทศ 5,286,167.77 ล้านบาท และหนี้ต่างประเทศ 363,973.47 ล้านบาท (ประมาณ 11,187.24 ล้านเหรียญสหรัฐ) หรือคิดเป็นร้อยละ 93.56 และร้อยละ 6.44 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ตามลำดับ และหากเปรียบเทียบกับเงินสำรองระหว่างประเทศ จำนวน 167,523.42 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว หนี้ต่างประเทศจะคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 6.68 ของเงินสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเสถียรภาพทางด้านการเงินของประเทศ
3. หนี้สาธารณะแบ่งออกเป็นหนี้ระยะยาว 5,494,122.62 ล้านบาท หรือร้อยละ 97.24 และหนี้ระยะสั้น 156,018.62 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.76 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวสะท้อนถึงความสามารถของรัฐบาลในการระดมทุนระยะยาว
กล่าวโดยสรุป สถานะหนี้สาธารณะของประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่ต่ำและแสดงให้เห็นถึงสถานะการคลังของประเทศที่มีความมั่นคง รวมถึงเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญตัวหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงเสถียรภาพและความมั่นคงของฐานะการคลังของประเทศ
ส่วนวิจัยนโยบายหนี้สาธารณะ สำนักนโยบายและแผน สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ โทร. 02 265 8050 ต่อ 5505
ที่มา : กระทรวงการคลัง
ผู้นำเสนอ : กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
ที่มา: http://www.thaigov.go.th