ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.)ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือกับกลุ่มสหภาพยุโรปและกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (EU-ASEAN Research Ccooperation and The 2nd ASEAN Talent Mobility Workshop) ในวันที่ 13-14 พฤศจิกายน 2557 ณ โรงแรมบันยันทรี กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำแนวทางในการแลกเปลี่ยนเคลื่อนย้ายนักวิจัยผู้มีความสามารถในภูมิภาค กำหนดแนวทาง และกรอบความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมเพื่อให้การแลกเปลี่ยนนักวิจัยระหว่างอาเซียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อนำวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) มาสร้างความแข็งแกร่งในแข่งขันทางการตลาดของอาเซียนในเวทีโลกที่จะมีสูงขึ้นในอนาคต การจัดการประชุมในประเทศไทย ถือเป็นโอกาสอันดีในการสร้างเครือข่าย และโอกาสทางการศึกษาและอาชีพของนักวิทยาศาสตร์ไทย และที่สำคัญก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้าน วทน. ในภูมิภาค ภายในงานได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ นายเคซุส มีเกล ซันซ์ เอกอัครราชทูตและหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยเข้าร่วมงาน โดยมีนักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการจากกลุ่มสหภาพยุโรป อาเซียน และจีน เข้าเสวนาในการเสริมสร้างความร่วมมือ ถ่ายทอดนวัตกรรมในกลุ่มอียู-อาเซียน
ดร.พิเชฐ กล่าวต่อว่า การแลกเปลี่ยนนักวิจัยทำให้เกิดการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เป็นการสร้างโอกาสในการเรียนรู้ให้นักวิจัยไทยรุ่นใหม่ และยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้าน วทน. ของประเทศไทยให้เหมาะสม เพื่อดึงดูดบุคลากรผู้มีความสามารถด้าน วทน. จากอาเซียน ยุโรป และจากต่างประเทศทั่วโลกให้สนใจที่จะเดินทางมาทำงานในประเทศไทย พัฒนาต่อยอดงานวิจัยไปสู่การผลิตนวัตกรรมที่จะส่งผลบวกโดยตรงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศรวมทั้งยังนำองค์ความรู้ทาง วทน. ที่ทันสมัยมาช่วยการพัฒนาภาคเอกชนไทย ซึ่ง EURAXESS องค์กรเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนนักวิจัย และสร้างโอกาสทางอาชีพและนักวิทยาศาสตร์ของอียูเป็นหน่วยงานกลางที่มีสาขาในหลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น จีน อินเดีย อเมริกาเหนือ บราซิลในการประสานความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีการจัดประชุมเสวนาอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์นานาชาติทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน โดยในการเสวนาเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน EURAXESS ได้เชิญนักธุรกิจจากบริษัทชั้นนำของไทย เช่น บริษัทบีเอ็มดับเบิ้ลยูประเทศไทย บริษัทเอสซีจี บริษัททรูคอปอร์เรชั่น บริษัทอมตะ คอร์ปอร์เรชั่น และบริษัทเชลล์ประเทศไทย เข้าร่วมเสวนาในหัวข้อการแลกเปลี่ยนนักวิจัยและนวัตกรรมอียู-อาเซียน เป็นการหาแนวทางร่วมกันในการสนับสนุนการแลกเปลี่ยนนักวิจัยระหว่างประเทศ นอกจากนี้ EURAXESS ยังได้เชิญนักวิชาการชั้นนำเข้าร่วมเสวนาเพื่อหาแนวทางในการส่งเสริมมหาวิทยาลัยของไทยเพื่อเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงนักวิจัยไทยกับภาคเอกชน มหาวิทยาลัยจะมีบทบาทในการเป็นศูนย์กลางหรือ HUB Hub ในการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
ในด้านบทบาท สวทน. ดร.พิเชฐ ทิ้งท้ายว่า สวทน. เป็นตัวแทนประเทศไทยในเวทีอาเซียน ในการกำหนดนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ซึ่งมีกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย อาทิ ความร่วมมือด้านความมั่นคง ด้านอาหาร พลังงาน การบริหารจัดการน้ำ และความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนงานการปฏิรูปวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของประเทศ เพื่อการพัฒนาบุคลากรและแรงงานที่มีความรู้ความสามารถด้าน วทน. ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังมีความขาดแคลนเป็นอย่างมาก กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สวทน. ได้มีการกำหนดมาตรการหลายด้านในการเร่งผลิตกำลังคนและบุคลากรผู้มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถเสริมสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ รองรับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศในอนาคต
ขอข้อมูลเพิ่มเติมแผนกประชาสัมพันธ์ :
นางสาวรติมา เอื้อธรรมาภิมุข
นางสาวสลิลทิพย์ ทิพยางค์
นางสาวมนต์ศิริ ธรมธัช
สำนักงานสนง.คณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) โทร: +Tel. 662 160 5432-37 Ext.: 904 Website: www.sti.or.th
เผยแพร่โดย : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สป.วท.
ที่มา: http://www.thaigov.go.th