ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เปิดเผยว่า เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายในการเพิ่มปริมาณผู้เรียนสายอาชีพให้มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการกำลังคนในภาคเศรษฐกิจของประเทศ และเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของการอาชีวศึกษาที่จะต้องผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพ มีทักษะฝีมือ มีสมรรถนะในการทำงาน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศ ทั้งนี้การจัดการศึกษาที่จะตอบโจทย์สำคัญนี้ได้ จะต้องเป็นการศึกษาที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือที่เข้มแข็งของ 2 ฝ่าย คือ ภาครัฐและเอกชน ร่วมกันจัดการศึกษา โดยใช้ยุทธศาสตร์การพัฒนาคนผ่านระบบการจัดการอาชีวศึกษารูปแบบทวิภาคี ซึ่งความร่วมมือในการขับเคลื่อนและพัฒนาจะมีเครือข่ายความร่วมมือจาก สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ รวมไปถึงองค์กรซึ่งเป็นภาคของ ผู้ใช้กำลังคน ได้แก่ สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าไทย และสถานประกอบการภาคธุรกิจบริการ ภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ซึ่งที่ผ่านมาอาชีวศึกษาได้บทสรุปแล้วว่าการศึกษาด้านวิชาชีพที่จะประสบผลสำเร็จ สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างความมั่นคงในอาชีพ และสร้างความเจริญก้าวหน้าให้ประเทศ ต้องเป็นการศึกษาในรูปแบบทวิภาคีเท่านั้น จึงได้จัดงานอาชีวศึกษาทวิภาคีไทยขึ้น ระหว่างวันที่ 27 – 28 พฤศจิกายน ที่อาคารเอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 7 และ 8 อิมแพค เมืองทองธานี เพื่อเป็นการนำเสนอการจัดการเรียนการสอนระบบทวิภาคีโดยความร่วมมือของสถานประกอบการ ซึ่งจะได้เห็นรูปแบบการจัดอาชีวศึกษาทวิภาคีทั้งแบบไทย เยอรมัน ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศที่ขณะนี้มีนักศึกษาอาชีวะได้ไปฝึกประสบการณ์ ซึ่งในงานคาดว่าจะมีประชาชนเข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า 50,000 คน และจะเปิดเวทีเสวนาใน 4 เรื่อง คือ 1. อาชีวศึกษาไทยจะไปในทิศทางใด 2. สิทธิประโยชน์ที่สถานประกอบการจะได้รับจากการร่วมจัดการเรียนการสอนในระบบทวิภาคี 3. อาชีวศึกษาไทยกับการพัฒนาประเทศ และ 4. มาตรฐานการจัดการอาชีวศึกษาทวิภาคี โดยมีภาคอุตสาหกรรมที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศร่วมเสวนาด้วย เช่น นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายถาวร ชลัษเฐียร เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายอรรถการ ตฤษณารังสี ประธานกรรมการบริษัท ดับบลิว ซี เอส ซันชิโร่ (ประเทศไทย) จำกัด นายโกวิทย์ ว่องกลกิจศิลป์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฯลฯ
นายถาวร ชลัษเฐียร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ปัญหาทางเศรษฐกิจที่ ท้าทายของประเทศขณะนี้ คือการขาดแคลนกำลังคนระดับฝีมือ ระดับเทคนิค และระดับเทคโนโลยี การจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี เป็นการศึกษาที่ตอบโจทย์และทะลุทะลวงปัญหาการขาดแคลนกำลังคนได้ ในฐานะที่เป็นภาคเอกชนขอเชิญชวนให้สถานประกอบการ ที่เป็นกำลังการผลิตสำคัญของประเทศและมีความต้องการกำลังคนที่มีฝีมือ ได้มาร่วมกันส่งเสริมสนับสนุนการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ทั้งในรูปแบบการให้ทุนการศึกษา การสนับสนุนเครื่องมือ ครุภัณฑ์ที่ทันสมัย การถ่ายทอดเทคโนโลยี การจัดห้องเรียนสาธิตของสถานประกอบการในสถานศึกษา และการจัดระบบการฝึกทักษะอาชีพ ฝึกประสบการณ์จริงในสถานประกอบการ ซึ่งจะสามารถสร้างคน ผลิตคนที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม และภาคการบริการ ซึ่งขณะนี้การขับเคลื่อนการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีโดยเครือข่ายความร่วมมือของภาคเอกชน ที่ได้ดำเนินการไปแล้วอย่างเป็นรูปธรรม 4 กลุ่มอาชีพ และประสบความสำเร็จอย่างดี คือ กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน กลุ่มโรงแรมและท่องเที่ยว กลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ กลุ่มแม่พิมพ์ ดังนั้นการจัดงานครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นโอกาสสำคัญของประเทศ ในการเดินหน้าจัดการศึกษาด้านอาชีวศึกษาร่วมกันโดยภาคีเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์และค่านิยมให้มีผู้สนใจมาเรียนสายอาชีพมากขึ้น และเมื่อกำลังคนเหล่านี้ได้รับการพัฒนาให้มีทักษะฝีมือ แน่นอนว่าในอนาคตอันใกล้นี้ประเทศของเราก็จะมีกำลังคนที่มีศักยภาพเพียงพอต่อการพัฒนาประเทศให้ก้าวกระโดดสู่ความทันสมัยและความเจริญที่ยั่งยืนไม่มีที่สิ้นสุด
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สอศ.
19 พฤศจิกายน 57
ที่มา: http://www.thaigov.go.th