วันนี้ (20 พ.ย.57) เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมาย พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2557 ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้แทนหัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นกรรมการและเลขานุการ ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2557 - 2593 โดยความสำคัญของแผนแม่บทดังกล่าว เป็นการศึกษาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในระดับโลกอันมีสาเหตุมาจากการสะสมก๊าซของปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศของโลก ซึ่งประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาผลกระทบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดังกล่าว จึงเป็นความท้าทายที่สำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ ดังนั้น การมีแผนแม่บทระยะยาวจะมีส่วนสำคัญให้ประเทศไทยมีกรอบและแนวทางในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรมและเกิดผลสัมฤทธิ์ ส่งผลให้ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำภายในปี 2593 ซึ่งเป็นปีเป้าหมายของนานาประเทศเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ การที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันเข้าเป็นรัฐภาคีภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพิธีสารเกียวโต จึงเพิ่มความสำคัญของการมีแผนหรือกรอบการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นพ้องร่วมกันที่จะผลักดันให้เรื่อง "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" เป็นวาระแห่งชาติเพื่อให้เกิดการผนวกประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การกำหนดนโยบายการพัฒนาในทุกระดับ การพัฒนาเครื่องมือและกลไกที่เป็นรูปธรรมเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาในทุกภาคส่วนให้เข้ามามีบทบาทร่วมกัน ในการสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมสร้างความเข้าใจในเป้าหมาย รวมทั้งวัตถุประสงค์ของแผนแม่บทเพื่อให้ภาคีการพัฒนาเกิดการยอมรับ และตระหนักถึงความสำคัญของแผนแม่บทและนำไปสู่การปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ตลอดจน ให้มีการติดตามและประเมินผลด้านการดำเนินงานดังกล่าวของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมีการปรับแผนแม่บทฯ ทุก ๆ 5 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาด้วย หลังจากนั้น ที่ประชุมจะได้นำร่างแผนแม่บทฯ เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีโดยด่วนต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบกับการแสดงเจตจำนงการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศไทย โดยเสนอตัวเลขของศักยภาพในการลดก๊าซเรือนกระจกเป็นช่วง (Range) ระหว่างร้อยละ 7 - 20 และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ จากนั้นจึงจะมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงฯ ต่อสำนักเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในลำดับถัดไป
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบให้มีการลงนามในข้อตกลงทวิภาคีร่วมระหว่างประเทศไทย - ประเทศญี่ปุ่น ในการดำเนินการความร่วมมือทวิภาคีโครงการ Joint Crediting Mechanism (JCM) เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนของทั้งสองประเทศได้พัฒนาโครงการนี้ร่วมกัน
ในตอนท้ายของการประชุม ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบมอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบด้านการถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกทั้ง ที่ประชุมยังได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบมอบหมายให้กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานหลักด้าน Article 6 ระดับประเทศของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเน้นการพัฒนาการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งของบุคลากรในการฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญในสาขานี้
ก่อนปิดการประชุม ประธานได้กล่าวขอบคุณ ผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านที่ได้แสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาและขับเคลื่อนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้ประเทศไทยมีสภาพอากาศที่ลดก๊าซเรือนกระจก พร้อมเข้าสู่สังคมที่มีคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
พัณณ์วรินทร์ อินโท่โล่ รายงาน
ดวงใจ กล่อมจิตต์ ตรวจ
ที่มา: http://www.thaigov.go.th