นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการ 18 ปี พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 (14 พ.ย.) ว่า กรมบัญชีกลางในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ดำเนินการด้านความรับผิด
ทางละเมิดโดยเริ่มใช้ระเบียบความรับผิดชอบของข้าราชการในทางแพ่ง มาตั้งแต่ พ.ศ. 2503 เป็นเวลากว่า 30 ปี หลังจากนั้นจึงได้มีการปรับปรุงให้มีความเหมาะสมมากขึ้น ซึ่งได้ใช้พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 รวมเวลากว่า 18 ปี ทั้งนี้ กรมบัญชีกลางได้ตระหนักถึงความสำคัญในการพิจารณาสำนวนต่างๆ ด้วยความเป็นกลาง เป็นธรรม นอกจากพิจารณาโดยบุคลากรกรมบัญชีกลางที่มีประสบการณ์ และความชำนาญแล้ว ยังมีผู้แทนจากหน่วยงานภายนอกที่ได้รับความน่าเชื่อถือ ทั้งจากสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ร่วมเป็น “คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง” เพื่อร่วมกันพิจารณาและกลั่นกรองสำนวนตามแนวทางการพิจารณาของคณะกรรมการฯ รวมทั้ง ได้ศึกษาวิเคราะห์แนวคำพิพากษาของศาลปกครอง เพื่อนำมาประกอบแนวทางการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ให้สอดคล้องกับแนวทางการพิจารณาของศาลปกครองมากยิ่งขึ้น
นายมนัส แจ่มเวหา กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมบัญชีกลางได้ยกร่างแก้ไขระเบียบเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับส่วนราชการ ขณะนี้ร่างแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ข้อ 18 อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หากระเบียบฉบับนี้ใช้บังคับแล้วทุกหน่วยงานต้องปฏิบัติตามความเห็นของกระทรวงการคลัง
นอกจากนี้ กรมบัญชีกลางได้พัฒนางานโดยเปิดระบบความรับผิดทางละเมิดและแพ่งเข้ามาช่วยให้กระบวนการดำเนินงานมีความสะดวกคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งระบบนี้ออกแบบมาเพื่อรองรับการดำเนินงานด้านนี้โดยเฉพาะ ตั้งแต่ขั้นตอนบันทึกความเสียหาย การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด การวินิจฉัยสั่งการ การออกคำสั่ง การติดตามเร่งรัดหนี้ จนถึงการบังคับคดีและสืบหาหลักทรัพย์ ระบบนี้จะทำให้เกิดความโปร่งใสขึ้นในหน่วยงานของรัฐมากขึ้น และที่สำคัญคือหน่วยงานจะเพิกเฉยต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป ทั้งนี้ ภายในงานจะมีการแนะนำวิธีใช้งาน และทดลองใช้ระบบดังกล่าว เพื่อเสริมสร้างความรู้และสร้างความตระหนักเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ และยังเปิดคลินิกรับปรึกษาปัญหาเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิด ซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเข้าใจแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องชัดเจน อันจะส่งผลให้การทุจริตและการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงานภาครัฐลดน้อยลง สอดคล้องและตรงตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
ที่มา : กระทรวงการคลัง
ผู้นำเสนอ : กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
ที่มา: http://www.thaigov.go.th