วันนี้ (24 พ.ย.57) เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมอรรถไกวัลวที ชั้น 1 อาคารสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หม่อมหลวง ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบูรณาการการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ครั้งที่ 1/2557 ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายกมล สุขสมบูรณ์) ตัวแทนหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ โดยสรุปสาระสำคัญดังนี้
ที่ประชุมได้รับทราบแผนยุทธศาสตร์การบูรณาการการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (พ.ศ.2557 - 2560) ซึ่งมียุทธศาสตร์ที่ต้องบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกัน จำนวน 7 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ส่งเสริมการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในภาคการเกษตรและชนบท มีสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เป็นเจ้าภาพหลัก ยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งเสริมการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในภาคการศึกษา มีกระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าภาพหลัก ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริมการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในภาคธุรกิจ บริการ การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมและผู้ประกอบการรายย่อย มีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นเจ้าภาพหลัก ยุทธศาสตร์ที่ 4 ส่งเสริมการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการต่างประเทศ มีกระทรวงการต่างประเทศ เป็นเจ้าภาพหลัก ยุทธศาสตร์ที่ 5 เพิ่มบทบาทการประชาสัมพันธ์ในเชิงรุก เพื่อเผยแพร่ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สาธารณชนในวงกว้าง มีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นเจ้าภาพหลัก ยุทธศาสตร์ที่ 6 การพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านความมั่นคง มีกองทัพไทย เป็นเจ้าภาพหลัก และ ยุทธศาสตร์ที่ 7 สร้างกลไกการบริหารจัดการ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพหลัก โดยมีพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 18,594 หมู่บ้าน
ทั้งนี้ มีวิสัยทัศน์เพื่อบูรณาการการขับเคลื่อนองค์ความรู้ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนอย่างยั่งยืน และพันธกิจ มี 4 ประการ คือ ส่งเสริม สนับสนุน และประสานงานการดำเนินงานเกี่ยวกับองค์ความรู้ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องให้สามารถบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ในทุกภาคส่วน การประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ และให้ความรู้เกี่ยวกับองค์ความรู้ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างถูกต้อง และต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนการเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลไกการบริหารจัดการในการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีโครงการ และกิจกรรมลงไปในพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 18,594 หมู่บ้าน ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 - 2560 ซึ่งในการบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกัน ระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบขับเคลื่อนในแต่ละยุทธศาสตร์ รวมทั้งการบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนที่มีโครงการ กิจกรรมการพัฒนา ลงไปในพื้นที่เป้าหมายเดียวกัน ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการต่างประเทศ กรมประชาสัมพันธ์ และกองทัพไทย เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกัน
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบ ข้อเสนอแนวทางการสนับสนุนการบริหารและการพัฒนาประเทศภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเสนอโดย พลเอก จรัญ กุลละวณิชย์ ประธานคลังสมอง (วปอ.) เพื่อสังคม ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ ให้น้อมนำคุณค่าแนวพระราชดำริและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นกรอบแนวคิดบริหารที่สำคัญ ได้แก่ การสร้างความรัก ความสามัคคี การพัฒนาคนให้พ้นจากความยากจน การพัฒนาคนเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอย่างอิสระ มีเกียรติ และมีส่วนร่วมซึ่งเป็นพื้นฐานอันมั่นคงในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับประเทศไทย การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนและสมดุล อันจะทำให้เกิดความสุขแก่ประชาชน การพัฒนาภาครัฐให้มีหลักธรรมาภิบาล ตลอดจนสร้างภูมิคุ้มกันในการพัฒนาประเทศให้มั่นคงและปลอดภัย โดยปราศจากการแทรกแซงจากต่างประเทศ การดำเนินนโยบายที่เกิดประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาและเห็นชอบ ร่างระเบียบคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบูรณาการ การพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงว่าด้วยหลักเกณฑ์และแนวทางในการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พ.ศ. 2557 โดยมีสาระสำคัญ คือ ตามที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะให้ทุกภาคส่วนดำเนินการตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยได้มอบหมายให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จัดทำแผนยุทธศาสตร์การบูรณาการการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขึ้น เพื่อเป็นกรอบและแนวทางในการบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน และสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินงานให้สอดคล้องกับแนวพระราชดำริ นโยบายชาติ และความต้องการของประชาชนในพื้นที่ พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้พึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง ส่งเสริมการขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่ภาคปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งขยายผลการดำเนินโครงการให้เป็นที่ประจักษ์และเกิดประโยชน์ในวงกว้าง สร้างความสมบูรณ์พูนสุขให้กับประชาชนได้อย่างยั่งยืน รวมทั้ง มีวัตถุประสงค์ ให้ร่างระเบียบดังกล่าวมีบทบาทในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้บนวิถีชีวิตพอเพียง โดยนำองค์ความรู้ตามแนวพระราชดำริไปปรับใช้ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนแนวคิด วิธีการดำเนินการด้านการเกษตร ให้สอดคล้องเหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ และภูมิสังคม พร้อมสร้างงานและอาชีพให้กับประชาชน ควบคู่กับการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีแนวทางแก้ปัญหาเชื่อมโยงในทุกมิติอย่างครบวงจร ตลอดจนเป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาแบบบูรณการตามแนวพระราชดำริ และเป็นแหล่งเรียนรู้ระดับจังหวัด ภาค และประเทศต่อไป
ทั้งนี้ โครงการที่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณต้องมีลักษณะ และขอบข่ายการดำเนินงาน โดยสรุป คือ มีความพร้อมที่จะดำเนินการได้ทันทีเมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณ สามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับจากวันที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ หากระยะเวลาเกิน 1 ปี ให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการฯ และเป็นโครงการที่ไม่ได้รับการสนับสนุนเงินเพื่อดำเนินการจากทางราชการหรือแหล่งเงินอื่นใด หรือได้รับแต่ไม่เพียงพอ อีกทั้งเป็นโครงการที่ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือ และความสามัคคีของชุมชน หรือระหว่างชุมชน ซึ่งผู้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินการโดยความร่วมมือของชุมชน และเป็นโครงการที่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจะต้องเป็นโครงการที่อยู่ในพื้นที่เป้าหมายที่กำหนด หรือพื้นที่ที่คณะกรรมการฯ เห็นสมควรเท่านั้น ซึ่งในกรณีผู้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณเป็นสมาคม มูลนิธิ สหกรณ์การเกษตร และองค์กรเอกชน ให้สนับสนุนงบประมาณในลักษณะเงินอุดหนุน หากผู้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณเป็นหน่วยงานของภาครัฐ ให้สนับสนุนงบประมาณในลักษณะเบิกจ่ายงบประมาณแทนกัน และให้ผู้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายงานผลการดำเนินงานโครงการ พร้อมค่าใช้จ่ายงบประมาณให้คณะกรรมการอำนวยการฯ ทราบภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ดำเนินงานโครงการแล้วเสร็จ
ก่อนปิดการประชุม ประธานได้กล่าวขอบคุณผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านที่มีส่วนเสนอความคิดเห็นและแนวคิดต่าง ๆ ที่จะให้การขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาหมู่บ้านต่าง ๆ จำนวน 18,594 หมู่บ้าน ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีความเป็นไปได้อย่างจริงจัง ซึ่งเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสนใจพร้อมทั้งยินดีสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาชนบท ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาดำเนินการให้เกิดประโยชน์ มีผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมให้เกิดขึ้นครอบคลุมทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ และนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านต่าง ๆ เหล่านั้นให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างแท้จริงต่อไป
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
พัณณ์วรินทร์ อินโท่โล่ รายงาน
ดวงใจ กล่อมจิตต์ ตรวจ
ที่มา: http://www.thaigov.go.th