สืบเนื่องจากที่มีการคาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทยมีแนวโน้มจะเกิดสถานการณ์ ภัยแล้ง และภาวะฝนทิ้งช่วงในหลายพื้นที่ ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดินและกรมชลประทาน กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยกรมอุตุนิยมวิทยา ว่าจะมีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งจำนวน 31 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ชัยนาท นครสวรรค์ สุพรรณบุรี ปราจีนบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด สระแก้ว เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก ตาก กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม หนองบัวลำภู นครราชสีมา ชัยภูมิ สุรินทร์ หนองคาย ร้อยเอ็ด และศรีสะเกษ
เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ดังกล่าวตามนโยบายของรัฐบาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ร่วม กับ 3 กระทรวงหลัก ประกอบด้วย กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ระดมสรรพกำลังทั้งด้านบุคลากร เครื่องจักรและอุปกรณ์ในการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัยแล้ง โดยจัดหน่วยปฏิบัติการพิเศษแบบเชิงรุกเร่งเข้าไปดำเนินการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ในหมู่บ้านที่คาดว่าจะเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง 31 จังหวัด ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2557 ก่อนภัยแล้งจะมาถึง เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่จากรัฐบาลที่มอบให้กับประชาชน
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้กำหนดให้พื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง 31 จังหวัด เป็นพื้นที่เร่งด่วนที่ทุกหน่วยงานของกระทรวงจะต้องจัดแผนงานเร่งด่วนเข้าดำเนินการแก้ไขก่อนจะเกิดภัยแล้งขึ้น โดยดำเนินการดังนี้
1) การเตรียมความพร้อมรับมือภัยแล้ง
- จัดตั้งศูนย์อำนวยการติดตามและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรน้ำบาดาล รวมทั้งสิ้นจำนวน 25 แห่ง
- จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำ อุปกรณ์ เครื่องมือ และบุคลากร ให้มีความพร้อมในการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาภัยแล้ง
- จัดเตรียมชุดสูบน้ำเคลื่อนที่ สูบน้ำจากลำน้ำสายหลักไปเก็บกักไว้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ แหล่งน้ำขนาดเล็ก
- จัดรถบรรทุกน้ำ นำน้ำไปแจกจ่ายสำหรับอุปโภคบริโภคในหมู่บ้านขนาดแคลนน้ำตามที่ประชาชนร้องขอ
- ระดมหน่วยเคลื่อนที่เร็วเพื่อการซ่อมแซมประปาบาดาลและเครื่องสูบน้ำไฟฟ้า 64 ชุด
- ระดมหน่วยเจาะบ่อน้ำบาดาล 78 ชุด เพื่อเร่งรัดการดำเนินงานเจาะบ่อน้ำบาดาลในพื้นที่เป้าหมาย 31 จังหวัด จำนวนทั้งสิ้น 1,321 แห่ง ใน 3 โครงการหลัก ได้แก่ การแก้ไขปัญหาน้ำอุปโภคบริโภค ในหมู่บ้านขาดแคลนน้ำ 305 แห่ง จัดหาน้ำดื่มสะอาดในโรงเรียน 323 แห่ง และพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร 693 แห่ง
- จัดเตรียมจุดจ่ายน้ำถาวร 87 แห่ง และรถบรรทุกน้ำ เพื่อแจกจ่ายน้ำตลอด 24 ชั่วโมง
- ให้บริการจุดจ่ายน้ำดื่มสะอาดภายในโรงเรียนให้แก่ชุชนโดยรอบ 413 แห่ง
2) การดำเนินการให้ความช่วยเหลือและแก้ไขภัยแล้งที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน
กรมทรัพยากรน้ำ สูบน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง 13 พื้นที่ 7 จังหวัด ประชาชนได้รับประโยชน์ 3,159 ครัวเรือน 7,317 คน พื้นที่การเกษตร 25,100 ไร่ พร้อมเร่งรัดดำเนินโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งน้ำ 817 แห่ง สามารถเก็บกักน้ำได้ 236 ล้านลูกบาศก์เมตร กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ 31 จังหวัดไปแล้ว ดังนี้
- เจาะบ่อน้ำบาดาลแล้วเสร็จ 190 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 15 ของบ่อน้ำบาดาลทั้งหมด 1,321 แห่ง
- ซ่อมแซมระบบประปาและเครื่องสูบน้ำ 43 แห่ง
- การแจกจ่ายน้ำ 195,570 ลิตร พร้อมเร่งรัดดำเนินการตามแผนงานโครงการที่ได้รับงบประมาณปี 2558 ทั่วประเทศ ได้แก่ โครงการแก้ไขปัญหาน้ำอุปโภคบริโภคในหมู่บ้านขาดแคลนน้ำ 683 แห่ง โครงการจัดหาน้ำดื่มสะอาดให้กับโรงเรียน 700 แห่ง และโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร 1,285 แห่ง รวม 3 โครงการ จำนวนทั้งสิ้น 2,668 แห่ง
ที่มา: http://www.thaigov.go.th