รมว.ศธ. กล่าวว่า ประเทศไทยได้เตรียมการเป็นเจ้าภาพจัดงาน Asian Science Camp 2015 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสที่ทรงมีพระชนมายุ 60 ปี และเพื่อกระตุ้นให้เยาวชนไทยและสังคมไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญและบทบาทของการศึกษาวิจัย ค้นคว้าด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีต่อการพัฒนาสังคมและประเทศ
โดยมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (มูลนิธิ สอวน.) เป็นเจ้าภาพร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, สสวท., กระทรวงศึกษาธิการ และสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ ได้กำหนดจัดงาน Asian Science Camp 2015 ขึ้นระหว่างวันที่ 2-8 สิงหาคม 2558 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร และอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานและบรรยายนำในพิธีเปิด ในวันที่ 3 สิงหาคม 2558 โดยคาดว่าจะมีนักเรียนนักศึกษา ครูและอาจารย์เข้าร่วมกว่า 300 คนจาก 30 ประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิก
กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วยการบรรยายของนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล การให้ความคิดเห็นของนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลและนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำในประเด็นและหัวข้อที่น่าสนใจ กิจกรรมกลุ่มย่อย การออกแบบโปสเตอร์เพื่อนำเสนอแนวทางการศึกษาปัญหาวิจัยที่น่าสนใจของเด็กเยาวชนที่เข้าร่วม การเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิจัยและสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรม ซึ่งขณะนี้มีนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลและนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำระดับโลกให้การตอบรับเข้าร่วมการบรรยาย อาทิ Yuan T Lee สาขาเคมี ปี 1986, Ada Yonath สาขาเคมี ปี 2009, Bert Sakmann สาขาสรีรวิทยาการแพทย์ ปี 1989, Yaladimir Voevodsky รางวัล Field medalist xu 2002, ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รางวัล Nikkei Prize ปี 2004 เป็นต้น ติดตามรายเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.asc2015.posn.ro.th
สำหรับประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ คือ นักเรียนนักศึกษาไทยจะมีโอกาสได้พบกับนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลจำนวนมาก และจะได้รับแรงบันดาลใจให้สนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เยาวชนเกิดการสร้างเครือข่ายสำหรับอนาคต ที่สำคัญคือประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพสามารถเพิ่มจำนวนนักเรียนนักศึกษาไทยเข้าร่วมได้มากถึง 5 เท่า หรือกว่า 40 คน
รมว.ศธ.ย้ำในที่ประชุมด้วยว่า การเป็นเจ้าภาพจัดงานในครั้งนี้ ขอให้ใช้โอกาสให้เกิดประโยชน์คุ้มค่ากับเด็กไทยทั้งประเทศมากที่สุด เพราะยังมีเด็กและเยาวชนไทยนอกเหนือจากผู้ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมงานในครั้งนี้อีกเป็นจำนวนมากที่ให้ความสนใจในเรื่องของวิทยาศาสตร์ จึงขอให้มีการบันทึกภาพและเสียงในทุกขั้นตอนของการจัดงาน เพื่อนำไปถ่ายทอด เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เด็กเยาวชนทั่วประเทศได้รับรู้ ได้เห็นบรรยากาศ ได้รับฟังสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ระดับโลกบรรยาย หรือแม้กระทั่งการถามคำถามของเด็กไทยที่เข้าร่วม อีกทั้งมีการนำกลับมาเผยแพร่ภายหลังด้วยวิธีการและช่องต่างๆ เช่น การเผยแพร่ทางเว็บไซต์หรือสถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษา (ETV) พร้อมคำแปลภาษาไทย ที่สำคัญคือ การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ซึ่งจะเข้าถึงกลุ่มเด็กและเยาวชนที่เป็นเป้าหมายของการจัดงานครั้งนี้ได้มากที่สุด
Asian Science Camp ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2548 โดยความร่วมมือระหว่าง ศาสตราจารย์หลี หยวน เซ ชาวไต้หวัน ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี ปี 2529 กับศาสตราจารย์มาซาโตชิ โกชิบา ชาวญี่ปุ่น ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ปี 2545 เพื่อจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ให้กับเยาวชนในแถบเอเชียแปซิฟิก ที่มีความสามารถทางวิทยาศาสตร์ ผ่านการบรรยาย อภิปราย พูดคุยกับนักวิทยาศาสตร์ระดับรางวัลโนเบลและนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก และสร้างสรรค์โปสเตอร์ โดยเน้นให้เยาวชนได้ใกล้ชิดกับนักวิทยาศาสตร์ ส่งเสริมให้เยาวชนกล้าแสดงออกในการซักถามและเสนอความคิดเห็น ตลอดจนทำงานร่วมกับเยาวชนภูมิภาคอื่น ซึ่งที่ผ่านมา มูลนิธิ สอวน.ได้ส่งนักเรียนนักศึกษาไทยอายุระหว่าง 16-21 ปี ในสาขาเคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์ และคณิตศาสตร์ เข้าร่วมโครงการปีละ 8-10 คน
นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
Published 24/11/2557
ที่มา: http://www.thaigov.go.th